สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาหมิง นักสู้แห่งผาตั้ง กับความหวังธุรกิจเกษตรยั่งยืน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชินภัทร์ ไชยมล  

จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งโจทย์ว่า จะหาความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างไร ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ไม่ว่ามองในมิติไหนก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนหนุ่มในวัยย่าง 30

คมสัน แซ่ลี หรือ อาหมิง หนุ่มวัย 35 ปี ใช้ความพยายามมายาว นานกว่า 5 ปี เพื่อค้นหาความมั่นคงและความยั่งยืนในการทำอาชีพเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง หลังจากประสบการณ์ที่เห็นการทำการเกษตรโดยปลูกพืชระยะสั้นของคนรุ่นก่อนมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย

อาหมิงเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นลูกหลานจีนคณะชาติพลัดถิ่นที่ได้สิทธิเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำกินในพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ สำหรับดอยผาตั้งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ คือ ทำการเกษตร ปลูกไม้ผลเมืองหนาว เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดสำหรับส่งขายเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นข้าวจ้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะกับการปลูกบนดอยสูง โดยมากจะหวังเพื่อการบริโภคกันเองภายในครัวเรือนเท่านั้น

อาหมิงพยายามมองหาจุดทางเลือกที่คิดว่า “ใช่” สำหรับภาคเกษตรกรรม คำว่า “ใช่” ในที่นี้ หมายถึงความต้องการที่จะอยู่กับอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมีอนาคต มั่นคง และยั่งยืน บนพื้นที่สูงบ้านเกิด

“ผมพยายามคิดเรื่องการแปรรูปและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตที่มีอยู่ ซึ่งก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยการหันมาปลูกข้าวไร่ หรือข้าวดอย ในระหว่างที่ปลูกข้าวไร่  ก็ส่งออกขายบ้าง จากนั้นเล็งเห็นว่ากาแฟสายพันธุ์อราบิกา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็น หรือชอบพื้นที่ปลูกที่มีความสูงมากพอ จึงได้แบ่งพื้นที่ในการปลูกกาแฟจำนวนกว่า 15 ไร่ ในระยะแรก ด้วยความหวังว่ากาแฟน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต” 

จากจุดเริ่มต้นที่อาหมิงเล่าถึงประสบการณ์ในการทำการเกษตร ก่อนที่จะมาปลูกกาแฟ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ผาตั้งคอฟฟี่” จนได้รับความนิยมจากคอกาแฟ ช่วงหลายปีก่อนธุรกิจร้านกาแฟในขณะนั้นยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เมื่อมองถึงความยั่งยืนก็ทำให้อาหมิง ทดลองปลูกกาแฟทดแทนการปลูกข้าวไร่

“สินค้าตัวแรกที่มีความหวังว่าจะต่อยอดไปได้ในระยะยาวน่าจะเป็นกาแฟ เราจึงได้ทำการค้นหาลักษณะเด่นของกาแฟ กระทั่งต่อมาพบว่ากาแฟที่ปลูกอยู่บนดอยผาตั้ง มีความได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ปลูก ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 1,200 เมตร การค้นพบความต่างว่าด้วยกาแฟ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกบนระดับความสูง จึงจุดประกายให้มีการสร้างแบรนด์ ‘ผาตั้งคอฟฟี่’ เริ่มเกิดขึ้นนับจากนั้นเป็นต้นมา เพราะพบว่าเสน่ห์ของความสูง คือ ความหอมกรุ่นของกาแฟนั่นเอง” 

อาหมิงบอกว่า เมื่อการสร้างแบรนด์เกิดขึ้น การพัฒนาและเอาใจใส่ในคุณภาพก็ต้องตามมา ทั้งการดูแลพื้นที่ปลูก พัฒนาขั้นตอนการผลิต การคั่วบดเมล็ดกาแฟ และการตลาด

“ผมไม่ใช่นายทุนใหญ่ที่จะสร้างทุกอย่างให้ง่ายหรือราบรื่นได้ เพราะปัจจัยการพัฒนาทั้งหมดต้องกลับมาเกี่ยวข้องกับเงินทุนหมุนเวียน เอกสารถือครองที่ดินบนพื้นที่สูง แม้จะชอบด้วยกฎหมายแต่ใช่ว่าจะนำแปรสภาพเป็นเงินทุนได้ การยกระดับสู่การสร้างแบรนด์พร้อมๆ กับการพัฒนางานทั้งระบบเป็นการต่อสู้ที่ต้องใช้เวลานานนับปี กว่าจะเป็นผลสำเร็จได้”

2 ปีที่การสร้างแบรนด์สินค้า เพื่อหวังว่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น อาหมิงเลือกที่จะนำผลิตภัณฑ์ ผาตั้งคอฟฟี่เจาะตลาดร้านกาแฟในภาคอีสาน ซึ่งก็ทำให้มีออร์เดอร์กลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

“ขณะนี้เมล็ดกาแฟสดที่เราผลผลิตได้ในแต่ละปี นอกจากจะจำหน่ายอยู่ภายในประเทศแล้ว การทำการตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นความหวังอีกขั้นหนึ่ง ขณะนี้มีเป้าหมายที่พม่าและจีน รวมถึงญี่ปุ่น ที่มีการนำตัวอย่างกาแฟไปทดลองตลาดบ้างแล้ว โดยช่วง

หนึ่งของการทุ่มเทเพื่อการพัฒนาแบรนด์ วันนี้ทำให้เราได้รู้แล้วว่าผลจากการสร้างแบรนด์นั้น ทำให้โอกาสทางการค้ามีมากกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด” อาหมิงบอกถึงความหวังที่จะขยายตลาดออกไปในอนาคตอันใกล้นี้

ยิ่งกว่านั้น เขาวาดภาพเอาไว้ว่า ในปลายปี 2558 ภายในพื้นที่ของไร่บนดอยผาตั้ง จะปรับปรุงพื้นที่เพื่อการรองรับผู้มาเยือน และจะพยายามพัฒนาพื้นที่ปลูกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จิบกาแฟในบรรยากาศของป่ากาแฟ และไม้ผลเมืองหนาว

“เราทำการเกษตรพร้อมกับการสร้างป่า เพื่อหวังว่าวันหนึ่งป่านั้นจะกลับมาทำให้เรามีโอกาสอีกมากมายในการพัฒนาต่อยอดพื้นที่” อาหมิงตั้งความหวังกับการปักหลักธุรกิจในบ้านเกิด ด้วยความมุ่งมั่นจะทำให้ภาพภูเขาหัวโล้นจากการปลูกพืชระยะสั้นในอดีตมีความเขียวขจี ของต้นไม้ใหญ่มากมาย


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : อาหมิง นักสู้แห่งผาตั้ง กับความหวังธุรกิจเกษตรยั่งยืน

view