สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จาก ดีลฟิช ถึง ขายดี 4 ปี 3 ชื่อ อนาคตเว็บคลาสซิฟาย

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์ "ทิวา ยอร์ค" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ตเพลส จำกัด

คงไม่ใช่เรื่องปกติที่เว็บไซต์จะเปลี่ยนชื่อกันบ่อย ๆ เพราะนอกจากจะยุ่งยากเรื่องการจดโดเมนใหม่แล้ว ยังต้องเหนื่อยกับการทำแผนการตลาด ให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ใหม่ แต่กับธุรกิจดอตคอมนี้อาจเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของธุรกิจนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น การอยู่หรือไม่ของธุรกิจ

Kaidee.com (อ่านว่า "ขายดี") ทำไมต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก คงไม่มีใครตอบได้ดีเท่ากับ "ทิวา ยอร์ค" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ตเพลส จำกัด เพราะไม่ว่าชื่อนี้จะเปลี่ยนไปกี่ครั้ง เขาก็ยังคงนั่งกุมบังเหียนธุรกิจ

- เหนื่อยไหมกับการสร้างแบรนด์ใหม่

ถือเป็นแชลเลนจ์ของเรา เพราะพอเปลี่ยนก็ต้องมาเริ่มต้นสร้างแบรนด์กันใหม่ ผู้บริโภคต้องงงแน่นอน แต่การเปลี่ยนชื่อจาก OLX.com เป็น Kaidee.com ช่วยให้เราเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น เป็นภาษาไทยคนเข้าใจง่าย และตรงตามวัตถุประสงค์ของการให้บริการจึงพร้อมที่จะสร้างแบรนด์ใหม่ และลงทุนการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อปั้นให้เว็บไซต์นี้เป็นแหล่งรวมสินค้ามือสองทุกประเภทมากที่สุดในไทย

- เปลี่ยนเพราะความร่วมมือทางธุรกิจของบริษัท

ก็ไม่ผิด เพราะเมื่อมีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาก็มีการหารือกับทีมงานภายในว่า จะใช้ชื่ออะไรดีระหว่าง OLX.com กับ Kaidee.com สุดท้ายก็จบที่ชื่อภาษาไทย โดยการร่วมทุนนี้เกิดขึ้นระหว่าง 4 กลุ่มทุน คือ Nasper บริษัทแม่ของ OLX.com, Schibsted บริษัทแม่ของ Kaidee.com, Telenor ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ และ SPH กลุ่มสื่อสารมวลชนจากสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเว็บไซต์คลาสซิฟายในหลายประเทศ ที่สำคัญยังเป็นการผนึกกำลังเพื่อเปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นพันธมิตรอีกด้วย

- ทีมงานเปลี่ยนด้วย

ไม่เปลี่ยนการบริหารเว็บไซต์ Kaidee.comยังดำเนินการโดยทีมงานของ OLX.com ที่มีอยู่ประมาณ 100 คนเหมือนเดิม ผมเป็นคนคุมทั้งหมด แพลตฟอร์มให้บริการก็ไม่เปลี่ยนเช่นกัน แค่เปลี่ยนชื่อ

- เปลี่ยนมาแล้วหลายรอบ

ย้อนกลับไปเราเริ่มต้นมาจากเว็บไซต์ Classified.sanook.com และเปลี่ยนมาเป็น Dealfish.com เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 และเปลี่ยนมาเป็น OLX.com ในวันที่ 3 มี.ค. 2557 และสุดท้ายเปลี่ยนเป็น Kaidee.com ในวันที่ 12 มี.ค. 2558 เรียกว่าเปลี่ยนแปลงชื่อเว็บไซต์ 3 ชื่อ ภายในเวลา 4 ปี

- แผนเรื่องการหารายได้

ยังไม่คิดถึงเรื่องเงิน ต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ถึง Kaidee.com จะไม่ใช่เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ เพราะเป็นเพียงพื้นที่ให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน ก่อนที่จะไปตัดสินใจซื้อสินค้าในภายหลัง แต่ก็คิดเอาไว้เบื้องต้นคือ ขายพื้นที่ในอันดับแรก ๆ ของการแสดงประกาศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้ผู้ลงประกาศ แต่ยังไม่ได้ตีกรอบว่าต้องเปิดระบบนี้เมื่อไหร่ เพราะผมและบริษัทแม่ต่างต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีที่สุดก่อน

- งบฯการตลาดมาจากไหน

บริษัทแม่ยังสนับสนุนงบประมาณโดยตลอด และถึงเราจะไม่ได้กำหนดเป้ารายได้ แต่ก็กำหนดเป้าเป็นยอดผู้ใช้ และยอดประกาศขายสินค้า โดยตัวแรกต้องเพิ่มมากกว่า 100% จากปีก่อนที่มีผู้ใช้ทั้งหมด 1.2 ล้านไอดี เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 220% ส่วนประกาศขายสินค้าก็จะพยายามให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยลงขายสินค้าใน Kaidee.com จากปีก่อนที่มีทั้งหมด 6.5 ล้านประกาศ

แต่ที่หวังมากที่สุด คือ ให้ทุก ๆ คนในประเทศไทยนำสินค้ามาขายใน Kaidee.comของที่แปลกที่สุดที่มีการนำมาขายในขณะนี้คือ มูลไก่ เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ย

- วิธีกระตุ้นผู้ใช้ปีนี้

ในทุก ๆ ปีบริษัทจะใช้งบประมาณไปกับการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อหลักอื่น ๆ รวมถึงทางออนไลน์ และปีนี้จะเข้มข้นมากขึ้น บุกไปที่หัวเมืองใหญ่เปิดบูทแนะนำบริการไปในบริเวณตลาดสด หรือแหล่งขายสินค้ามือสองในพื้นที่นั้น ๆเช่น ตลาดมืด, ตลาดนินจา หรืองานกาชาดเจอกับผู้บริโภคโดยตรง ยิ่งสมาร์ทดีไวซ์กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย ใคร ๆ ก็ขายของผ่านโทรศัพท์มือถือได้

- ปัญหาการหลอกลวงบนเว็บ

มีตั้งแต่ทำเว็บไซต์ใหม่ ๆ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง เพราะ Kaidee.com เป็นเพียงตัวกลางให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน ดังนั้นอาจคุ้มครองได้ไม่ทั่วถึง เช่น กรณีล่าสุดผู้ขายสินค้าหลอกให้ผู้ซื้อส่งบัตรประชาชนตัวจริงไปให้ แล้วถูกนำเปิดบัญชีหลอกผู้อื่น

สุดท้ายแล้วเราก็ประสานงานกับตำรวจให้ ดังนั้นถึงจะมีทีมงานมอนิเตอร์ตลอดเวลา แต่ก็ห้ามส่งข้อมูลส่วนตัว และควรไปนัดเจอกันแลกเปลี่ยนเงินกับของน่าจะปลอดภัยที่สุด



- การแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้

มีหลายเว็บไซต์คลาสซิฟายที่เกิดมาก่อน แต่ผมเชื่อว่า Kaidee.com มีเทคโนโลยีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด แค่มีของ ถ่ายภาพ และอัพโหลดก็ขายสินค้าได้ทันที

กว่า 60% ระบบเข้าผ่านทางมือถือและยังพัฒนาระบบค้นหาสินค้าจากพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าไปตรวจสอบสินค้าได้ง่ายขึ้นด้วย

- มองภาพอีคอมเมิร์ซไทย

การซื้อขายผ่านช่องทางนี้เติบโตไปอีกไกลแน่นอน ยังมีทุนจากต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย และถึงหลายฝ่ายจะมองว่าทุนเหล่านี้มาแย่งตลาด แต่ผมกลับมองว่าจะช่วยกระตุ้น ดังนั้นผู้ทำธุรกิจสัญชาติไทยก็ต้องแอ็กทีฟมากขึ้น เพราะในวงการดิจิทัลไม่มีใครที่อยู่ในตลาดได้ถาวร

โอกาสมีสำหรับผู้คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ ยิ่งตอนนี้อินเทอร์เน็ตมัน Ubiquitous ใช้งานกว้างขวางเหมือนโทรทัศน์

- กฎหมายดิจิทัลกระทบธุรกิจ

ผมเห็นด้วยกับการร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะกับเรื่อง Digital Privacy หรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ต ในกลุ่มยุโรปค่อนข้างซีเรียสมาก เพราะถ้าไม่มีการคุ้มครอง หากข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไป ความเสี่ยงของประชากรจะเพิ่มขึ้นทันที

ดังนั้นถ้าประเทศไทยซีเรียสกับเรื่องพวกนี้บ้าง น่าจะช่วยให้การใช้งานอีคอมเมิร์ซเติบโตเช่นกัน เนื่องจากเมื่อมีการป้องกัน การใช้บัตรเครดิต หรือการกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวเพื่อส่งสินค้าจะมีความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากขึ้นด้วย


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : จาก ดีลฟิช ถึง ขายดี 4 ปี 3 ชื่อ อนาคตเว็บคลาสซิฟาย

view