สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"ตู่" งัด ม.44 คุ้มครองระบายข้าว ขรก.กลัว "หัวหด" หวั่นถูกกล่าวหาทุจริต

จากประชาชาติธุรกิจ

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศที่ 39/2558 ทำให้มีอดีตรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศนี้เป็นการ "นิรโทษกรรมล่วงหน้า" ให้กับ "กรรมการ" ซึ่งไม่ใช่เพียงข้าราชการเล็ก ๆ แต่ยังรวมถึงข้าราชการระดับสูง รัฐมนตรีให้ดำเนินการบริหารสต๊อกข้าวแบบเบ็ดเสร็จ และปิดช่องโหว่ให้อีกฝ่ายกลับมาทวงแค้นภายหลัง


หาก ย้อนกลับไปดูผลดําเนินการตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกตั้งแต่ปีการ ผลิต2548/2549ถึงปีการผลิต2556/2557ทำให้มีข้าวสารค้างสต๊อกมากที่สุดถึง 18.7 ล้านตัน เป็นมรดกให้รัฐบาลประยุทธ์ "สะสาง" ซึ่งจะต้องบริหารโดยไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวเปลือกใหม่ราคาตกต่ำ หรือจะเก็บโดยไม่ระบายเลยก็ไม่ได้ หรือยิ่งทิ้งระยะเวลานาน ยิ่งทำให้ข้าวเสื่อม ขายได้ราคาต่ำ ขาดทุนจากราคารับจำนำมาก ทั้งยังต้องเสียเงินค่าเก็บรักษาคุณภาพข้าวหลายพันล้านบาท รัฐบาลจึงได้ตรวจสอบจัดเกรดตามคุณภาพ และเร่งระบายส่วนคุณภาพที่ดีก่อน

โดยขณะนี้ระบายได้ 4.8 ล้านตัน เหลืออีก 13.1 ล้านตัน (ตามตาราง) ซึ่งบางคลังมีส่วนผสมเป็นข้าวเกรดซี และข้าวเสื่อมอยู่ เป็นจังหวะที่ติดล็อกว่าควรจะขายอย่างไร ให้ใคร ราคาเท่าไร เพราะหากพ้นรัฐบาล คสช.ไปแล้วจะถูกอีกฝ่ายกลับมาย้อนศรฟ้องกลับได้ แต่แล้วประกาศฉบับนี้ออกมาเป็นเสื้อเกราะพิเศษกับเจ้าหน้าที่รัฐ และยังเป็นจังหวะใกล้เคียงกับการพิจารณาความเสียหายคดีจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อย่างเหมาะเจาะ

นางอภิรดีตันตราภรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ประกาศนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหาร เพราะหัวหน้า คสช.ตระหนักดีว่าการทำงานนี้มีความเสี่ยงสูง อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดี ซึ่งแต่ละคดีใช้เวลาดำเนินการนานหลายปี จึงได้ยกร่างนี้ขึ้นเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่จากความผิดทางแพ่งและทางอาญา แต่ต้องปรับแก้ไขร่างเป็นเวลานานนับปีกว่าจะออกประกาศ

ต่อคำถามที่ว่า ประกาศนี้จะช่วยให้ระบายข้าวเร็วขึ้นหรือไม่ นางอภิรดีกล่าวว่า กระบวนการบริหารจัดการสต๊อกข้าวหลังจากนี้ยังคงต้องเป็นไปตามภาวะตลาด ซึ่งกรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศต้องประสานงานกัน และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบเป็นไปตาม "ข้อกฎหมาย และทำโดยสุจริต" แต่หากมีข้อพิสูจน์ว่าไม่สุจริตยังสามารถร้องขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐได้

นางสาวชุติมาบุณยประภัศรปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าประกาศนี้ไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์ แต่จะทำให้เจ้าหน้าที่มั่นใจ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีข้าราชการถูกดำเนินคดีหลายคดี ข้าราชการที่กังวลมีการขอลาออก และขอโยกย้ายงานจนขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ แต่หากไม่ปฏิบัติหน้าที่จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีก

"การระบายข้าวส่วนที่เหลือ โดยเฉพาะข้าวเกรดซี และข้าวเสื่อมที่จะมีการทดลองระบบการระบายประมาณหลักร้อยตันก่อน เพื่อตรวจสอบว่าหลักเกณฑ์และระบบรัดกุมโดยไม่มีการหมุนวนนำข้าวกลับมาในระบบ ส่งผลกระทบต่อราคาตลาด หลังจากนั้นจะมีการปรับปรุงและดำเนินการระบายอย่างเต็มรูปแบบประมาณเดือนกุมภาพันธ์"

อย่าง ไรก็ตามจากการส่งตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญระดับสากล ประเมินว่าข้าวเกรดนี้สามารถผลิตเป็นพลังงานทดแทนเอทานอลได้และนำส่วนที่ เหลือไปใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องได้อีก น่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่า กก.ละประมาณ 8-9 บาท ไม่ใช่ กก.ละ 1-2 บาท แต่หากขายข้าวได้ราคาต่ำกว่านี้จะมีกระบวนการพิจารณาเรียกค่าส่วนต่างจากการ ขายคืนจากเจ้าของคลังและเซอร์เวเยอร์เป็นไปตามสัญญาการฝากเก็บ/เช่าคลังที่ ตกลงกันไว้

ผู้ส่งออกเชื่อระบายข้าวลื่นไหล

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ประกาศนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ข้าราชการ ทำให้การระบายข้าวเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น โดยคาดว่าปัญหาภัยแล้งที่จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2559 ลดลงประมาณ 30-40% หรือหายไปประมาณ 3-4 ล้านตันข้าวสาร และหากระบายข้าวเสื่อมเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอีก 5.8 ล้านตัน รัฐบาลเหลือสต๊อกประมาณ 4-5 ล้านตัน ถือว่าต่ำกว่าสมัยอดีตรัฐมนตรีพรทิวาที่เคยมีสต๊อก 6 ล้านตันช่วยให้บริหารได้ง่ายขึ้น

โรงสีหวั่นจ่ายค่าชดเชย

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อโรงสีข้าวกลุ่มหนึ่ง ที่สมัครเข้าร่วมเป็นคลังกลางเก็บข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล อาจจะเกิดปัญหาการเรียกร้องให้โรงสีชดเชยส่วนต่างอย่างไม่เป็นธรรม เพราะรัฐบาลประเมินเกรดข้าวไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก

เช่น ในคลังที่ผสมข้าวเกรดซี ข้าวเป็นฝุ่น สัดส่วนเท่าไรไม่ทราบเพราะรัฐจัดเป็นเกรด บางคลังเป็นข้าวเสื่อม เมื่อขายได้ราคาต่ำก็ให้ชดเชยค่าเสียหาย เช่น เก็บข้าวไว้ 2 แสนกระสอบ แยกเป็น 10 กอง ขายไปแล้ว 9 กอง เหลือ 1 กองที่รัฐประเมินว่าเสื่อม โรงสีจะขอซื้อ กก.ละ 10 บาท แต่รัฐไม่ยอมขาย เพราะบอกเสื่อมจึงไปขายให้อุตสาหกรรม แต่ได้ราคา 3 บาท จึงให้โรงสีจ่ายชดเชย 7 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีโรงสีฟ้องรัฐ เพราะโดยปกติหากเกิดปัญหาข้าวที่ประมูลไป แต่ไม่ได้คุณภาพ เอกชนจะฟ้องกันเอง หากเป็นข้าวจากโครงการจำนำเกิดก่อนปี 2556/2557 บริษัทเซอร์เวย์และโรงสีต้องรับผิดชอบ แต่หลังจากปีนั้นจะถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของคลัง


ดาบอาญาสิทธิ์



เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคําสั่ง คสช.ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

โดยกำหนดให้ บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น


เพราะเหตุแห่งความเสื่อมสภาพของข้าวการแตกต่างระหว่างราคาข้าวที่รับจํานำกับราคาที่จำหน่ายได้การที่รัฐต้องรับภาระค่าเช่า คลัง ค่าประกันภัย ค่าดูแล รักษาคุณภาพข้าว ค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ย และเพื่อป้องกันมิให้การระบายข้าวเป็นการเพิ่มอุปทานในตลาด ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลผลิตฤดูกาลใหม่โดยไม่สมควร รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิด และเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย 


ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งดําเนินการตามอํานาจหน้าที่และได้กระทําโดยสุจริต จะได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยโดยมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ

Tags : "ตู่" งัด ม.44 คุ้มครองระบายข้าว ขรก.กลัว "หัวหด" หวั่นถูกกล่าวหาทุจริต

view