สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุนทางสังคม ความสำเร็จในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง โดย ณพจักร สนธิเณร TEAM Group

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม ภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเพราะนอกจากจะสร้างราย ได้ที่มีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่งของการค้าบริการรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย

อาทิ โรงแรมและที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ธุรกิจการท่องเที่ยวได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา และนำไปสู่การขยายตัวของชุมชนเมือง (urbanization) อย่างรวดเร็ว ส่งผลถึงการใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมาก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและแรงงานย้ายถิ่น จึงก่อให้เกิดปัญหาต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ความต้องการด้านพลังงาน และการจัดการขยะ เป็นต้น

ตัวอย่างของชุมชนที่มีการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยวได้แก่เกาะช้าง หรือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

เกาะช้างมีพื้นที่กว่า 268,125 ไร่ ตั้งอยู่ใน อ.แหลมงอบ จ.ตราด ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน คือ สลักเพชร สลักคอก เจ้กแบ้ บ้านด่านใหม่ คลองสน คลองพร้าว คลองนนทรี และบ้านบางเบ้า กิจกรรมการท่องเที่ยวในหมู่เกาะช้าง นอกจากการเล่นน้ำทะเล และเที่ยวเกาะแล้ว ยังมีการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ล่องเรือ ตกปลา ดำน้ำ โฮมสเตย์หมู่บ้านชาวประมง รวมไปถึงโรงแรมที่พักขนาดใหญ่



เกาะช้างเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เคยประสบปัญหาการจัดการขยะที่เกินกว่าความสามารถในการจัดการโดยในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว(low season) จะมีปริมาณขยะประมาณ 12-17 ตัน/วัน และเพิ่มขึ้นใน ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (high season) เป็นประมาณ 20-27 ตัน/วัน

เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ถูกจัดเป็นพื้นที่พิเศษ ภายใต้การดูแลของ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กำหนดให้เทศบาลตำบลเกาะช้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่น นำเทคโนโลยีการจัดการขยะที่ทันสมัย เช่น แนวคิด Zero Waste ไปสู่การปฏิบัติ ในกระบวนการจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะสำหรับรีไซเคิล การหมักขยะสดเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพ และการนำขยะประเภทพลาสติกไปกำจัดด้วยระบบ ไพโรไลซิส (pyrolysis) ที่เป็นการเผาไหม้สุญญากาศ ควบคู่กับการเติมตัวเร่งปฏิกิริยา (catalysis) เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังก่อให้เกิด "ก๊าซมีเทน" ที่เป็นผลพลอยได้และสามารถนำมาหมุนเวียนใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบเผาไหม้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถลดปริมาณขยะได้อย่างมีนัยสำคัญ ลดภาระในการหาสถานที่ทิ้งขยะ ไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการขนย้าย และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีเตาเผาไพโรไลซิส และระบบ Zero Waste มาใช้ในพื้นที่เกาะช้างนั้น มีความเชื่อมโยงกับทุนทางสังคม (social capital) ของชุมชนในบริเวณเกาะช้าง โดยเฉพาะทุนทางสังคมในรูปบุคลากร กล่าวคือประชากรรุ่นใหม่ของเกาะช้างจำนวนไม่น้อยกลับมาทำงานในชุมชนแทนการทำงานในเมืองหลวง หรือการทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว

บุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้และมีความผูกพัน มีความรักในถิ่นเกิด บุคลากรท้องถิ่นที่มีความรู้นำไปสู่ความเข้าใจและการยอมรับเทคโนโลยีการจัดการขยะที่ทันสมัย ส่วนความรักในถิ่นเกิดนำไปสู่ความทุ่มเทในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน แม้ว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขยะนั้นค่อนข้างมีภาพลักษณ์ในเชิงลบจากสังคมไทย แต่ความเข้าใจและการยอมรับต่อข้อเท็จจริง ต่อการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นคือพื้นฐานที่สำคัญของแต่ละชุมชน ที่จะเปิดรับเทคโนโลยี หรือวิทยาการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม

การจัดการขยะของ เกาะช้างนั้นให้ผลผลิตในรูปพลังงานเชื้อเพลิงหมุนเวียนซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมพลังงานทางเลือกตัวอย่างเช่น Roadmap การจัดการขยะและของเสียอันตรายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ โดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน เน้นการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน รวมทั้งพิจารณา ผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : COP) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ให้อยู่ในข่าย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทุกชุมชนของประเทศไทย ล้วนมีทุนทางสังคมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายทางสังคม ความรู้ ภูมิปัญญา ความเอื้ออาทร และความร่วมมือในชุมชน หากนำทุนทางสังคมเหล่านี้ไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์จะก่อให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับชาติ รวมไปถึงในระดับโลก

กระบวนการขับเคลื่อนให้มีการนำทุนทางสังคมมาใช้ ได้แก่ การสร้างความตระหนักให้คนในชุมชน มีแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนร่วมกัน การค้นหาศักยภาพและทุนทางสังคมในชุมชนที่เหมาะสม การสร้างผู้นำหรือแกนนำเพิ่มขึ้น การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การลงมือทำอย่างมีส่วนร่วม ทั้งชุมชน ภาครัฐ และเอกชน การติดตามประเมินผล และมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นกรณีของชุมชนบริเวณเกาะช้าง ที่นำทุนทางสังคมมาพัฒนาการจัดการขยะที่ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงหมุนเวียนประสบผลสำเร็จ และเปิดโอกาสการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงาน และยังขยายผลต่อไปในด้านของการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสมาชิกในชุมชน เกี่ยวกับการจัดการขยะ และกระบวนการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากขยะ โดยเริ่มต้นจากระดับครัวเรือน ด้วยการคัดแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดต้นทุนในการคัดแยกขยะ ตลอดจนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ต่อไป

เกาะช้างจากอดีตที่เป็นชุมชนชาวประมงจนกระทั่งกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวในปัจจุบันความเจริญที่มาพร้อมกับปัญหาใหม่ ๆ เมื่อวิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป การบริโภคทรัพยากรและพลังงานเพิ่มขึ้น การก้าวไปสู่วิถีของการจัดการขยะ โดยนำของเสียกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือการสร้างแหล่งพลังงานทางเลือกจากของเสียนั้น เป็นหนทางสู่ความยั่งยืนของพลังงานและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย "ทุนทางสังคม" ที่นำเอาความรู้ ความเข้าใจ และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับชุมชนของตน คือรากฐานความสำเร็จ และความยั่งยืนที่แท้จริง


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ทุนทางสังคม ความสำเร็จในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

view