สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนองบัวแดง สุขของคนทอผ้า

หนองบัวแดง”สุขของคนทอผ้า

โดย :

หนองบัวแดง”สุขของคนทอผ้า
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แม่ค้า‘รุ่นเดอะ’อายุล่วงวัยเกษียณไปหลายปีแต่ยังแนะนำผลิตภัณฑ์ตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว นี่คือคนทอผ้าจากหนองบัวแดง ดินแดนแห่งความสุขของคนทอผ้า

“ยายทอผ้าเป็นตั้งแต่อายุ 10 ขวบแล้ว พอขึ้น 13 ก็ทำได้หมดทุกลาย”

เรื่องเล่าแสนภูมิใจของ “คุณยายกาไว นิสีดา” แม่ค้าวัย 68 ปี ที่อยู่กับผ้ามาเกือบทั้งชีวิต คุณยายแบ่งปันเรื่องเล่าระหว่างมาเปิดบูธ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือวิถีชุมชน ของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน

กว่าค่อนชีวิตของคุณยายอยู่กับการทอผ้า อาชีพที่ทำให้บอกกับเราได้อย่างภาคภูมิว่า ทุกวันนี้ยายหาเงินใช้เองได้ ไม่ต้องไปรบกวนลูกหลาน และยังมีความสุขที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวของการทอผ้าซึ่งเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาของชาวหนองบัวแดง ที่ได้รับสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น

เราได้รู้จักกับ “คุณยายกาไว” และแม่ค้าวัยเดียวกัน อย่าง “คุณยายบุญมา ศรีอุดร” และ “คุณยายคำหมุน พันธ์ยาง” รวมถึงเพื่อนสมาชิกรุ่นเดอะวัยกว่า 80 ปี ที่เป็นกำลังผลิตผ้าผืนงามอยู่ใน ต.หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ หลัง “อนัญญา เค้าโนนกอก” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง รวมกลุ่มชาวบ้านขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเมื่อกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา

วันนี้ขยับไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาด้านการตลาด โดยเปิดโอกาสให้คุณย่าคุณยาย ได้มาพบปะลูกค้า เพื่อรับฟังความต้องการ ไปปรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

“เวลาไปออกงานโอทอป คนสนใจเยอะนะ เพราะผ้าฝ้ายของยายเป็นออร์แกนิกด้วย เราย้อมสีธรรมชาติ เวลาซักจะนุ่ม หนาวก็อุ่น หน้าร้อนก็ใส่สบาย ยายเห็นคนเยอะแบบนี้ ก็รู้สึกสดชื่น ดีใจมาก ไม่เหนื่อยเลยสักนิด”

แม่ค้าผ้าทอบอกกับเรา ยิ้มยืนยันว่า สนุกมากกว่าเหนื่อย

“ศศิกุล อ่อนเฉลียง” เลขาฯ ของกลุ่ม ที่อายุน้อยสุดในบูธวันนี้ บอกกับเราว่า การพาคุณยายมาออกตลาดเอง ก็เพื่อให้เห็นความสนในของผู้คน รับฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้า คุณยายจะได้ภูมิใจ และเริ่มกลับไปคิดพัฒนาสินค้า ให้เป็นที่ถูกใจของตลาด เวลาเดียวกับโน้มน้าวใจลูกหลานให้มาสานต่อภูมิปัญญาดีๆ เหล่านี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปในวันหนึ่ง

“เราต้องการเป็นตัวเชื่อมให้คนสองรุ่น คือ รุ่นนี้ที่กำลังจะจากพวกเราไป และรุ่นลูกหลาน ให้ได้มาซึมซับและสืบสานภูมิปัญญานี้ไว้” เธอบอก

แล้วจะทำอย่างไร ที่จะตรึงใจชาวหนองบัวแดงให้ยังคงเห็นคุณค่าของผ้าทอและการทอผ้า กุศโลบายที่พวกเขาทำ คือการปลุกฟื้น “จุลกฐิน” ขึ้นมา กับประเพณีการทอดกฐินที่ต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว

“จุลกฐิน มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ พอคุณยายได้เห็นว่า นี่เป็นการบูชาพระพุทธศาสนา และเป็นการใช้ภูมิปัญญาการทอผ้าของพวกเขาด้วย ก็ยิ่งปลื้ม และเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่ท่านทำมาตลอดนั้น มีคุณค่า และควรเก็บรักษาเอาไว้”

จากที่เคยคิดหันหลังให้อาชีพนี้ เลิกปลูกฝ้ายเพราะได้ผลผลิตน้อย แถมราคาก็ยังไม่ดี แต่พอได้เห็นว่า นี่จะเป็นโอกาสให้ได้ทำบุญที่กุศลใหญ่ เลยเริ่มหันมาปลูกฝ้ายด้วยความเต็มใจกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของผ้าออร์แกนิก ที่ธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำจนสุดปลายน้ำ คือ ต้นฝ้ายที่ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการเพาะปลูก กระบวนการผลิตที่รักษ์โลก ตลอดจนมาเป็นผืนผ้าอินทรีย์ ที่ดีต่อทั้งโลก คนทอ และคนใช้

วิสาหกิจชุมชนเริ่มมาได้กว่า 20 ปี ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการเปลี่ยนมุมมองที่คิดอะไรแบบ “ฉาบฉวย” ของชาวบ้าน มาสู่การทำงานเพื่อความยั่งยืนโดยแท้จริง

“เราพยายามสร้างให้ภูมิปัญญาเหล่านี้มีมูลค่า เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจเล็กๆ ขึ้น มาหล่อเลี้ยงชีวิตคนที่นี่ ให้เขาภูมิใจใน ‘คุณค่า’ แต่ไม่ไปหลง ‘มูลค่า’ อย่าง พอเห็นว่าขายดีก็เกิดความโลภ ทำส่งๆ ไป ขอแค่ให้ขายได้ แบบนั้นไม่เอา ไม่ทำ”

วิธีคิดที่อยู่บนพื้นฐานของการทำงานแบบ “เกื้อกูลกัน” คือ ใครเก่งอะไรก็ให้ทำอย่างนั้น คนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ทำเฉพาะที่ถนัด ที่เชี่ยวชาญ แล้วเอาความถนัดนั้นมาแบ่งปันเกื้อกูลกัน

“เรามีสมาชิก ประมาณ 50-60 คน ใครเก่งอะไร ก็ให้ทำอย่างนั้น ถนัดย้อมก็ย้อม ถนัดทอก็ทอ เพื่อที่เขาจะได้ทำในสิ่งที่ถนัดและรัก” เธอบอกหัวใจของการทำงาน

หลายแบรนด์ที่ลงไปทำงานกับชุมชน ก็มักจะประสบปัญหาในการบริหารจัดการการผลิต เมื่อแรงงานชุมชนมักจะควบคุมไม่ได้ เช่น เมื่อถึงฤดูทำนา หรือเทศกาลสำคัญๆ ทุกคนก็พร้อมจะทิ้งงานไปง่ายๆ

คำตอบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองบัวแดง เปลี่ยนความคิดของเราไปโดยสิ้นเชิง เมื่อพวกเขาสะท้อนว่า การทำงานกับชุมชน ต้องเรียนรู้ที่จะ “เคารพ” ซึ่งกันและกัน ต้องทำงานบนความเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ทุกคนเป็น เธอว่า ที่นี่ อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เมื่อถึงฤดูทำนา ก็วางงาน ไปช่วยกันทำนา ถึงคราวปลูกฝ้าย ก็ไปช่วยกันปลูกฝ้าย

“ถ้าเราเรียนรู้กัน รู้จักวิถีของกันและกัน เราก็จะ ‘เคารพกัน’ จริงไหม” เธอตั้งคำถาม

เมื่อเคารพก็เลยยอมรับ และเลือกปรับตัวเขากับวิถีชุมชน ส่วนการทำให้งานบรรลุเป้าประสงค์ ก็แค่ปรับแผนงาน ให้ล้อไปกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่ต้องไปเปลี่ยนผู้คนที่นี่

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ คือ ไม่เพียงสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน ด้วยการฟื้นอาชีพทอผ้าขึ้นมาเท่านั้น ทว่ายังรวมถึง การส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยลำแข้ง ด้วยการสร้างปัจจัย 4 ด้วยสองมือของชุมชน

ใครจะคิดว่า ที่หนองบัวแดง พวกเขา ผลิตอาหารทานเอง ทำเครื่องนุ่งห่มใช้เอง เน้นทุกอย่างที่ปลอดภัย เป็นอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นยาให้กับคนในชุมชน ที่สำคัญ ยังสนับสนุนให้คนไปทำบุญ เพื่อที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุข ทั้งกายและใจ

“มีเงินวันละ 100-200 บาท เราก็อยู่ได้ เพราะไม่ต้องซื้ออะไร เรามีปลาให้กิน เสื้อผ้าก็ทอเองได้ โรงงานทอผ้าเจ๊ง เรายังอยู่ได้เลย แล้วจะเอาอะไรอีก..แค่นี้ก็สุขแล้ว”

จากนั้นก็ถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปยังลูกหลาน เพื่อให้รู้หลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” รู้จักพอตามกำลังของตัวเอง ไม่เป็นหนี้ไม่เป็นสิน นี่ต่างหากที่พวกเขาเชื่อว่า จะตอบความสุขที่แท้จริงของชีวิต

อีกโจทย์สำคัญ คือการทำให้คนรุ่นใหม่ เต็มใจที่จะสืบสานอาชีพทอผ้า ไม่หลงลืม และทอดทิ้งไปในอนาคต

วิธีการก็คือ ดึงคนรุ่นใหม่จากภายนอก เช่น วัยรุ่นคนกรุง นิสิตนักศึกษา ให้ลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมที่หนองบัวแดง เพื่อสะท้อนกลับให้วัยรุ่นในพื้นที่ได้เห็นคุณค่าของท้องถิ่นตัวเองมากขึ้น

“ที่ผ่านมา มีนักศึกษาลงไปทำงานกับชุมชนเราเยอะมาก แรกๆ เขาไม่ค่อยจะยอมวางมือถือกันหรอก ก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ เลยบอกให้ไปช่วยงานชาวบ้าน ครั้งแรกเขาก็รู้สึกเหนื่อยนะ แต่พอกลับกรุงเทพเท่านั้นแหล่ะ โทรมาบอกคิดถึงยายจัง”

วันนี้ผ้าทอออร์แกนิกของชาวหนองบัวแดง ขายออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ ในราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนหลักพันบาท นำรายได้มาฟื้นเศรษฐกิจชุมชน พร้อมรักษามรดกอันงดงามของชาวหนองบัวแดงเอาไว้ได้

เมื่อลองถามคุณยายกาไว ว่าอะไรคือความสุขสำหรับยาย คำตอบที่ได้กลับไม่ใช่ยอดเงินในกระเป๋า ไม่สนด้วยซ้ำว่าวันนี้จะขายได้เท่าไร ยายว่า แค่เห็นคนมาเยอะแบบนี้ ยายก็ดีใจที่สุดแล้ว



ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : หนองบัวแดง สุขของคนทอผ้า

view