สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภัยแล้งในมือผู้บริโภค

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย เมตตา ทับทิม

น้ำแล้ง-น้ำท่วม" ภัยพิบัติใหญ่ ๆ ที่ประเทศไทยประสบอยู่ทุกปี

วินาทีนี้เป็นบทบาทของ ภาวะภัยแล้ง ได้เห็นบทบาทของหน่วยงานรัฐที่ใช้สารพัดความพยายามเพื่อแก้ปัญหา อย่างน้อยที่สุดเราก็รู้ว่าตอนนี้เป็นชอตแก้ไข เป็นชอตตั้งรับ เพราะความเดือดร้อนถูกส่งต่อจนเรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมทุกองคาพยพ

ถาม ว่าองคาพยพของใคร คำตอบล้านเปอร์เซ็นต์ก็คือองคาพยพของผู้ใช้น้ำ ทำให้ต้องตามไปดูว่าผู้ใช้น้ำมีใครบ้าง ทางทฤษฎีทั่นแบ่งผู้ใช้น้ำธรรมชาติ (บางคนเรียกน้ำฟ้าน้ำฝน) ออกเป็น 4 กลุ่มหลักที่จะต้องบริหารจัดการน้ำไปให้ ประกอบด้วย น้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุตสาหกรรม น้ำรักษาระบบนิเวศซึ่งก็คือผลักดันน้ำเค็ม และน้ำอุปโภคบริโภคซึ่งก็คือน้ำประปา


ภัยแล้งเริ่มเป็นข่าว ลุกลามใหญ่โต เมื่อมีการแพร่กระจายจากภาคเกษตรจนมาถึงน้ำประปาในเขตเมือง แม้แต่คำว่าเมืองก็ต้องนิยามว่าทำเลไหน ภูมิศาสตร์ใด

จิ้มจุดโฟกัสเฉพาะน้ำประปา หน่วยงานรัฐที่ดูแลก็มีหลายหน่วย "กปน.-การประปานครหลวง" รับผิดชอบพื้นที่บริการน้ำประปา 3 จังหวัด มีกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-นนทบุรี

จังหวัดที่เหลืออีก 74 จังหวัด แบ่งให้ "กปภ.-การประปาส่วนภูมิภาค" แต่ก็ไม่ได้ดูแลทั้งหมด เพราะมีอยู่ 220-230 กว่าสาขา

ที่เหลือกลุ่มใหญ่เป็นภารกิจของ "อปท.-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ที่มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง อีก 7-8 พันแห่ง

นี่ คือโครงสร้างเบื้องหลังที่ทำให้คนเราสับสนไปได้บ้าง อย่างเช่น ภัยแล้งที่จ่อรูจมูกอยู่แค่ปทุมธานี ประกาศออกมาว่าจะงดผลิต-งดจ่ายน้ำประปา เพราะไม่มีน้ำดิบหรือน้ำต้นทุนมาผลิต หลายคนเช็กข่าวกันวุ่นวาย แต่ผิดฝาผิดตัวเพราะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของการส่วนประปาภูมิภาค แต่ดันไปถามการประปานครหลวง เป็นต้น

ข้อเท็จจริงที่ได้แต่กระซิบ กระซาบกันก็คือน้ำธรรมชาติที่กักเก็บไว้ได้แต่ละปี จะถูกแจกจ่ายให้กับผู้ใช้น้ำ 4 กลุ่ม ตัวใหญ่สุดก็คือภาคเกษตรใช้ไม่ต่ำกว่า 80% เล็กสุดน่าจะเป็นผลักดันน้ำเค็ม ที่เหลือจะเป็นน้ำอุตสาหกรรมกับน้ำกินน้ำใช้ เวลาน้ำแล้งขึ้นมาไม่มีใครพูดดัง ๆ สักคนว่าน้ำต้นทุนจะจัดสรรให้อย่างเพียงพอสำหรับนำมาผลิตน้ำประปา กลัวว่าภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรจะเสียใจ

วันนี้ขอแตะเบา ๆ ถึง 2 หน่วยงาน "กปภ.-กปน." เพราะดูแลผลิตและขายน้ำในพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น หรือชุมชนเมือง

ฝั่ง หนึ่งคือการประปานครหลวง เพิ่งฉลององค์กรร้อยปีไม่นานมานี้ แต่กฎหมายจัดตั้งถูกบีบให้ดูแล 3 จังหวัด ทุกวันนี้คาพาซิตี้เหลือเฟือ ผลิตน้ำเหลือขายทุกวัน แต่ขายไม่ได้เพราะเป็นเขตทางปกครองของการประปาส่วนภูมิภาค

ฝั่ง หนึ่งคือการประปาส่วนภูมิภาค องค์กรนี้ก็น่าเห็นใจ เพราะพื้นที่ให้บริการกว้างขวางทั่วประเทศ ทำยังไงก็ตามไปบริการไม่ทั่วถึงอย่างแน่นอน เพราะต้องผลิตน้ำเพื่อขาย มีเรื่องการลงทุนและจุดคุ้มทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ซึ่งภัยแล้งในวันนี้ได้พูดคุยกับประชาชนคนมีบ้านอยู่ธัญบุรี เขาก็งง ๆ ว่าทำไมถึงซื้อน้ำจากการประปานครหลวงไม่ได้

ตัวอย่าง นี้อาจจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของผู้ใช้น้ำ เพราะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นขีดความสามารถของผู้ให้บริการน้ำประปา ถ้าถูกจำกัดด้วยเหตุผลทางกฎหมายก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอีกเรื่องหนึ่งของ ประเทศนี้

กลับมาดูมุมผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องใกล้ตัว มาตรการรณรงค์น่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำได้เลย ไม่ต้องรอ ทำอะไรได้บ้าง ก็เริ่มตั้งแต่ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า (สโลแกนคุ้น ๆ) ใช้อย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น แต่มีเรื่องหนึ่งที่มักจะมองข้าม นั่นก็คือการตรวจสอบท่อรั่วท่อซึมในบ้านหรือในอาคาร เพราะเป็นตัวการผลาญน้ำประปาอย่างน่าตกใจ

ตรวจท่อแล้ว อย่าลืมลงทุนเปลี่ยนก๊อกน้ำด้วยล่ะ หาหัวก๊อกที่เปิด-ปิดน้ำได้ง่าย จะได้เลิกนิสัยเปิดน้ำทิ้งในระหว่างแปรงฟัน-ล้างมือเสียที เรื่องนี้ใครจะเถียงโปรดยกมือขึ้น !


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ภัยแล้งในมือผู้บริโภค

view