สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง โดย เทพวรรณ วรรธนะประทีป

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2554 และลุ่มน้ำภาคตะวันออก ปี 2556 ทำความเสียหายอย่างมากให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐได้มีการวางแผนโครงการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมหลายโครงการ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีโครงการใดที่ได้ดำเนินการจนถึงขั้นเตรียมการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนในหลาย ๆ ด้าน

โดยเฉพาะ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประกอบกับต้องใช้เวลาในการก่อสร้างอีกหลายปี ดังนั้นพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำภาคตะวันออกที่เคยถูกน้ำท่วมเสียหาย ก็ยังคงมี "ความเสี่ยง" ที่จะถูกน้ำท่วมอีก หากไม่มีระบบที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ความเสี่ยง (Risk)

การเกิดน้ำท่วมส่วนใหญ่มาจากการที่ฝนตกหนักในพื้นที่รับน้ำฝน มากน้อยแล้วแต่สภาพภูมิอากาศและการเกิดมรสุมและพายุในช่วงนั้น ซึ่งแต่ละปีปริมาณน้ำฝนสูงสุดแตกต่างกัน จึงกำหนดเทียบเป็น รอบการเกิดซ้ำ (Return Period) เช่น รอบการเกิดซ้ำ 50 ปี หรือ 100 ปี เป็นต้น

หลายครั้งที่คนมักเข้าใจว่า น้ำท่วมในรอบ 100 ปี หมายถึงเมื่อเกิดขึ้นแล้วในปีนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีกในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ความหมายที่แท้จริง คือโอกาสการเกิดมี 1 ใน 100 เมื่อเกิดขึ้นปีนี้แล้ว ปีหน้าอาจจะเกิดน้ำท่วมขนาดที่ใหญ่กว่าก็ได้

น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มีการศึกษาวิเคราะห์จากหลายหน่วยงาน ผลการวิเคราะห์บ่งบอกรอบการเกิดซ้ำอยู่ระหว่าง 70 ถึง 100 ปี ซึ่งแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ ได้แก่ อัตราการไหลสูงสุดที่สถานีวัดน้ำ ปริมาณน้ำหลากในช่วงที่เกิดน้ำหลาก และปริมาณฝนเฉลี่ยในลุ่มน้ำ ซึ่งวิธีหลังน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นปริมาณน้ำจากอากาศที่ตกลงมาในลุ่มน้ำ ยังไม่มีการซึมลึกลงใต้ดิน ไม่มีการเก็บกัก หรือถูกผันไปลุ่มน้ำอื่น ๆ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ก็มีผลกระทบต่อการเกิดปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำด้วย

การศึกษาน้ำท่วม (Flood Study)

การศึกษาน้ำท่วม จำเป็นต้องสำรวจภาคสนามดูสภาพพื้นที่ให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด ผู้ที่รู้ดีที่สุดคือชาวบ้านท้องถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงมานาน การสอบถามจะได้ข้อมูลที่ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด การสังเกต "คราบน้ำท่วม" (Flood Mark) ทำให้ทราบระดับน้ำท่วมสูงสุดที่เคยเกิด ทำให้สรุปสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมและทิศทางการไหลของน้ำท่วมได้อย่างชัดเจน

พื้นที่รับน้ำฝนมีขนาดไม่ใหญ่มากนักและไม่มีระบบลำน้ำต่อเนื่องกันซับซ้อน มักใช้วิธี กราฟหนึ่งหน่วยน้ำท่า (Unit Hydrograph Method, UH) คำนวณหากราฟน้ำหลากจากปริมาณฝนลุ่มน้ำตามรอบปีการเกิดซ้ำ หาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลและระดับน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ หรือจากสูตรการไหลของน้ำในลำน้ำเปิด เพื่อคำนวณระดับน้ำสูงสุด กรณีที่เป็นแม่น้ำ/ลำน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ และมีระบบการไหลของน้ำที่ซับซ้อน ต้องใช้แบบ จำลองคณิตศาสตร์ (Mathematical Model) มาช่วยในการศึกษาวิเคราะห์ โดยปรับเทียบผลกับข้อมูลตรวจวัดที่สถานีวัดน้ำ และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อให้มั่นใจว่าผลที่ได้ใกล้ความจริงมากที่สุด

การป้องกันน้ำท่วมส่วนใหญ่ จะใช้ระดับน้ำท่วมสูงสุดที่รอบการเกิดซ้ำ 100 ปี เป็นเกณฑ์ และรวมระยะเผื่อให้สูงขึ้นอีกประมาณ 0.50 ม. บางแห่งใช้ถึง 1.00 ม. เพื่อความปลอดภัยอันเนื่องมาจากสาเหตุที่อาจคาดไม่ถึง

กรณีที่ออกแบบเป็นคันกั้นน้ำ ต้องวิเคราะห์การทรุดตัวด้วย ซึ่งมีทางเลือก 2 ทาง คือ เพิ่มความสูงของคันกั้นน้ำเผื่อการทรุดตัว หรือใช้วิธีตรวจสอบ หากมีการทรุดตัว จะต้องเสริมความสูงให้เท่ากับที่ออกแบบไว้เดิม และจากการเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมออกแบบก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ไม่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดที่เคยเกิดในปี 2554 บวกระยะเผื่ออีก 0.50 ม. เป็นเกณฑ์มาตรฐาน

การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม

ในการออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมที่รวมระยะเผื่อ(Freeboard) และการทรุดตัวไว้ รูปแบบที่ใช้เป็นการก่อสร้างกำแพงคอนกรีต หรือคันดินถม หรือแบบผสมระหว่างกำแพงคอนกรีตกับคันดินถม ล้อมรอบพื้นที่ป้องกัน บางช่วงอาจเป็นกำแพงคอนกรีต บางช่วงอาจเป็นคันดินถม หรือเป็นแบบผสม ส่วนทางเข้าออกต้องทำทางลาดขึ้นลง (Ramp) ที่รถวิ่งข้ามคันได้สะดวก กรณีที่คันกั้นน้ำสูงมากไม่สามารถจัดทำทางขึ้น-ลงได้ ควรออกแบบเป็นพนังกั้นน้ำชั่วคราวแบบถอดประกอบได้

ความแข็งแรงคันกั้นน้ำเปรียบได้กับเขื่อนเตี้ย ฐานรากต้องสามารถรับน้ำหนักได้ มีความแข็งแรงต่อการพลิกคว่ำ และการเลื่อนไถล นอกจากนี้ต้องมีความทึบน้ำ กล่าวคือสามารถป้องกันน้ำซึมผ่านตัวคันและฐานรากใต้คันได้ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย

การปลูกต้นไม้ใหญ่บนคันมีผลต่อการรั่วซึมจึงไม่ควรปลูก สำหรับที่มีอยู่แล้วต้องมั่นตรวจสอบ หากต้นไม้ใหญ่ตายต้องรีบขุดออกแล้วบดอัดคันดินใหม่ให้มั่นคงกว่าเดิม อีกอย่างต้องหมั่นคอยตรวจสอบรู โพรง ที่เกิดจากสัตว์ตามธรรมชาติ หากพบให้ดำเนินการซ่อมแซม

นอกจากความมั่นคงและความปลอดภัย ความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ และควรยึดหลักการทางวิชาการมากกว่ายึดความต้องการของเจ้าของงาน และเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้ว ก็ควรติดตามตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่ศึกษาออกแบบไว้หรือไม่

ระบบรวบรวมและระบายน้ำ

เมื่อทำการป้องกันน้ำท่วมภายนอกแล้วปริมาณน้ำภายในที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่โครงการก็จำเป็นต้องระบายออกให้ทันด้วย อาจจำเป็นต้องใช้ระบบสูบน้ำ ระบายน้ำฝนไปยังบ่อพักน้ำของสถานีสูบน้ำแล้วสูบน้ำออก ซึ่งขนาดของบ่อพักน้ำจะสัมพันธ์กับขนาดของสถานีสูบน้ำ และสามารถระบายน้ำฝนออกให้หมดภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมรับพายุฝนลูกต่อไป

การออกแบบระบบระบายน้ำภายใน ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามมาตรฐาน สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบคือ เมื่อระบายน้ำออกไปนอกพื้นที่โครงการแล้ว ปริมาณน้ำที่ระบายจะไหลไปไหนต่อ มีผลกระทบต่อชาวบ้านมากกว่าเดิมก่อนมีโครงการหรือไม่ หากมีจำเป็นต้องพิจารณาออกแบบเพิ่มเติมทางระบายน้ำภายนอกประกอบด้วย

บทสรุป


การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรอบคอบทุกด้าน เนื่องจากหากเกิดความผิดพลาด ความเสียหายค่อนข้างสูง เช่น กรณีคันกั้นน้ำเกิดการพังทลายเมื่อเกิดน้ำท่วม พื้นที่โครงการที่เป็นนิคม โรงไฟฟ้า หรือโรงงาน แต่ละแห่งมีมูลค่าเครื่องจักรอุปกรณ์สูง ทำให้ต้องมีการตรวจสอบว่าเกิดความผิดพลาดได้อย่างไร การก่อสร้างเป็นไปตามแบบและข้อกำหนดหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ตรวจสอบได้ไม่ยากนัก

แต่การตรวจสอบ "ระดับน้ำท่วม" ว่าเป็นระดับน้ำท่วมที่รอบปีการเกิดซ้ำที่เท่าไร ตรวจสอบได้ยาก


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม

view