สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปีติพงศ์ เผยชาวนาดื้อปลูกข้าวนาปรังเฉียด 1 ล้านไร่ เสี่ยงขาดน้ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

ปีติพงศ์′ เผย ชาวนาดื้อปลูกข้าวนาปรัง 9.8 แสนไร่ เป็นกลุ่มเสี่ยงขาดน้ำ 5 แสนไร่ จ่ายเงินชดเชยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ถึงมือเกษตรกรแล้ว 6,600 ล้านบาท 5.5 แสนครัวเรือน หรือ 15% จากจำนวนรับขึ้นทะเบียน คาดจ่ายครบภายในเดือน ธ.ค. 57 ด้านจ้างงานกรมชลฯชาวนาสมัครแล้ว 50% กรมส่งเสริมการเกษตรดีเดย์อบรมอาชีพเสริม 21 พ.ย. นี้

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลองฤดูกาลปลูก 57/58 ที่กระทรวงเกษตรฯได้รณรงค์ขอความร่วมมืองดปลูก พบว่า ขณะนี้มีการเริ่มปลูกไปแล้ว 9.8 แสนไร่ โดยจัดเป็นกลุ่มเสี่ยง 5 แสนไร่ ซึ่งอาจจะขาดน้ำ ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพการผลิต

 

"ตัวเลขถ้าเปรียบเป็นรายปี ถือว่าลดเหลือ 10% ของปีก่อนที่ปลูกกัน 9 ล้านไร่ ยังไม่ได้หารือกันเรื่องคนที่ปลูกในพื้นที่เสี่ยงเลย แต่เราจะเน้นการส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย น้ำนอนคลอง ซึ่งก็ไม่ใช่ทำได้ทุกพื้นที่"

"น้ำที่ปล่อยตามคลองชลประทานหยุดไปแล้ว แต่คลองสายใหญ่เราจะใช้ผลักดันน้ำเค็ม ถ้าสูบกันไปหมดก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะกับน้ำอุปโภคบริโภคเพราะคนจะเดือดร้อนมาก" นายปีติพงศ์กล่าว

 

 นายปีติพงศ์เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการจ่ายเงินชดเชยรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ผลการดำเนินงานถึงวันที่ 16 พ.ย. 57 รับขึ้นทะเบียนชาวนาแล้ว 3.7 ล้านครัวเรือน ส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบสิทธิระดับตำบลแล้ว 2.9 ล้านครัวเรือน คณะกรรมการระดับอำเภอรับรองแล้ว 1.9 ล้านครัวเรือน และส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว 1.6 ล้านครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. จ่ายเงินเข้าบัญชีชาวนาแล้ว 5.5 แสนครัวเรือน จำนวนเงิน 6,600 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน คาดว่าโครงการฯจะคืบหน้าได้ 75% ภายในเดือนพ.ย.57 และเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในเดือนธ.ค.57

 

 นายปีติพงศ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงงดปลูกนาปรัง คือการมอบหมายให้กรมชลประทานจัดจ้างแรงงานขุดลอกคูคลอง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 57 มีตำแหน่งงานรับสมัครในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว 35,354 ราย มีเกษตรกรสมัครร่วมงานแล้ว 17,921 ราย ถือว่าเกินกว่า 50% ส่วนเขตลุ่มน้ำแม่กลองจะเริ่มรับสมัครช่วงสิ้นเดือน พ.ย. นี้

 

 ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มาตรการเสริมในการช่วยเหลือเกษตรกรของกรม ได้แก่ เลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ ประมง เช่น เลี้ยงกบ ปลาดุก ปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น ถั่วเขียว ปลูกปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน เช่น ปอเทือง เข้ารับการอบรมวิชาชีพ 16 หลักสูตร เช่น เพาะเห็ด ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจัดสอนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

 

โดยจะปูพรมเริ่มการสอนและอบรมวันที่ 21 พ.ย. นี้ ในทั้งหมด 26 จังหวัด เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรสมัครเข้ามาเกือบเต็มตามเป้าหมาย 36,000 ครัวเรือนแล้ว

 

 "ยกเว้นปลูกปุ๋ยพืชสด สมัครมาน้อยทั้งที่จริงเราอยากให้ทำ เราหวังพื้นที่ปลูกไว้ 1.5 แสนไร่ แต่ขอมาแค่ 27,000 ไร่ แสดงว่าเกษตรกรไม่ค่อยสนใจบำรุงนาตัวเอง" นายโอฬารกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ปีติพงศ์ เผยชาวนาดื้อปลูกข้าวนาปรังเฉียด 1 ล้านไร่ เสี่ยงขาดน้ำ

view