สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยักษ์โซเชียล แห่รุกไทย ชิงตลาดออนไลน์แสนล.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ยักษ์เน็ต-โซเชียลแห่เปิดสำนัก งานในไทย ชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินธุรกิจออนไลน์ “แสนล้าน” เผย เม็ดเงินสื่อออนไลน์ในไทย 50% ใช้กับสื่อโฆษณาออนไลน์ตปท.

หมายเหตุ : ที่มาภาพจากอินเทอร์เน็ต growingsocialmedia.com

นักวิเคราะห์ ประเมินยักษ์อินเทอร์เน็ต-โซเชียลต่างชาติแห่เปิดสำนักงานในไทย ชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินธุรกิจออนไลน์ “แสนล้าน” ชี้ต่อปีเม็ดเงินไหลออกต่างประเทศไม่ต่ำกว่า “6 หมื่นล้านบาท” แนะ “ภาครัฐ” ปรับตัว เสริมเขี้ยวเล็บผู้ประกอบการไทย จัดหาแหล่งเงินทุน เร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ให้คนไทยเข้าถึงง่าย

“ภาวุธ” เผย เม็ดเงินที่เทลงสื่อออนไลน์ 50% ใช้กับสื่อโฆษณาออนไลน์ต่างประเทศเป็นหลัก แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว เปลี่ยนบิสสิเนสโมเดลรับตลาดออนไลน์โลก สมาคมอีคอมเมิร์ซไทยเร่งหารือรัฐ ผู้ประกอบการหามาตรการหนุนผู้ประกอบการไทย


การเข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในไทยของบริษัทอินเทอร์เน็ต-โซเชียลยักษ์ ใหญ่ระดับโลกช่วงที่ผ่านมา อย่างรายล่าสุด คือ เฟซบุ๊ค ได้สร้างกระแสตื่นตัวให้ธุรกิจในไทย ซึ่งมีทั้งโอกาส ความท้าทาย รวมถึงจุดที่น่ากังวล โดยเฉพาะคนไทยที่แห่ใช้บริการจนติดอันดับโลกหลายๆ บริการ ส่งผลให้เม็ดเงินออนไลน์ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ปีนี้ ที่ประเมินว่าจะสูงถึงหมื่นล้านบาท

นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ด้านกลยุทธและอุตสาหกรรมไอซีที บริษัท เจ. เอ็ม. คาตาลิสท์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา ประเมินว่า ในแต่ละปีบริษัทอินเทอร์เน็ตและ โซเชียลยักษ์ใหญ่ ดึงเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ออกไปจากประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่เม็ดเงินซื้อขายออนไลน์ในไทย (อีคอมเมิร์ซ) ขณะนี้ โดยภาพรวมอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท

เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ไหลออก
“เฉพาะ เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ และจากบริการออนไลน์อื่นๆ ที่ไหลออกไปนอกประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี บริการของโซเชียลเน็ตเวิร์คแต่ละรายที่มีเม็ดเงินสะพัดในไทยไม่น้อย เช่น เกม การซื้อไอเท่ม การซื้อสินค้า หรือการซื้อสติ๊กเกอร์ ขณะที่มูลค่าซื้อขายอีคอมเมิร์ซในไทยตัวเลขขณะนี้อยู่ที่ราวๆ 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีเม็ดเงินที่ต่างชาติได้ส่วนแบ่งไปมหาศาล”

นอกจากนี้ บางรายเข้ามาขายสินค้าในรูปแบบบีทูซี หรือขายโดยตรงให้คนไทย บริษัทเหล่านี้สามารถเข้ามาทุ่มตลาด ตัดราคาผู้ค้าไทยได้ด้วยเงินทุนที่หนา ระบบการตลาด การจัดการที่ได้มาตรฐานเป็นระดับโลก สิ่งที่ตามมา คือ บริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อมูลพฤติกรรมของคนไทยได้มากกว่าหน่วยงานด้านพาณิชย์ ของไทยรับรู้ เช่น รู้ว่า คนไทยมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอย่างไรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตช่วงเวลาไหน สินค้าอะไรที่คนไทยนิยม หรือบริการแบบไหนที่คนไทยชอบ คีย์เวิร์ดอะไรไหนที่คนไทยใช้ ข้อมูลด้านสินค้าแบบไหนที่คนไทยกำลังค้นหา

ข้อมูล เหล่านี้เหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการทำตลาดไทยต่อไปในอนาคต ขณะที่ หน่วยงานด้านพาณิชย์ของไทยเองยังมีการจัดเก็บข้อมูลแบบเก่า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง โซเชียล หรืออินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

แนะมองข้อดีต่อยอดธุรกิจในประเทศ
อย่าง ไรก็ตาม การเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ก็มีข้อดีเช่นกัน คือ เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในไทยต้องปรับตัว โดยอาจยึดบิสสิเนส โมเดลบริษัทเหล่านี้มาต่อยอด เป็นการจุดประกายให้สตาร์ทอัพไทย คล้ายๆ ใช้เป็นต้นแบบเพื่อต่อยอดธุรกิจ

“อีกข้อดี คือ ช่วยขยายตลาดออนไลน์ ช่องทางการค้าขายให้กลุ่มธุรกิจอย่างอีคอมเมิร์ซในไทย ได้มีช่องทางขายมากขึ้น ต้องยอมรับว่า ปกติแล้วธุรกิจด้านนี้ จะถูกขับเคลื่อนหลักด้วยเอกชน หรือตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พอ ไม่สามารถทำให้ตลาดโตได้ พอโซเซียลเหล่านี้เข้ามา ได้ช่วยขยายตลาด ทำให้ผู้ประกอบมีช่องทางขายเพิ่ม ขายผ่านเฟซบุ๊ค ผ่านอินสตาแกรม ไม่เฉพาะแค่ผู้ประกอบการรายย่อยๆ แต่รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากในไทย”

เขา กล่าวว่า ช่วงแรกต้องยอมรับว่า คนไทยยังไม่ชอบขายของออนไลน์ แต่พอมีโซเชียลเหล่านี้ จะเห็นว่า ด้วยระบบ การบริหารจัดการ กระตุ้นให้คนไทยอยากขายของออนไลน์มากขึ้น เช่น ราคูเท็น อีคอมเมิร์ซ ญี่ปุ่นเข้าผนึกกำลังกับตลาดดอทคอม ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีช่องทาง

จี้ภาครัฐหนุนแหล่งเงินทุน-ปรับกม.
“มอง ในมุมบวก ถ้าต่างชาติไม่เข้ามา เราก็พัฒนาไม่ได้รวดเร็ว หลายอย่างเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในไทย เช่น ในวงการพัฒนาคอนเทนท์ จะเห็นคอนเทนท์ที่คนไทยทำเพิ่มขึ้นมาก เกิดวิดีโอ คลิปที่คนไทยผลิต เกิดสติกเกอร์ต่างๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างงานให้ผู้ผลิตคอนเทนท์ในบ้านเราได้มาก ถือเป็นโอกาสที่เราเอามาต่อยอดได้”

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถตั้งตัวได้ มีการเติบโตที่แข่งขันได้ อาจมีการให้ฟันดิ้ง พัฒนากระบวนการต่างๆ เช่น ในด้านการซื้อขายออนไลน์ให้มีความง่าย กระตุ้นให้คนอยากใช้บริการของคนไทย

“เช่น เดียวกับข้อกฏหมายบางอย่าง ต้องปรับให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงของโซเชียล หรือไอที กฏหมายบางอย่างก็ไม่เอื้อผู้ประกอบไทยมากเท่าที่ควร รัฐต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้รัดกุม ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งปรับตัวดึงข้อดี โอกาสของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ มาต่อยอดให้ธุรกิจของตัวเอง” นายธีระ กล่าว

เม็ดเงินธุรกิจสื่อไหลออกนอกปท
ด้าน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การปรับตัวของธุรกิจของไทยจะช้ากว่าที่ธุรกิจในต่างประเทศหากเป็นอย่างนี้ใน ต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจหลายๆ อย่างของไทยจะไร้ที่ยืนในตลาดประเทศตัวเอง

เขากล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เม็ดเงินจากสื่อโฆษณากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เงินจากสื่อออฟไลน์ อย่าง วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทีวี มีแนวโน้มตกลงอย่างต่อเนื่อง เพราะทั้งราคาที่แพง แต่ประสิทธิภาพไม่สามารถวัดผล และเข้าถึงกลุ่มหมายได้มีประสิทธิภาพ น้อยกว่าสื่อออนไลน์มาก ทำให้เงินจำนวนมากย้ายจากสื่อออฟไลน์มาออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงองค์กรขนาดเล็กเทงบประมาณการตลาดลงมาสื่อออนไลน์อย่างเต็มที่ ด้วยสาเหตุที่ราคาถูกกว่า, มีประสิทธิภาพมากกว่า, วัดผลได้แม่นยำกว่า และเข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว

"หากสังเกตดีๆ จะพบว่า เม็ดเงินที่กำลังถูกเทเข้ามายังสื่อออนไลน์ นั้นเกือบ 50% ถูกใช้ไปกับ สื่อโฆษณาออนไลน์ของต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ กูเกิล, เฟซบุ๊ค, ยูทูบ, ไลน์ฯลฯ มากกว่าจะลงในสื่อโฆษณาของไทย ซึ่งมีแนวโน้มโตขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี นั้นหมายถึงเม็ดเงินที่ธุรกิจต่างๆ ของไทยจ่ายออกไปนั้น ถูกจ่ายออกไปยังต่างประเทศโดยตรงทันที (ถึงแม้จะจ่ายผ่านเอเจนซี่ก็ตาม) โดยที่ไทยแทบไม่ได้เงินภาษีจากเงินในส่วนนี้เลย นับเป็นเงิน“หลายพันล้านบาท

อีคอมเมิร์ซต่างชาติชิงส่วนแบ่ง
ขณะที่ ปัจจุบันจำนวนคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายคนหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นธุรกิจต่างๆ ของไทยเริ่มบุกเข้ามาค้าขายในออนไลน์เพิ่มขณะเดียวกัน เว็บไซต์ต่างชาติก็เริ่มบุกเข้ามาค้าขายในไทยจากเดิมเว็บจากต่างชาติมักใช้ ภาษาอังฤกษ หรือภาษาท้องถิ่น แต่ด้วยการต้องการขยายตลาดของเว็บไซต์ออนไลน์ต่างประเทศก็เริ่มแปลงร่าง เพิ่มภาษาให้รองรับภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น

“แนวโน้ม ต่อไปจะมีเว็บไซต์สินค้าออนไลน์ต่างประเทศที่เริ่มมีภาษาไทย และขยายเข้ามายังคนไทยเพิ่มมากขี้น สินค้าจากต่างประเทศมากมายนับล้านๆ ชิ้นจะบุกเข้ามายังลูกค้าคนไทยผ่านออนไลน์ แน่นอนมันจะดึงเม็ดเงินจากธุรกิจและคนไทยออกไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำลังซื้อสินค้าจะไหลออกไปยังเว็บไซต์ต่างประเทศ เหล่านี้จะกระทบต่อธุรกิจไทยเต็มๆ อาจทำให้บางธุรกิจของไทยแทบไร้ที่ยืนทันที”

เขากล่าวด้วยว่า ในส่วนของสมาคมฯ นั้น ได้มีการพูดคุยในประเด็นดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงการเข้าไปคุยหน่วยงานในภาครัฐ ในการหามาตรการร่วมกัน ที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการในไทย สามารถพัฒนาตัวเองรวมถึงต่อยอดธุรกิจที่แข่งขันได้ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ยักษ์โซเชียล แห่รุกไทย ชิงตลาดออนไลน์แสนล.

view