สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จีน ชอบทุเรียน โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ขณะที่พืชผักผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล แพร์ พีช พลับ แครอต บร็อกโคลี เซเลอรี่ และอื่น ๆ จากจีน ผ่านทางลาวและพม่าเข้ามาขายในประเทศไทย จนกลายเป็นของถูกไปแล้ว พืชผักผลไม้เมืองหนาวจากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สู้ไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านี้เอาภาษีอากรมาช่วยพยุงราคาสินค้าจากภาคเกษตร ทำให้สินค้าเกษตรส่งออกไม่ได้ ขายได้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น เพราะมีมาตรการห้ามนำเข้าหรือไม่ก็ดี กำแพงภาษีที่สูงหรือมีมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษีเป็นอุปสรรคในการนำเข้า พวกเราก็เลยได้บริโภคผลไม้เมืองหนาวจากประเทศจีนเท่านั้น

ในขณะเดียวกันผลไม้ของไทย เช่น กล้วยหอมเปลือกหนา มะม่วงงวงช้าง เงาะ มังคุด และทุเรียน ก็สามารถออกไปขายต่างประเทศได้ หลังจากถูกกีดกันมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น เพราะผลไม้เรามักจะมีไข่แมลงวันทองที่มาไข่ไว้ตั้งแต่ผลไม้ออกช่อ แล้วก็ฝังตัวอยู่ในผลไม้ เมื่อผลไม้สุกงอมก็ฟักตัวออกมาเป็นหนอน ประเทศเมืองหนาวกลัวมาก กลัวว่าแมลงวันทองจะไปแพร่ขยายพันธุ์ในประเทศของเขา บัดนี้ได้มีการร่วมมือกันขจัดแมลงวันทองสำเร็จแล้ว จึงสามารถส่งออกได้สำหรับญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และสิงคโปร์ แต่ก็ยังน่าห่วงสำหรับผลไม้ที่ส่งไปจีน



จีนไม่ค่อยเข้มงวดในเรื่องคุณภาพของสินค้า ต่างส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรที่คนไทยกลัวมาก คือพืชผักผลไม้ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ จีนไม่เคยกลัวในเรื่องนี้ เพราะการแปรเปลี่ยนพันธุกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลาในการผสมเกษตรโดยแมลงและโดยธรรมชาติ ไม่มีอะไรต่างกัน ดังนั้น จีนจึงพัฒนาพืชผักผลไม้แปลก ๆ ออกมาเสมอ เคยไปดูเขตเช่าของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทจีนมาเช่าที่ดินจากชาวบ้าน ราคาประมาณไร่ละ 5,000 บาท แพงกว่าค่าเช่าที่ทำการเกษตรในเมืองไทยที่มีราคาเพียงไร่ละ 2,000-2,500 บาท เพื่อปลูกกล้วยหอมพันธุ์พิเศษ ใบตองก็ใช้ไม่ได้ หยวกกล้วยก็ใช้ไม่ได้ เป็นพิษ หน่อจะลักขุดไปทำพันธุ์ก็ปลูกไม่ขึ้น เมื่อกล้วยออกลูกแล้ว หัวปลีก็บริโภคไม่ได้ กล้วยจะแข็ง ไม่สุก เมื่อตอนเก็บเกี่ยวต้องแช่น้ำยาเคมีพิเศษใส่หีบห่อส่งไปขายเมืองจีน ขึ้นไปถึงปักกิ่ง หนานหนิง เซี่ยงไฮ้ แม้กระทั่งซินเจียงก็ไปถึง เมื่อต้องการให้กล้วยสุกสีเหลืองอร่าม แช่น้ำยาอีกทีก็สุกทันทีภายในวันเดียว ถ้าไม่มีน้ำยา กล้วยก็จะยังไม่สุก คนพื้นเมืองในประเทศที่ปลูกไม่กล้ารับประทาน ปลูกไปแล้ว 3 ปี ดินจะเสียหมด ปลูกอะไรไม่ได้ จึงให้ค่าเช่าแพง

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สมัยรัฐบาลไทยรักไทย พ่อค้าจีนก็สร้างกระแสข่าวในเมืองจีนว่า ลำไยแห้งของไทยเป็นสมุนไพรวิเศษ ปอกเปลือกออก เนื้อและเมล็ดข้างในเหมือนตามังกร มีสรรพคุณในการสร้างพลังทางเพศ ถ้าเอาไปเข้ากับสมุนไพรอื่นทำยาลูกกลอน ราคาลำไยไทยพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า เพราะพ่อค้าจีนมาสั่งทีเดียว 30,000 ตัน ทั้ง ๆ ที่ลำไยทั้งหมดที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน รวมกันทั้งหมดก็มีไม่ถึง

ปกติลำไยของเรามีการคัดเกรด มี 4 เกรด พ่อค้าเหมาหมดทุกเกรด รัฐบาลจึงนำเรื่องเข้า ครม. มีมติให้องค์การคลังสินค้าไปรับซื้อทั้งหมด โดยจะทำสัญญาแลกลำไยกับรถถังหุ้มเกราะ รัฐมนตรีจีนก็มาทำสัญญา ออกทีวีเป็นข่าวเกรียวกราว

ก่อนหน้านั้นในสมัยวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ก็จะมีพ่อค้ามาหลอกต้มนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไทยว่าให้เอาข้าวไปแลกน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าสมัยและเป็นไปไม่ได้แล้ว ในสมัยนี้ที่เรามีเงินจากต่างประเทศเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เราเคยถูกรัสเซียหลอกเอาข้าวไปแลกน้ำมันกับรัสเซีย รัสเซียเอาข้าวเราไป แต่ไม่ส่งน้ำมันให้ไทย เพราะตกลงราคาและคุณภาพสินค้าเกษตรกันไม่ได้ พ่อค้าไทยไม่เคยรักษาสัญญา ฝ่ายเขาก็ไม่รักษาสัญญาเหมือนกัน ในที่สุด โครงการการค้าต่างตอบแทนก็ล้มเหลว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง "มือใหม่หัดขับ" ก็จะมีพ่อค้ามาวิ่งให้มีการค้ต่างตอบแทนอีก เหมือนกับคราวนี้ พ่อค้าวิ่งออกข่าวให้จะสร้างรถไฟความเร็วปานกลาง โดยให้จีนเป็นผู้ก่อสร้าง ราคา 3-4 แสนล้านบาท โดยจีนจะซื้อข้าวไทย ทั้ง ๆ ที่ข้าวไทยก็ขายได้อยู่แล้วในราคาตลาดโลก ถ้ารัฐบาลไม่แย่งซื้อโดยโครงการแปลก ๆ เช่น โครงการจำนำข้าวของรัฐ

ดีว่าเราไม่มีลำไย 30,000 ตัน ส่งจีน เพราะลำไยของ อคส.ที่ซื้อฝากพ่อค้าไว้หายไป 3,000 ตัน เจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้อง ศาลตัดสินจำคุกหลายคนเมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทัพบกไทยก็เลยไม่ได้ใช้รถถังหุ้มเกราะของจีน

ขณะนี้มีการปั่นกระแสในเมืองจีนว่า ทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ มีรสหอมหวาน มีโปรตีนและแร่ธาตุที่เป็นที่ต้องการของมนุษย์สูง จึงเกิดกระแสความนิยมบริโภคทุเรียนสูง ราคาทุเรียนสูงขึ้นทันทีและขาดตลาด พ่อค้าที่รับคำสั่งซื้อกว้านซื้อทุเรียนจนหมด ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด หมดทั้งภาคใต้ ทุเรียนอุตรดิตถ์ก็หมด

ขณะนี้พ่อค้าไทยยังขาดทุเรียนอยู่อีก 250-300 ตู้คอนเทนเนอร์ ต้องบุกเข้าไปหาทุเรียนที่มาเลเซีย พม่า และอินโดนีเซีย ที่ลาว และเขมร เวียดนาม หมดไปนานแล้ว ทั้งที่ปอกเอาเมล็ดข้างในแช่แข็งและที่ยังไม่ได้ปอกไปเป็นลูกไปสุกเอาที่เมืองจีนปลายทาง

ปัญหาของผลไม้ทุกอย่างเหมือนกันคือผลไม้มีหลายเกรดหลายพันธุ์หลายชนิด ทุเรียนก็มีหลายพันธุ์ แต่ที่นิยมกันมากระยะหลังก็คือ หมอนทอง รองลงไปก็เป็นชะนี ส่วนก้านยาวปลูกยาก ให้ผลน้อย แต่ราคาแพง ได้ยินว่าราคาผลละหมื่นบาทก็มี ถ้าเป็นทุเรียนเมืองนนท์ ขณะนี้พ่อค้าจีนก็บุกมาถึงสวน เหมาหมดทั้งสวน การควบคุมคุณภาพจึงเป็นไปได้ยาก จึงมีข่าวทุเรียนอ่อน ซึ่งเมื่อก่อนเราทำทุเรียนทอด เดี๋ยวนี้ก็ผสมผเสส่งเมืองจีนไปหมด พวกเราคนไทยถึงแม้จะมีทุเรียนทอด ทุเรียนผล หรือทุเรียนแคะเม็ดรับประทาน แต่ราคาก็แพงขึ้นกว่าเท่าตัว

สถานการณ์อย่างนี้จะดำรงไปนานแค่ไหนก็ไม่มีใครทราบ จะเป็นเหมือนการตื่นลำไยเมื่อ 10 ปีก่อน หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ก็น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ใครเป็นชาวสวนทุเรียนต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดี ถ้าจะลงทุนขยายเนื้อที่เพาะปลูก เพราะการทำสวนทุเรียนมีต้นทุนสูง ต้องใช้แรงงานทะนุบำรุงต้นจำนวนมาก สมัยนี้ค่าจ้างแรงงานก็สูงและหาแรงงานได้ยาก

คนจีนมักจะเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย เพราะเคยชินกับการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์เสมอมา สื่อมวลชนก็อยู่ในมือของรัฐบาล เมื่อจีนหันมาเป็น "ทุนนิยม" การโฆษณาสร้างกระแสของลัทธิบริโภคนิยมในจีนจึงเกิดขึ้นเสมอ ผลไม้เป็นสินค้าหนึ่งที่ถูกนำมาไว้ปลุกกระแสความนิยมเสมอ เพื่อแสวงหากำไรของนายทุน ซึ่งเมื่อก่อนพรรคจงเกลียดจงชังนักหนา แต่บัดนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีวิธีคิดหากำไรได้ยอดเยี่ยมกว่านายทุนประเทศอื่น ๆ เสียอีก ในการหาผลประโยชน์ และความได้เปรียบในการติดต่อค้าขายด้วย โดยเอาราคาถูกเข้าจีน แต่คุณภาพไม่พูดถึง

พอมีข่าวว่าคนจีนหันมานิยมบริโภคทุเรียนไทย จนพ่อค้าจีนบุกมาซื้อทุเรียนถึงประเทศไทย จนราคาทุเรียนถีบตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ผู้ส่งออกหาทุเรียนไม่ทัน ต้องลงไปกว้านถึง 3 จังหวัดภาคใต้ และมลายู

ฟังแล้วก็ดีใจแทน แต่ก็เป็นห่วงชาวสวนทุเรียน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : จีน ชอบทุเรียน โดย วีรพงษ์ รามางกูร

view