สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากมติครม.2509 จุดเปลี่ยนไร่กะหล่ำปลีเป็นรีสอร์ท

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

จากมติครม.2509 จุดเปลี่ยนไร่กะหล่ำปลีเป็นรีสอร์ท

“มีการประกาศขาย หรือเช่าช่วงที่ดินให้สร้างรีสอร์ท ทั้งที่ผู้ครอบครองมีเพียงเอกสารแสดงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภทบ.5  จากที่ดินซึ่งเดิมเคยมีการซื้อหรือเช่าทำไร่ราคาเพียงหลักหมื่นบาท กลายเป็นราคาสูงถึงไร่ละ 3 ล้านบาท โดยไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ที่ดินจึงเปลี่ยนจากไร่กะหล่ำปลีที่มีรายได้ไม่มาก กลายเป็นรีสอร์ทรับนักท่องเที่ยวที่ทำรายได้สูงกว่าในเวลาอันรวดเร็ว เวลาที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจก็มีการซักซ้อมกันอย่างดี ให้ชาวเขาในพื้นที่แสดงตัวเป็นนอมินีตบตาเจ้าหน้าที่”

พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายแผนรับผิดชอบงานสิ่งแวดล้อม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ระบุถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ พื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งถือว่าร้อนแรงที่สุดจากความนิยมของนักท่องเที่ยวในประเทศขณะนี้

จากมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2509 ให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าจำแนกผืนป่าภูทับเบิก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ทับซ้อน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เลย เพชรบูรณ์ เพื่อให้กรมประชา สงเคราะห์จัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา

ต่อมาในปี 2544 มีการสำรวจการถือครองของราษฎรชาวเขาตามความเป็นจริง ทำให้มีพื้นที่เหลือราว 1.3 แสนไร่ กรมประชาสงเคราะห์จึงส่งพื้นที่คืนให้กรมป่าไม้ ก่อนยกให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากนั้นประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จำนวน 6 หมื่นไร่ และกรมอุทยานฯ จัดงบประมาณปลูกป่าแล้ว 39,243 ไร่

ในเวลาไล่เลี่ยกันมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2546 กำหนดให้ฟื้นฟูพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำก้อ-น้ำชุน ทำให้ที่ดินซึ่งไม่ใช่ป่าสงวนและอุทยานฯ อีกเกือบ 7 หมื่นไร่ ซึ่งมีประชาชนเข้าทำกินอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ต่อมาสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 ระดมเจ้าหน้าที่ 260 คน ลง
พื้นที่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2556 เพื่อพิสูจน์สิทธิชาวบ้าน 7 หมู่บ้านในเขตป่าและอุทยานแห่งชาติเขาค้อว่ามีจำนวนเท่าใดกันแน่

ปฏิบัติการในครั้งนั้น พบนายทุนบุกรุกพยายามออกโฉนด 2,133 ไร่ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตามมาก็กลายเป็นปัญหาดินพอกหางหมูในทันที

ชื่อเสียงของภูทับเบิกซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็น Unseen Thailand ด้วยจุดชมวิวบนจุดสูงสุด 1,768 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลบนภูทับเบิก ซึ่งก่อนปี 2556 มีนักท่องเที่ยวขึ้นมากางเต็นท์สัมผัสอากาศหนาวเย็น-ทะเลหมอก ชมทัศนียภาพของไร่กะหล่ำปลีตามไหล่เขา ซึ่งปลูกโดยชาวไทยภูเขาที่ทอดออกไปสุดสายตา จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ยังไม่มีรีสอร์ทที่พักอย่างในปัจจุบัน คำร่ำลือถึงความสวยงามของภูทับเบิกได้ดึงดูดให้คณะนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นๆ เป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างถิ่นและชาวไทยภูเขาเผ่าม้งในพื้นที่ลงทุนสร้างห้องพัก รีสอร์ท จนปัจจุบันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดนับ 100 แห่ง

พ.อ.พงษ์เพชร กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแต่เดิมนั้นศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 38 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ศูนย์ 38 ของกรมประชาสงเคราะห์เดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยขอกับกรมป่าไม้เพื่อทำเป็นพื้นที่สงเคราะห์ชาวไทยภูเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง ถึงขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าที่ดินเหล่านี้มีการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์

“กลุ่มที่ี่เข้าไปสร้างรีสอร์ทอาจจะได้โมเดลมาจากการรุกที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในแง่ที่เห็นว่าการดำเนินการทางกฎหมายทำไม่ได้ในเร็ววัน กว่าคดีจะสิ้นสุดถึงขั้นตอนการรื้อต้องใช้เวลา ระหว่างคดีในชั้นศาล ผู้ประกอบการยังคงเปิดให้บริการตามปกติโดยอาจจะคาดการณ์ว่าเปิดได้จนคุ้มทุน เรากำลังประสานกับทุกฝ่ายให้เร่งดำเนินการเอาผิด ก่อนที่จะบานปลายมากกว่านี้” พ.อ.พงษ์เพชร กล่าว

จากจุดเริ่มต้นของมติ ครม. 2509 เพื่อกันที่ดินให้เป็นที่ทำกินของชาวไทยภูเขา กระทั่งผ่านไปกว่า 40 ปี จนไร่กะหล่ำปลีอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่แทบไม่หลงเหลือ และมีสิ่งก่อสร้างหลากสีสันผุดขึ้นมาแทน ภูทับเบิกถึงจุดเปลี่ยนที่ทุกฝ่ายกังวล


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จากมติครม.2509 จุดเปลี่ยนไร่กะหล่ำปลีเป็นรีสอร์ท

view