สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ระบุปีหน้า คุมเข้ม สินเชื่อภาคเกษตร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แบงก์กรุงเทพ เผยยอดปล่อยกู้ซอฟท์โลนเอสเอ็มอีทะลุเป้า 20,000 ล้าน ขณะที่ทั้งระบบพบยอดอนุมัติและเบิกจ่ายแล้ว 50,000 ล้าน จากวงเงินแสนล้าน

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร ที่เข้าโครงการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ"ซอฟท์โลน" เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน พบว่า ปัจจุบันมีวงเงินสูงกว่า 20,000 ล้านบาท ถือว่าเกินเป้าที่วางไว้แล้ว โดยกระจายในทุกกลุ่มธุรกิจ เพราะดอกเบี้ยคงที่ 4% ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีปริมาณมาก และธนาคารยังได้แจ้งให้ลูกค้าได้รับ ทราบว่า อาจมีบางรายที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ จากเงื่อนไขของโครงการนี้ คือ ใครยื่นขอกู้ก่อนได้ก่อน 

สำหรับภาพรวมยอดอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลน และเบิกใช้ผ่านระบบสถาบันการ เงินขณะนี้เท่าที่ทราบ มีวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท จากวงเงินปล่อยกู้ที่รัฐตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเบิกใช้ได้ทั้งหมดภายในเดือนพ.ย.นี้

ในส่วนการปล่อยสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีปีนี้ คาดว่า จะเติบโตตามเป้า 5-6% ซึ่งไม่รวมการปล่อยกู้สินเชื่อซอฟท์โลนดังกล่าว ยอดหนี้เอ็นพีเอลปัจจุบัน ยังทรงตัวและต่ำกว่า 3% และขณะนี้กำลังประชุมหารือ เพื่อวางแผนปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2559 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจเอสเอ็มอีในปีหน้า มองว่า ปัญหาภัยแล้ง จะกระทบกับเกษตรกร และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะ การปลูกข้าวนาปรังในช่วงต้นปีหน้า ดังนั้นธนาคารยังต้องดูว่า รัฐบาลจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างไรบ้าง ในช่วงปริมาณน้ำในเขื่อน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก หากเกิดปัญหา อาจทำให้ความต้องการสินเชื่อภาค เกษตรลดลง

ด้าน นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปี 2559 คาดจะเติบโต 10-15% ทั้งสินเชื่อรายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่จากปีนี้ที่สินเชื่อจะเติบโตได้ 10% และในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เติบโตได้แล้วประมาณ 7% จากสินเชื่อเอสเอ็มอีและรายใหญ่ ส่วนหนี้อ็นพีแอลสิ้นปีนี้อยู่ที่ 4%และปีหน้าจะคุมหนี้เอ็นพีแอลไม่เกิน 3.5%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง คือ ภาคเกษตร เพราะราคาพืชผลการเกษตรยังตกต่ำ มีผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน และ การจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลง รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคเกษตร จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของรัฐนั้น คาดจะช่วยกระตุ้นธุรกิจชั่วคราว แต่หลังจากสิ้นสุดมาตรการไปแล้วจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ชะลอตัวลงอีก

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีหน้า นายสุภัค คาดว่า จะเติบโต 3% โดยได้รับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทย โดยจะส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ลงจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ

Tags : แบงก์ระบุปีหน้า คุมเข้ม สินเชื่อภาคเกษตร

view