สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้ส่งออกฉุนจีน-อินโดกีดกันนำเข้าเสนอรัฐเจรจาสลายโควตาแก้สารรมควันลำไยเกิน

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้ส่งออกลำไยไทยกระอัก ตลาดใหญ่จีน-อินโดนีเซีย ออกมาตรการกีดกัน ตั้งกำแพงโควตาบีบผู้ส่งออกไทย แต่เปิดช่องพ่อค้าจีนเข้ามาค้าตรง ขณะที่เวียดนามแข่งเดือดเร่งส่งออก พัฒนาสายพันธุ์ "ทุเรียน" แย่งส่วนแบ่งตลาดส่งออกไทย จี้รัฐเร่งเจรจาการค้าก่อนไทยเสียตลาดสำคัญ

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกผลไม้กล่าวว่า การส่งออกผลไม้ไทยไปประเทศจีน และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้ใหญ่ของไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกลำไยไปยังประเทศจีน เนื่องจากผู้นำเข้าได้ตรวจสอบพบสารซัลเฟอร์ (กำมะถัน) สูงเกินกว่าค่ากำหนดมาตรฐานการนำเข้าผลไม้ของรัฐบาลจีน ทำผู้ส่งออกผลไม้ไทยถูกแบนและห้ามนำเข้าลำไยไทยไปจีน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้พบมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี โดยยังไม่มีการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพียงได้รับรายงานจากผู้นำเข้าจีน

และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบผู้ส่งออกผลไม้รายที่มีปัญหา เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไข หรือควรต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เป็นความจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวปัจจุบันได้ส่งผลกระทบให้ผู้ส่งออกบางรายประสบภาวะทางธุรกิจ บางรายต้องเลิกกิจการไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแลแก้ไข เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน มีการลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่องการซื้อขายผลไม้และได้เปิดช่องให้มีการเจรจาต่อการซื้อขายผลไม้ได้ทุก 3 ปี โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรที่จะใช้เวทีดังกล่าวในการเจรจาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ควรที่จะปรับค่าสารซัลเฟอร์ให้มีความเหมาะสม เพื่อให้การซื้อขายผลไม้เป็นไปได้อย่างราบรื่น

"ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีบริษัทส่งออกลำไยไปประเทศจีนหลายราย สมมุติวันนี้มี 20 รายส่งสินค้าไปเกือบทุกบริษัทจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่จะมีประมาณ 2-3 บริษัทไม่ถูกตรวจสอบสารซัลเฟอร์ เนื่องจากเป็นบริษัทจีน โดยเฉพาะบริษัทส่งออกลำไยของคนไทยมักถูกตรวจพบสารซัลเฟอร์เกินกว่ามาตรฐานที่ 50 ppm ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกไทยหลายรายไม่มั่นใจว่า ค่ามาตรฐานที่มีการตรวจพบ เป็นความจริงหรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างหรือไม่ ที่ทำให้บริษัทไทยไม่สามารถส่งออกลำไยได้ และปกติจะทราบเรื่องว่าสินค้าที่ส่งไปมีปัญหา ก็ผ่านมาแล้ว 1 เดือน อีกทั้งยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือตรวจสอบใด ๆ หรือการเจรจาต่อรองเพื่อส่งออกจากหน่วยงานของรัฐ ทำให้ผู้ส่งออกไทยก็ต้องแบกรับปัญหาไปโดยแก้ไขอะไรไม่ได้"

การส่งออกลำไยไปจีน ยังพบว่า มีการเข้ามาเหมาสวน เช่าโกดังภายในประเทศไทย เพื่อส่งออกลำไยไปจีน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถเข้าไปรับซื้อผลไม้ได้ และอาจจะไม่สามารถสู้ราคาได้ เนื่องจากผู้นำเข้าเหล่านี้ตั้งราคาเหมาซื้อในราคาสูง แต่อาจจะต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ ชาวสวนได้ราคาผลไม้ดีขึ้น มีช่องทางระบายผลไม้ แต่อนาคตรับว่าเป็นห่วงว่าอาชีพชาวสวนไทยจะหายไปได้ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล หรือมีกฎหมายอะไรที่จะเข้ามาดูแล เพราะเห็นว่าผู้นำเข้าอาจจะใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการส่งออก

นอกจากนี้ การส่งออกลำไยไปอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากทางรัฐบาลอินโดนีเซียมีการจำกัดปริมาณ (โควตา) การนำเข้าของผู้ส่งออกไทยมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการคุ้มครองผลไม้ภายในประเทศ ซึ่งความเป็นจริงอินโดนีเซีย ไม่ได้มีการปลูกลำไย ทำให้การส่งออกลำไยไทยไปอินโดนีเซียในขณะนี้ลดปริมาณลงเป็นอย่างมาก จากที่สามารถส่งออกได้ 100% ขณะนี้ส่งออกไปไม่ถึง 20% ขณะที่การนำเข้าผลไม้ เช่น มังคุดของอินโดนีเซียมาไทยกลับไม่ได้กำหนดโควตาแต่อย่างไร

"เรื่องดังกล่าวนี้ เห็นว่าไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เป็นเรื่องที่ไทยเอง ควรจะเข้าไปเจรจาการค้า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพราะประเทศคู่แข่งของไทย อย่างเวียดนามเองไม่ได้มีการกำหนดโควตาการนำเข้าผลไม้แต่อย่างไร หรือแม้แต่จีนที่ส่งออกสาลี่ ไม่ได้มีการกำหนดโควตา"

อย่างไรก็ตาม อนาคตหากไทยไม่มีการไปเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าในการส่งออกผลไม้ และไทยยังคงถูกกีดกันจากการออกมาตรฐานต่าง ๆ ของประเทศผู้นำเข้า เชื่อว่าการส่งออกผลไม้ไทยในอนาคตอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ เช่น เวียดนาม มีการส่งออกทุเรียนสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดของไทยไปได้มากทีเดียว อีกทั้งยังมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อส่งออกได้มากขึ้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ

Tags : ผู้ส่งออกฉุนจีน-อินโดกีดกันนำเข้าเสนอรัฐเจรจาสลายโควตาแก้สารรมควันลำไยเกิน

view