สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอเดียนวัตกรรมจากการอ่านสิทธิบัตร

ไอเดียนวัตกรรมจากการอ่านสิทธิบัตร
โดย : เรวัติ ตันตยานนท์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สิทธิบัตร เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับความคิดใหม่ๆ ที่ผู้คิดค้นมองเห็นว่ามีโอกาสที่จะสร้างหรือต่อยอดให้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมาได้ในอนาคต

ผมมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ชั้นเรียนของนิสิตปริญญาเอกจากหลักสูตร “ธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม” หรือ “หลักสูตร TIP” (Technopreneurship and Innovation Management) ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชา “การสังเคราะห์นวัตกรรม” (Innovation Synthesis)

จึงได้แนวคิดถึงวิธีการค้นหาไอเดียการสร้างนวัตกรรมในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ และทำได้ไม่ยากนัก

ในชั้นเรียนดังกล่าว นิสิตกำลังฝึกหัดการหาไอเดียนวัตกรรมจากการอ่านสิทธิบัตร

สิทธิบัตร หรือ Patent เป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้ที่มีความคิดหรือไอเดียดีๆ จากการถูกลอกเลียนแบบและนำไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์

โดยรัฐที่มีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิบัตรที่เข้มงวดและจริงจัง จะเป็นการแสดงการให้ความสำคัญต่อนวัตกรหรือนักประดิษฐ์ ที่จะมีส่วนพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ สิทธิบัตร ยังอยู่ในรูปที่เป็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องมีการเผยแพร่เพื่อประกาศให้ทราบทั่วกันถึงข้อถือสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ที่ผู้อื่นจะละเมิดมิได้ ตลอดช่วงเวลาที่ได้รับการคุ้มครอง

ดังนั้น สิทธิบัตร จึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับความคิดใหม่ๆ ที่ผู้คิดค้นขึ้นมามองเห็นว่ามีโอกาสที่จะสร้างหรือต่อยอดให้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมาในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต และเป็นเอกสารที่เปิดเผย สามารถค้นคว้าหามาอ่านได้โดยไม่ยากนัก

เพียงแต่ไม่สามารถลอกเลียนแบบไอเดียที่ได้รับการคุ้มครองในสิทธิบัตรแต่ละฉบับได้ จนกว่าสิทธิบัตรนั้นๆ จะหมดอายุการคุ้มครอง หรือต้องดัดแปลงเพิ่มเติมไอเดียใหม่ ต่อยอดจาก Claims หรือ ข้อถือครองสิทธิ ที่เจ้าของสิทธิบัตรได้ประกาศไว้ให้ทราบ

ตัวอย่างของไอเดียนวัตกรรมที่ได้จากสิทธิบัตรที่นิสิตได้นำเสนอ มีหลายตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น

สิทธิบัตรสำหรับกระบวนการสกัดและเพิ่มความเข้มข้นของกรดไขมัน โอเมก้า-3 (Omega-3) จากแหล่งกำเนิดที่เป็นพืช (Process for Concentrating Omega-3 Fatty Acids)

นิสิตผู้ศึกษาสิทธิบัตรฉบับนี้ นำเสนอว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า กรดไขมันหรือน้ำมัน โอเมก้า-3 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมเภสัชกรรมและอาหารเสริมซึ่งมีมูลค่าไม่น้อย

โดยที่แหล่งของ โอเมก้า-3 ส่วนใหญ่จะมาจากสัตว์ โดยเฉพาะในปลา

แต่มีปัญหาสำหรับผู้ที่นิยมมังสวิรัติ หรือผู้ที่ปฏิบัติตามศรัทธาศาสนาที่ไม่สามารถบริโภคหรือเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ จึงมีความพยายามที่จะแสวงหาวิธีการสกัด โอเมก้า-3 ที่มีแหล่งมาจากพืช เช่น จากเมล็ดวอลนัท หรือ เมล็ดลินิน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง

จากสิทธิบัตรที่ขอคุ้มครองวิธีการสกัด โอเมก้า-3 จากพืช นิสิตได้เสนอไอเดียต่อยอดและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า ในเมล็ดยางพารา มีงานวิจัยที่แสดงว่ามีน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมัน โอเมก้า-3 ในปริมาณมากพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้มากกว่าการที่จะต้องทิ้งไปเป็นขยะจากการเกษตร

แนวทางที่จะนำข้อมูลจากสิทธิบัตรฉบับนี้ไปใช้ โดยไม่ละเมิดสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง อาจจะเป็นการเริ่มวิจัยหากวิธีการทางเลือกอื่นในกระบวนการสกัด โดยใช้วิธีที่เปิดเผยในสิทธิบัตรมาเป็นต้นแบบ และนำมาทดลองกับเมล็ดยางพารา เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นสิทธิบัตรของระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามและควบคุมในงานด้านเกษตรกรรม ที่เรียกว่า การเกษตรด้วยข้อมูลที่แม่นยำ (Precision Agriculture) ในสภาพพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง เช่น ในแปลงเกษตรหรือโรงเรือน โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ เซ็นเซอร์สำหรับเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ในเชิงเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สิทธิบัตรฉบับนี้ อ้างสิทธิคุ้มครอง ระบบเครือข่ายไร้สายในการควบคุมแมลงศัตรูพืชผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงและควบคุมพื้นที่เกษตรที่อยู่ห่างกันได้จากจุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว (Monitoring and Control System for Agricultural Industry)

ระบบเครือข่ายไร้สายนี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เซ็นเซอร์ และหัวฉีด ที่จะทำการฉีดสารเฟอร์โรโมน (Pheromone) ที่สามารถออกฤทธิ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ รวมถึงระบบโทรมาตรและโทรคมนาคม ที่จะทำให้เชื่อมโยงการควบคุมนี้ด้วยระบบเครือข่ายไร้สาย

ในขณะที่ระบบควบคุมไร้สาย ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและระบบการควบคุมการจ่ายพลังงาน แต่สิทธิบัตรนี้ได้อ้างการนำไปใช้ในงานเกษตรกรรม โดยเฉพาะการควบคุมแมลงพืช

ซึ่งสามารถขยายต่อยอดแนวคิดนี้ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรืองานอื่นๆ ที่ยังไม่มีคนคิดถึงหรือยังไม่ได้รับการพัฒนาแนวคิดต่อยอด

สิทธิบัตรอีกฉบับหนึ่ง มีความคล้ายคลึงกันพอสมควร เป็นสิทธิบัตรที่ขอคุ้มครองระบบการจัดการในงานตรวจสอบธาตุอาหารในดิน (Soil Sample Tracking System and Method) โดยเสนอแนวคิดการบริหารจัดการระบบการจัดเก็บตัวอย่างดินที่ทำกันอยู่ด้วยการใช้คน ตั้งแต่การระบุรายละเอียดของตัวอย่างดิน การจัดส่งไปยังห้องแลปวิเคราะห์ การส่งผลวิเคราะห์กลับไปยังเจ้าของพื้นที่ได้โดยตรง ด้วยการนำเทคโนโลยีไอทีมาใช้เพื่อลดความล่าช้าและความผิดพลาดจากผู้ทำงาน

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสิทธิบัตรที่ดูพื้นๆ แต่สามารถนำไปจดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการคุ้มครองได้

นิสิตผู้ศึกษา นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมต่อยอด โดยพ่วงผลการวิเคราะห์ดิน เข้ากับเครือข่ายของผู้ผลิตปุ๋ย ที่สามารถผลิต “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตรนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ และลดการสูญเสียจากการใช้ปุ๋ยที่มีสารอาหารที่พืชอาจไม่ต้องการ

การศึกษาสิทธิบัตร อาจนำไปสู่การสร้างไอเดียนวัตกรรมได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และยิ่งในปัจจุบัน ข้อมูลของสิทธิบัตรบางส่วนจากทั่วโลก สามารถสืบค้นได้ด้วยตัวเองในอินเตอร์เน็ต

บางส่วน อาจต้องเสียเงินเพื่อซื้อข้อมูล แต่เราอาจตัดสินใจซื้อข้อมูลก็ต่อเมื่อได้ทำการค้นคว้าเบื้องต้นแล้วว่า ข้อมูลนั้นๆ จะต้องมีค่ามากกว่าเงินที่ต้องใช้ไป

อีกแหล่งหนึ่ง ที่จะเป็นแหล่งข้อมูลสิทธิบัตรได้เป็นอย่างดี ก็คือ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หากผู้ประกอบการจะมีเครือข่ายรู้จักนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก นักวิจัย หรืออาจารย์เป็นพิเศษ ก็อาจได้ข้อมูลที่ต้องการมาได้ฟรีๆ

การสร้างหรือมีเครือข่ายนวัตกรรม ก็เป็นอาวุธสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริหารที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนเอง

ด้วย “วิถีนวัตกรรม” !!!



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไอเดียนวัตกรรมจากการอ่านสิทธิบัตร

view