สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

MOUพลังงาน4ชาติชะงัก ลาว สูญรายได้ แบตเตอรี่เอเชีย

จากประชาชาติธุรกิจ

หลัง สปป.ลาวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศใหม่ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าและมุ่งเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" บวกกับการได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอาเซียน ครั้งที่ 2 ในปี 2559 สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ประเทศร่วมเจรจาได้

วีโอเอลาว รายงานว่า นางเข็มมะนี พลเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ยืนยันว่า สปป.ลาวได้เตรียมความพร้อมกับการเปิดประชาคมอาเซียนและเป็นประธานครั้งที่ 2 โดยวางแผนพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่

1) การผลักดันให้ สปป.ลาวเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งในอาเซียน 2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้า 3) การพัฒนารัฐวิสาหกิจทั้งขนาดกลางและเล็ก และ 4) การพัฒนาเชื่อมต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ

โดยได้มอบหมายความรับผิดชอบให้กระทรวงการต่างประเทศจัดการทั้งการประชุมในระดับต่าง ๆ การอำนวยความสะดวก และความพร้อมด้านบุคลากร รวมถึงคู่เจรจาอาเซียนอีก 10 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา รัสเซีย สหรัฐ และสหภาพยุโรป

และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้เร่งพัฒนายุทธศาสตร์พลังงานเพื่อเพิ่มโครงข่ายการส่งกระแสไฟฟ้าภายในให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้ามากถึง 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ภายในปี 2563

โดย นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่า "อัตราการเกิดใน สปป.ลาวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การพัฒนาโครงข่ายการส่งไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะที่ผ่านมาการผลิตกระแสไฟฟ้าของรัฐบาลส่วนใหญ่ จะมุ่งเพียงเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ฉะนั้น การปรับยุทธศาสตร์ใหม่นับเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว"

สปป.ลาวมุ่งมั่นพัฒนาด้านไฟฟ้า โดยพยายามปรับยุทธศาสตร์ให้เอื้อต่อประชาชนและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงข่ายกระแสไฟฟ้ากับชาติสมาชิกในอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการ "ระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน" (ASEAN Power Grid) ที่จะเริ่มโครงการนำร่องการเจรจาระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานของ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

ปัจจุบัน สปป.ลาวมีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 24 แห่ง และกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก 38 โครงการ ส่วนอีกกว่า 300 โครงการ อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงการแสวงหาแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้า และจากการศึกษาการสร้างเขื่อนเพิ่ม พบว่า จะทำให้ประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 30,000 เมกะวัตต์

เป็นที่สังเกตว่า รัฐบาล สปป.ลาวให้ความสำคัญกับการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงข่ายการส่งกระแสไฟฟ้าใน 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งตลอดการเจรจาที่ผ่านมา ทางการไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในปริมาณรวม 7,000 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี นับจากปี 2559 เป็นต้นไป

ยิ่งกว่านั้น ไทยยังตกลงที่จะใช้โครงข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าในไทย เพื่อเชื่อมต่อและส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาวไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ให้ได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อแผนการและเป้าหมายการพัฒนาของรัฐบาล สปป.ลาว ต่อการเป็นผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม การลงนามระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในโครงการบูรณาการการจัดการด้านพลังงาน (LTMS-PIP) กลับต้องยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน

โดย ดาโต๊ะ สรี แม็กซิมัส อองกิลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเทคโนโลยีของมาเลเซีย เผยว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่กำหนดจะมีประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (AMEM) ครั้งที่ 33

ในสัปดาห์ที่แล้ว ต้องเลื่อนเวลาออกไปก่อน เนื่องจากสิงคโปร์ยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมความร่วมมือและการลงนามในครั้งนี้ และให้เหตุผลว่า ต้องตรวจสอบขั้นตอนการประมูลงานก่อสร้างภายในประเทศให้เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยสิงคโปร์เป็นผู้เสนอซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำ 100 เมกะวัตต์ จาก สปป.ลาว โดยส่งผ่านกระแสไฟฟ้าจากไทยและมาเลเซีย

"เราเชื่อว่าอีก 6 เดือนหลังจากนี้ จะสามารถลงนามได้ และหากโครงการนี้บรรลุผลสำเร็จจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงการลงทุนที่มากขึ้นด้วย" รมว.พลังงานมาเลเซียกล่าว

ความพยายามของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ปฏิรูปประเทศและพัฒนาด้านพลังงานให้มีศักยภาพพร้อมเป็นจักรกลหลักในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน อาจยากลำบากกว่าที่คาด อีกทั้งยังต้องผิดหวัง เพราะการชะงักการลงนามก็เท่ากับการสูญเสียรายได้ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศด้วย

หากสภาพเงินไม่คล่องเช่นนี้ แผนการที่จะปูทางสู่การเป็นประธานอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบคงไม่ง่ายอย่างที่คิด


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : MOUพลังงาน4ชาติชะงัก ลาว สูญรายได้ แบตเตอรี่เอเชีย

view