สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดใหม่บริหาร น้ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

หลังจากฝนเริ่มตกลงมา มีน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าที่ระบายออกมา ทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะ "ภัยแล้ง" คลี่คลายลงบ้าง

ที่วิตกกันเรื่องขาดแคลนน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา ดูแล้วคงไม่มีปัญหาเหมือนกับธัญบุรี ปทุมธานี เกิดซ้ำขึ้นมาอีก

เช่นเดียวกับน้ำทำนา ถ้าหากฝนยังตกแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คงพอมีน้ำให้ถู ๆ ไถ ๆ กันไป อย่างน้อยก็ช่วงนาปีที่กำลังปักดำกันอยู่

ส่วน ใหญ่สรุปตรงกันว่าปีนี้เราน่าจะก้าวผ่านสถานการณ์น้ำแล้งไปได้ แต่ปีหน้าปัญหานี้ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่วนเวียนกลับมาสร้างความปั่นป่วน อีกรอบ

ยกเว้นแต่จะมีพายุลูกใหญ่ ๆ มาเติมน้ำเหนือเขื่อนให้ ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่สามารถคาดเดากับเรื่องทางธรรมชาติแบบนี้ได้

คุณ ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร (TEAMI) ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบน้ำทำนายว่า ภัยแล้งอันสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) จะไม่สิ้นสุดลงในปีนี้ ที่สำคัญปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าวจะลากยาวข้ามไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า

หมายความว่าประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

"ทีมกรุ๊ป" เชื่อเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้คนอื่น ๆ ด้วยว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีหน้าจะทวีความรุนแรงมากกว่าปีนี้แน่นอน

เหตุผล หลัก ๆ อย่างที่เรารับรู้กันมาโดยตลอด น้ำใน 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล-สิริกิติ์-ป่าสักฯ-แควน้อยบำรุงแดน) ในช่วงปลายปีที่กำลังจะมาถึง มีแนวโน้มว่าจะเหลือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และปัญหาน้ำแล้งอาจหนักหนากว่าที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

ประธาน หอการค้าจังหวัดภาคกลางแห่งหนึ่งบอกว่า นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่า หากเมื่อสัปดาห์ก่อนฝนไม่ตก ไม่มีน้ำทำนาขึ้นมาจริง ๆ จะเกิดอะไรตามมา เพราะรู้กันอยู่ว่าชาวนาส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำนาเพียงอย่างเดียว ถ้าทำนาไม่ได้ หมายถึงไม่มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่มีเงินมาซื้อหาข้าวของ จะดำเนินชีวิตกันอยู่ได้อย่างไร

เทียบกับช่วงเศรษฐกิจแย่ ๆ หรือมีปัญหาหนักที่สุดแบบช่วงปี 2540 ตกงานกลับมาบ้านยังมีน้ำทำนา ยังทำการเกษตรได้

ปัญหา ใหญ่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจในต่างจังหวัดผูกอยู่กับการเกษตรทั้งสิ้น จากก่อนหน้านี้เราเห็นถึงผลกระทบช่วงที่เงินรับจำนำข้าวมีปัญหา ตามมาด้วยราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เศรษฐกิจในหลาย ๆ จังหวัดแทบหยุดนิ่ง เราเห็นผลกระทบจากราคายางที่เกิดขึ้นในภาคใต้

พอราคายางทรุด เศรษฐกิจในภาคใต้พลอยซบเซาตามไปด้วย

กระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว

แต่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่ออยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะซักถามความมั่นใจถึงการ "ตั้งรับ" ซึ่งเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมระดับเกินร้อยเปอร์เซ็นต์จริง ๆ กลับไม่มีใครเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะจัดการเรื่องนี้ได้ เพราะหมายความถึงการ "ยกเครื่อง" ระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศครั้งใหญ่

สิ่งที่รัฐบาล ต้องเตรียมตัวเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ คือ อย่าปล่อยให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ แบบที่ผ่านมาเป็นอันขาด

นอกเหนือจากการคาดการณ์ วางแผนรับมือล่วงหน้าอย่างแม่นยำ แต่ละเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปยังอยู่ในระดับโหดหินทั้งสิ้น

ไม่ ว่าจะเป็น 1.การควบคุมพื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาอย่างเข้มงวด 2.ต้องบริหารจัดการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลักอย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ 3.รณรงค์ให้คนไทยใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงลดการใช้น้ำอย่างจริงจัง


ตอนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ต้นตอก็คือ "การบริหารจัดการน้ำ" พอถึงสถานการณ์น้ำแล้งที่กำลังสร้างปัญหาอยู่นี้ ต้นตอก็ยังมาจากเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ "การบริหารจัดการน้ำ" เช่นเดิม

บอกได้คำเดียวว่า แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ยากแค่ไหนก็ต้องทำ


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : คิดใหม่บริหาร น้ำ

view