สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตูล ฝ่าวิกฤตราคายาง แปรรูปทำสนามฟุตซอล

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วง1-2 ปีนี้ สร้างความทุกข์ระทมให้แก่ชาวสวนยางอย่างสาหัส โดยราคาน้ำยางดิ่งลงไปต่ำสุดที่ 3 กิโลกรัม 100 บาท ก่อนที่จะขยับขึ้นมาอีกไม่มากนัก ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 47 บาทเท่านั้น วิกฤตครั้งนี้ทำให้ชาวสวนยาง ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนหาทางออก โดยส่วนหนึ่งหันไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่าง ๆ

"อดิทัต วะสีนนท์" ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลกผลิตยางได้เฉลี่ย 4.2 ล้านตัน/ปี โดยร้อยละ 87 นำมาแปรรูปขั้นต้นเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ร้อยละ 13 แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่า 2 แสนล้านบาทเช่นกัน

"วิกฤตราคายางตกต่ำ ทำให้ชาวสวนยางได้ตระหนักรู้ว่าต้องปรับตัว โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้สนับสนุนให้นักวิชาการเข้ามาร่วม ซึ่งตอนนี้ที่จังหวัดสตูลมีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปทำผลิตภัณฑ์พื้นสนามฟุตซอลได้แล้ว ผมมองว่าตลาดนี้มีอนาคต เพราะเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างสนามหญ้าเทียมถือว่าแข่งกันได้ โดยพื้นยางพารา ตารางเมตรละ 1,500-1,700 บาทส่วนพื้นหญ้าเทียม ตารางเมตรละประมาณ1,800 บาท ขณะที่อนาคตก็สามารถขยายตลาดไปปูพื้นโรงพยาบาล หรือสนามเด็กเล่นก็ได้"


ล่าสุด "ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด" ซึ่งมีสมาชิก 16 สหกรณ์ และมีสมาชิกสมทบ 2 กลุ่ม รวม 18 แห่งตัดสินใจร่วมกันกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 สตางค์ เพื่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางซึ่งตั้งแต่ มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เริ่มผลิตแผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล และไม้กวาดน้ำยาง

สำหรับแผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล มีตลาดรองรับจากภาครัฐ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในทุกวิทยาเขต จำนวน 7 สนาม ในราคา 900 บาท/ตารางเมตร ส่วน ศอ.บต. มีจำนวน 50 สนาม แต่จะต้องกระจายออร์เดอร์ในเครือข่ายด้วย



"ชำนาญ เมฆตรง" ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด เล่าถึงที่มาของโปรเจ็กต์นี้ว่า สหกรณ์รวมตัวกันเป็นตลาดกลางยางสตูล มีผลผลิตยางปีละ 3 ล้านกิโลกรัม แต่เมื่อเจอวิกฤตราคายางตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรสตูลได้ จึงต้องหาทางรอดให้พี่น้องสวนยาง โดยการหาวิธีแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง

เริ่มแรกชุมนุมสหกรณ์ฯได้ดำเนินการอัดก้อนยางเป็นยางลูกขุนส่งออกไป จีน ขณะเดียวกันก็มองว่าต้องทำให้ราคายางในประเทศขยับด้วยและให้คนในประเทศใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางให้มากที่สุดจึงตัดสินใจกู้เงินตามโครงการของรัฐบาลที่ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ มาช่วยเหลือเรื่องความรู้และเทคโนโลยี

เบื้องต้นยังต้องพึ่งออร์เดอร์จากภาครัฐก่อน โดยปี 2558 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ศอ.บต. ผลิตแผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอลทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้มีทั้งขนาด 1,050 ตารางเมตร และขนาด 750 ตารางเมตร มีกำลังการผลิต 40 ตารางเมตร/วัน จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตโดยมีเครือข่ายอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งแผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอลมีคุณสมบัติเด่นคือ มีความยืดหยุ่น แข็งแรง ปลอดภัย และลูกบอลเด้งพื้น

"เป็นการแก้ปัญหาราคายางในท้องถิ่นโดยจะใช้ยางแผ่นรมควันชั้นคัตติ้ง ซึ่งจากเดิมราคาต่ำกว่ายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 6 บาท มาแปรรูป ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าขึ้นมาเทียบเท่ากับยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 และเมื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็ยังเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย"


ขณะเดียวกันก็ยังมีภาคเอกชนอีกรายที่นำยางพารามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง



"คุณัญญา แก้วหนู" ผู้บริหารบริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด จังหวัดสงขลา บอกว่า บริษัทซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ แต่หลังจากประสบปัญหาราคายางตกต่ำจึงหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ถุงมือเคลือบยางพารา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าถุงมือเคลือบยางพาราจากไต้หวันและจีน ขณะที่เมืองไทยมีผู้ผลิต 3 ราย

"เราทำมา 2 ปีแล้ว มีคุณภาพดีเทียบเท่านำเข้า มีจุดเด่นคือกันลื่น ราคาเพียงคู่ละ 35 บาท มีกำลังการผลิต 20,000 คู่/ปี ทำการตลาดด้วยการออกอีเวนต์ร่วมกับภาครัฐ และมีตัวแทนจำหน่าย ส่วนการส่งออกชุดแรกส่งไปแล้วที่ออสเตรเลีย ซึ่งจะนำไปใช้ในส่วนของการก่อสร้าง และปลายเดือนนี้จะส่งไปที่อิหร่านและตุรกี"

ด้าน รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่าที่ผ่านมาการแปรรูปมีปัญหาเรื่องการตลาดแต่ถ้าเราไม่ลงทุน ภาครัฐก็จะไม่มีออร์เดอร์ ดังนั้นสตูลมองว่าไม่ต้องรอตลาดแต่ต้องสร้างให้มีฐานการผลิตก่อน จากนั้นตลาดจะมาเอง โดยมีเป้าหมายใช้วัตถุดิบและสร้างงานในพื้นที่ ใช้นวัตกรรม/วิชาการเข้ามาสนับสนุนซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสนามกีฬาอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีโรงงานอีก 3 แห่งที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ ยะลา 2 โรง และปัตตานีอีก 1 โรง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก ศอ.บต.

ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการปรับตัวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับจังหวัดเล็ก ๆ อย่างสตูล ที่ขณะนี้เริ่มต้นก้าวแรกแล้ว และยังต้องลุ้นก้าวต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : สตูล ฝ่าวิกฤตราคายาง แปรรูปทำสนามฟุตซอล

view