สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ช้อปปิ้งสีเขียว ... เมื่อคนไทยบ๊ายบายถุงพลาสติก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ศศิธร จำปาเทศ

สังเกตให้ดี เราจะมักเห็นผู้คนหิ้วถุงพลาสติกติดไม้ติดมือเป็นประจำ ไม่ว่าจะจากห้างสรรพสินค้า มินิมาร์ท ยันร้านขายของชำ

ถุงพลาสติกได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนเราไปแล้ว เพราะใส่ของสะดวก น้ำหนักเบา

ล่าสุด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้าชื่อดัง 15 ห้างแห่ง ประกาศนโยบายงดให้ถุงพลาสติกแก่ผู้บริโภคทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่เป็นสาเหตุของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

อัดโปรโมชั่น กระตุ้นลูกค้างดใช้ถุง

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง 15 แห่ง ประกาศงดแจกถุงพลาสติก เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เสียงตอบรับค่อนข้างน่าชื่นใจ

ภัทรียา ภาคพาไชย ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เผยว่า ลูกค้าให้การตอบรับดีพอสมควร การรณรงค์ในช่วงแรกเมื่อเดือนส.ค.สามารถลดใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 350,000 ใบ จากการสังเกตการณ์ในวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีลูกค้าจำนวนมากนำถุงผ้ามาใช้แทนถุงพลาสติก เนื่องจากต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ทางห้างได้จัดโปรโมชั่นให้ส่วน 5 บาทเมื่อซื้อสินค้า 1,000 บาทขึ้นไปทุกวันที่ 15 และ 30 เมื่อไม่ใช้ถุงพลาสติก

“มั่นใจว่าหากสื่อมวลชนแขนงต่างๆช่วยกันประชาสัมพันธ์ ผลตอบรับน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง แต่จะดีมากกว่านี้ ถ้าในระยะยาว ภาครัฐสามารถผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมาย เพื่อรณรงค์ให้เกิดการงดใช้พลาสติกอย่างพร้อมเพียงกันทั่วประเทศ” 

สอดคล้องกับความเห็นของ ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัทเซ็นทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด ที่บอกว่า หนึ่งเดือนหลังนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก มีเสียงตอบรับที่น่าชื่นใจจากลูกค้า โดยหลังใช้มาตรการครั้งแรกมีลูกค้าประมาณ 23,000 คน ที่ไม่รับถุงพลาสติก

"10% ของกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธถุงพลาสติกจะเป็นชาวต่างชาติและคนเมืองในเขตสีลม ชิดลม และลาดพร้าว ในปริมณฑลและต่างจังหวัดไม่นิยมใช้ถุงผ้ามากเท่าไหร่ ซึ่งห้างได้ประชาสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาและรณรงค์เน้นย้ำในวันที่ 15 และ 30 เป็นวัน NO BAG ให้ลูกค้ากลุ่มนี้รับรู้มากขึ้นด้วยการที่สื่อสารให้ทราบ

เรายังจำเป็นที่ต้องให้ถุงแก่ลูกค้าที่ร้องขอ เนื่องจากเป็นงานบริการ แต่จะขอความร่วมมือให้นำถุงผ้ามาด้วยในการใช้บริการครั้งต่อไป ถ้าเราสื่อสารกับลูกค้าให้มากขึ้นก็น่าจะเพิ่มการรับรู้และลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติก”

อย่างไรก็ตาม ห้างในเครือเซ็นทรัลได้กระตุ้นให้ลูกค้ามาใช้บริการและงดใช้ถุงพลาสติกด้วยการให้แต้มสะสมสำหรับสมาชิกที่งดใช้ถุงพลาสติกในวันปกติและวันที่รณรงค์ แต้มที่ให้มีราคามากกว่าเมื่อเทียบกับต้นทุนถุงพลาสติก ซึ่งคุ้มค่าที่จะรณรงค์และช่วยเหลือสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อความยั่งยืนในการลดใช้ถุงพลาสติกมากกว่าคิดเรื่องราคา

ขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากมีการรณรงค์มาตรการดังกล่าวสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ประมาณ 40,000 – 50,000 ใบ 

"ถ้าในประเทศเราหันมาใช้ถุงผ้าก็จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ แต่ต้องใช้เวลาในการปรับพฤติกรรมและขอความร่วมมือ ทั้งนี้ห้างได้จูงใจให้สมาชิกงดรับถุงพลาสติกด้วยการให้แต้มสะสม แต่เรายังจำเป็นต้องให้ถุงพลาสติกกับลูกค้าที่ขอ เพราะเป็นบริการ แต่จะเชิญชวนให้ซื้อถุงผ้าและนำเงินบริจาคเข้ามูลนิธิ WWF-Thailand (กองทุนสัตว์ป่าโลก) โดยไม่หักค่าใช้จ่าย"

ตัวแทนจากห้างสรรพสินค้าดัง มองว่า คะแนนสะสมที่เราให้ลูกค้าเป็นสิ่งที่จูงใจและสนับสนุนให้ใช้ถุงผ้า แต่อยากให้ใช้ถุงผ้าด้วยจิตสำนึกมากกว่า

"ถุงผ้า"รักษ์โลก

ลองไปฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกกันดีกว่า

ประภาศรี ผู้บริโภคหญิงรายหนึ่งที่นิยมเข้าไปจับจ่ายซื้อของในห้างสรรพสินค้าเฉลี่ยนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เธอบอกว่าปกติไม่ชอบใช้ถุงผ้า เพราะไม่รู้แน่ชัดว่าจะเข้าไปช็อปปิ้งวันไหน และไม่ทราบด้วยว่ามีการประกาศงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน

"การให้ถุงพลาสติกของห้างร้านต่างๆ เป็นเรื่องที่ประเทศเรามีไว้บริการอำนวยความสะดวกให้อยู่แล้ว น่าจะเป็น เพราะความเคยชินมากกว่า เพราะต่างประเทศเขาก็ไม่มีให้ หากมีมาตรการเด็ดขาดให้เลิกใช้ถุงพลาสติก เราก็พร้อมที่จะปรับพฤติกรรมมาใช้ถุงผ้า"

จันทร์เพ็ญ แม่บ้านอีกรายหนึ่ง บอกว่า ถุงพลาสติดยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

"ด้วยพฤติกรรมเคยชินทำให้เราเราต้องใช้ถุงพลาสติก เพราะของบางอย่างเราใส่ถุงที่เราพกมาไม่หมด แต่ถ้าของชิ้นเล็กพอถือได้ก็ไม่ต้องใส่ถุง คิดว่าการออกมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็ช่วยลดโลกร้อน ถ้าออกกฎให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกคนก็สามารถทำได้ ขณะเดียวกันถ้าห้างยกเลิกใช้ถุงพลาสติกส่วนตัวก็พร้อมที่จะพกถุงผ้า เพราะอย่างน้อยถ้ารู้ว่าเราจะไปซื้อของก็เตรียมถุงผ้ามาได้"

อีกด้านหนึ่งของประชาชนผู้ใช้ถุงผ้าเป็นประจำอย่าง มาลินี ที่นอกจากจะใช้ถุงผ้าใส่ข้าวกล่องไปที่ทำงานทุกวันแล้ว ก่อนกลับบ้านจะแวะซื้อของที่ซูปเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำก็ใส่ของในถุงผ้าด้วย

เธอมองว่า ทุกฝ่ายล้วนต้องร่วมกันรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะผู้ประกอบการห้างร้าน พนักงาน และผู้บริโภค

"ต้องรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องรอให้รัฐบาลออกกฎหมาย ขั้นแรกอาจจะหาวิธีจูงใจลูกค้าซึ่งบางแห่งก็จูงใจด้วยการให้คะแนนสะสมหรือส่วนลดสินค้าให้ลูกค้าอยู่แล้ว แรกๆผู้บริโภคอาจรู้สึกไม่สะดวก แต่ต่อไปก็จะชินไปเอง ผู้บริโภคคงไม่คิดว่าถ้าร้านค้าไม่ใส่ถุงให้จะไม่มาใช้บริการ ต่อไปเขาก็เอาถุงมาเอง เราต้องปรับพฤติกรรมให้คุ้นเคยกับการใช้ถุงผ้า การปรับพฤติกรรมคงไม่ยาก เพราะปัจจุบันคนก็ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราประหยัดโลกก็สะอาด เราได้โลกก็ได้ เริ่มตั้งแต่ตนเอง เดี๋ยวคนรอบข้างก็ทำตาม”

เธอบอกว่าทุกคนสามารถช่วยโลกได้ด้วยปรับวิธีการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น นำถุงพลาสติกมาใช้ใส่ขยะที่บ้านแทนที่จะซื้อถุงดำ ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ปิดก๊อกน้ำให้สนิท และเดินแทนการนั่งรถหรือใช้รถสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว

มาช้ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย 

นิตยา วงษ์สวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ปัญหาถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งประเทศ ทั้งสัตว์ทะเลตายจากการกินถุงพลาสติกที่คนทิ้ง ปัญหาน้ำท่วมเพราะระบายน้ำไม่ทันเนื่องจากถุงพลาสติกอุดตันในท่อ ภาวะโลกร้อนจากมลพิษที่เกิดจากการเผาถุงพลาสติก จนถึงปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี

เธอบอกว่า นโยบายงดใช้ถุงพลาสติกครั้งนี้ถึงจะช้าไปหน่อย แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

“พฤติกรรมของคนไทยยังไม่ค่อยสอดรับกับนโยบายเท่าไหร่ เพราะเรายังต้องการความสะดวกสบาย ไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ถุงพลาสติกเท่าที่ควร คนที่รับผลกระทบโดยตรงอาจจะตระหนักมากกว่า แต่หลายคนยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถึงเราจะรณรงค์ให้พกถุงผ้า คนก็อาจจะคิดว่ามันไม่สะดวก เพราะเรามีร้านค้าสองข้างทางมากมายที่จะอำนวยความสะดวกคน ต้องกลับไปดูว่าแต่ละคนมีจิตสำนึกแค่ไหน”

สำหรับตามห้างสรรพสินค้าควรทำเป็นอย่างยิ่งและทำง่ายกว่าร้านค้าตามข้างทาง ภาคธุรกิจยินดีอยู่แล้วที่จะงดใช้ถุงพลาสติก หากจูงใจให้รณรงค์ด้วยการลดภาษีให้สำหรับห้างร้านมีจำนวนถุงพลาสติกลดลง และถ้ามีมาตรการใหม่ ๆ ออกมามันก็อาจจะทำให้ดีมากขึ้น อาจเริ่มจากพื้นที่ที่เราทำได้แล้วเริ่มกระจายไปข้างนอก ยกตัวอย่างเช่นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่แต่ในระดับประเทศหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องออกนโยบายที่จริงจังหาทางออกให้ภาคเอกชนและสร้างแรงจูงใจให้ให้อย่างลุกขึ้นมารณรงค์

“นโยบายดังกล่าวดำเนินการมาถูกทางแล้ว แต่ช้าไปหน่อย จนคนเคยชินไปแล้ว การรณรงค์ 2 วันต่อหนึ่งเดือนอาจจะไม่เห็นผล ถ้าทำได้ตลอดต่อเนื่อง และขยับมาตรการเพิ่มความถี่วันที่งดใช้ถุงให้เพิ่มขึ้น อาจเป็นทุกอาทิตย์ หรือในวันที่คนจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด ที่สำคัญต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ ตามห้างก็ต้องจริงจังด้วย ไม่ใช่ตามใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ลูกค้าอาจไม่ได้พกถุงผ้า ก็ต้องบอกว่าทุกวันที่ 15 และ 30 งดใช้ถุง ต้องมีการตอกย้ำ ย้ำเตือนและบอกให้คนรับทราบ” 

ความสะดวกสบายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าถุงพลาสติก 1 ใบต้องใช้เวลาย่อยสลายกว่า 450 ปี หากนำไปทำลายด้วยดารเผาก็จะเกิดสารก่อมะเร็งและก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อน แต่หากทุกคนหันมาใช้ถุงผ้าเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านถุงต่อปี

วันนี้คุณพร้อมที่จะบอกลา “ถุงพลาสติก” แล้วหรือยัง...


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ช้อปปิ้งสีเขียว ... เมื่อคนไทยบ๊ายบายถุงพลาสติก

view