สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นายพลบูรพาพิทักษ์ ป่าราชินี ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จากประชาชาติธุรกิจ

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นจริงดังที่ได้มีพระราชดำรัสและเกิดขึ้นจริงในหลาย ๆโครงการอันเกิดประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้อยู่ดีกินดีใน ปัจจุบันและอนาคต

"ป่ารักน้ำ" เป็นหนึ่งในโครงการอันเกิดจากพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระประสงค์จะรักษาผืนป่าเมืองไทย อันเป็นต้นน้ำสำคัญในการหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั้งคนสัตว์และพืช ให้ดำรงอยู่สืบต่อไป

ดังพระราชกระแสรับสั่งว่า "...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ... พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า..." พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร วันที่ 20 ธันวาคม 2525



จากวันนั้นถึงวันนี้ พระราชดำริที่ตรัสไว้ในวันนั้นปรากฏภาพชัดเจนให้เห็นแล้วว่า พระองค์มีพระอัจฉริยภาพที่ทรงมองการณ์ไกล ทอดพระเนตรเห็นถึงความสำคัญของผืนป่า ทำให้ "ป่าราชินี" หลายผืนได้รับการคุ้มครองและอนุรักษ์ไว้เป็นป่าต้นน้ำ สร้างความสมดุลและความสมบูรณ์ให้กับผืนแผ่นดินไทย ตราบชั่วลูกชั่วหลาน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่แผ่นดินไทย ที่คงไว้ซึ่งผืนป่า แม้จะเหลือไม่กี่แห่ง แต่ก็นับเป็นป่าผืนใหญ่ที่รอดพ้นจากเงื้อมมือนายทุนและการบุกรุกทำลาย

การรักษาป่า กลายเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงห่วงใยและทรงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ต้นน้ำ ที่สร้างความบริบูรณ์ให้แก่ผืนแผ่นดิน แหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ทรงย่อท้อเมื่อป่าถูกทำลาย พระองค์ก็ทรงปลูกป่าทดแทนใหม่

หนึ่งในภารกิจสำคัญที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระราชดำริให้พิทักษ์ป่าต่ำผืนสุดท้ายในเขตชายแดนตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เนื้อที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่

"ขอให้ทหารช่วยดูแลเรื่องป่าไม้และน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และป่าเขาใหญ่ ขอให้ทหาร และกรมป่าไม้ รวมทั้งส่วนราชการอื่น ๆ ปลูกฝังแนวคิดให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยไม่เข้าไปรบกวนป่า ตลอดจนพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย"
และเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นทรัพยากรหรือมรดกของลูกหลานคนไทยในอนาคตต่อไป


ผู้รับสนองพระราชดำรัสไม่ใช่ใครอื่น"บิ๊กป้อม" พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้พิทักษ์ป่าผืนนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ก่อนที่ "บิ๊กป้อม" เกษียณอายุราชการทหาร และหลังเกษียณก็ได้เป็นนายพลพิทักษ์ป่าต่อไป ตามแนวพระราชดำริที่ทรงเล็งเห็นว่า คนกับป่าสามารถอยู่ด้วยกันได้ แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย



บิ๊กป้อม ย้อนถึงวันที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดูแลผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดชายแดนตะวันออกว่า เมื่อ 23 ปีก่อน สมเด็จพระนางเจ้าฯทรงรับสั่งให้ทหารช่วยกันรักษาป่า โดยมีกองทัพภาคที่ 1 เป็นผู้รับสนองพระราชดำรัส ดับไฟป่า พิทักษ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้านอยู่กับป่าและไม่ทำลายป่า

"ป่าผืนนี้ถูกบุกรุกมานาน เดิมมี 13 ล้านไร่ ที่เป็นป่าดงดิบ ตอนนี้เหลืออยู่ล้านสามแสนไร่ เพราะมีการบุกรุกทำลายป่า เผาป่า เพื่อปลูกมัน ปลูกข้าวโพด ตอนที่ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาดูแลป่าผืนนี้ ผมก็ยังคิดไม่ออก เพราะพื้นที่ค่อนข้างจะถูกบุกรุกมาก พระองค์ก็รับสั่งว่า ป่านี้ต้องอนุรักษ์ไว้เป็นป่าผืนเดียวที่ใกล้กรุงเทพฯ เป็นป่ารอยต่อ เป็นป่าต่ำ อย่าไปย้ายคนออก แต่ต้องให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ ช่วยกันอนุรักษ์ป่า พันธุ์พืช และสัตว์ป่า"


เพื่อให้การสนองพระราชดำริเป็นไปอย่างราบรื่น พล.อ.ประวิตร จึงได้ตั้ง "มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด" เริ่มแรกมีกรรมการเพียงไม่กี่คน ช่วยกันระดมทุนเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ป่าว่า พวกเขาต้องมีส่วนร่วมดูแลป่า อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

"สิ่งแรกต้องทำให้ประชาชนรู้ว่า ไฟจะเกิดขึ้นต้องจากคนเผาเท่านั้น ไฟมันลุกเองไม่ได้หรอก เราก็เข้าไปช่วยกันดูแลประชาชนเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของกองกำลังบูรพา หรือกองพลทหารราบที่ 2 กองกำลังจันทบุรี ตราด และกองทหารพราน ที่สำคัญที่สุดก็คือ กรมอุทยานฯของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันลดปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า"

นายพลพิทักษ์ป่าบูรพาเล่าว่า ในปีแรก ๆ ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ การทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่า "ถ้าเผาป่าก็เหมือนเผาบ้านตัวเอง" ใน 3-4 ปีแรก เรียกว่าล้มลุกคลุกคลาน แต่พอปีที่ 5 ไฟป่าไม่มีไหม้อีกแล้ว นับตั้งแต่ปีที่ 6 ป่าเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านเริ่มให้ความร่วมมือมากขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นผืนป่าที่แม่หลวงช่วยให้รักษาไว้

นอกจากพรรณพืชได้ขยายมากขึ้น สัตว์ป่าก็เพิ่มจำนวนเช่นเดียวกัน จากตอนแรกมีช้างแค่ร้อยกว่าตัว ตอนนี้มีช้างสามร้อยกว่าตัวเมื่อปริมาณช้างป่าเพิ่มมากขึ้น แต่ป่าก็ถูกทำลายไปมากแล้ว พื้นที่บางจุดก็แห้งแล้ง ทางมูลนิธิจึงได้จัดสรรงบประมาณขุดบ่อน้ำตื้น เพื่อให้สัตว์ใช้ดื่มกิน และทำโป่งเทียมให้สัตว์ด้วย

"ถึงแม้มูลนิธิจะมีเงินบริจาคเข้ามาบริหารจัดการป่าไม้ แต่ป่ามันขยายออกไปไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกมาหากินในถิ่นอาศัยของคนก็คือ การขุดคูกั้น ผมขุดคูกว่า 600 กิโลเมตร รอบป่ารอยต่อ5 จังหวัด กว้างประมาณ 3 เมตร ลึก 2.5 เมตร ขุดคูเป็นรูปวีเชป ป้องกันไม่ให้ช้างออกไป เป็นเงินที่ กสทช.ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ จำนวน 100 ล้านบาท ถึงขุดคลองไปแล้ว แต่ช้างฉลาด เอาตัวใหญ่ลงไปก่อนให้ตัวเล็กข้าม ช้างมันเก่ง มันใช้หางดันกัน ออกมากินพวกพืชไร่ ผมก็ใช้หนี้เขาหมด ช้างเพิ่มจำนวนขึ้น อาหารต้องใช้มากขึ้น ขุดบ่อน้ำให้มากขึ้นเป็นร้อยบ่อ"


โมเดลการแก้ปัญหารุกป่าให้คน สัตว์ และป่าอยู่ร่วมกันได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างยั่งยืนที่หาได้ยากในป่าผืนอื่น ๆ ที่ยังบุกรุกเผาแผ้วถางกันไม่เว้นแต่ละวัน

แผนลำดับต่อไปที่ พล.อ.ประวิตร จะดำเนินการตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ นอกจากการสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อพวกเขาจะได้ช่วยกันดูแลป่าได้จริง ๆ

"ป่าตอนนี้ทึบมากอย่างเห็นชัดเจน ในอนาคตจะเป็นป่าดงดิบที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด เป็นป่าที่ลูกหลานจะเห็นว่า นี่คือป่าราชินี ป่าที่พระองค์ทรงห่วงใยทั้งชีวิต คน สัตว์ และป่า"


นี่คือความภาคภูมิใจที่คนไทยทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทำให้ "ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเป็นที่ไม่มีใครมาบุกรุกได้"

นี่คือป่าต้นน้ำลำธารทางภาคตะวันออก ป่าที่คนกับสัตว์อาศัยร่วมกันได้

"พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพมากที่ทรงคิดว่าต้องให้คนอยู่กับป่า ถ้าเอาคนออกจากป่า ป่าตรงนี้เรียบร้อยหมด ในป่าไม่ต้องมีเอกสารสิทธิ แต่ว่าอย่าให้ไปบุกรุกเพิ่มเติม กลุ่มนายทุนไม่มีแล้ว ถ้ามีผมจับหมด ส่วนกรณีที่ช้างออกไปกินพืชไร่ชาวบ้าน มูลนิธิก็กำลังจะหาเงินชดเชยให้ชาวบ้าน"

นอกจากจำนวนช้างที่เพิ่มมากขึ้น ผืนป่าแห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนอย่าง กระทิง วัวแดง และสัตว์หายากอีกจำนวนหนึ่ง

แต่ถ้าหันมามองภาพรวมของผืนป่าในประเทศ ป่าที่อุดมสมบูรณ์เหลือไม่มาก ดังที่ "บิ๊กป้อม" บอกว่า ในอนาคตคนต้องแย่งน้ำกัน ป่าทำให้เกิดน้ำ เกิดฝน ทำความชุ่มชื้น อย่างฝนเทียมก็ต้องมีความชื้นถึงจะทำให้ฝนตกลงมาได้ และน้ำไม่ท่วมด้วย

จากนั้น นายพลผู้พิทักษ์ป่าหลับตาจินตนาการถึงภาพในอีก 100 ปีข้างหน้า ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว แต่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดชายแดนบูรพา ยังคงเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ภายใต้ร่มพระบารมีที่ทรงพิทักษ์รักษาป่าให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : นายพลบูรพาพิทักษ์ ป่าราชินี ประวิตร วงษ์สุวรรณ

view