สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พาณิชย์ชง บิ๊กตู่ ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวกันราคาร่วง

จากประชาชาติธุรกิจ

"พล.อ.ฉัตร ชัย" หัวหมุน ถกหาวิธีตั้งรับราคาข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ตกต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5-1.6 หมื่นบาท/ตัน ปิ๊งไอเดียจับคู่ซื้อข้าวสาร-ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวฝากเก็บโกดังส่งออก-ผู้ ผลิตข้าวถุง แต่ติดปมแทรกแซงตลาด หวั่น "บิ๊กตู่"

เบรกด้าน ธ.ก.ส.นำร่องจ่ายชดเชยชาวนา 6 จังหวัด 500 ล้าน คลังหาช่องกู้ซินดิเคตโลนจ่ายหนี้เก่าจำนำข้าวการกำหนดเป้าหมายราคาข้าว เปลือกหอมมะลิปีการผลิต 2557/2558 ปริมาณ 6 ล้านตันที่กำลังออกสู่ตลาดระหว่างปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ณ ราคา 15,000-16,000 บาท/ตัน หรือคิดเป็นราคา FOB ที่ราคา 940-960 เหรียญ FOB ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงการค้าข้าว ทั้งโรงสีและผู้ส่งออกรายใหญ่ต่างได้ "รับเชิญ" จาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้ามาเสนอความเห็นภายใต้โจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำลงกว่าราคาเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังการหารือกับผู้ส่งออกข้าวสิ้นสุดลงว่า มีการเสนอแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้ราคาข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ตกต่ำลงกว่า ราคาเป้าหมายด้วยการ

1)ให้รัฐบาลขยายวงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาเข้าเก็บในยุ้งฉาง จากเดิมรัฐบาลตั้งวงเงิน 80% เพิ่มเป็น 90% ของราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเป้าหมายที่ตันละ 16,000 บาท วิธีการนี้จะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคามากขึ้นจากตันละ 13,000 บาท เป็นตันละ 14,400 บาท รวมกับวงเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลจ่ายให้ไร่ละ 1,000 บาท จะเป็นราคาข้าวที่ชาวนาได้รับ 15,400 บาท โดยวิธีการนี้รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพื่อดูดซับซัพพลายข้าวส่วนเกินประมาณ 1 ล้านตัน เข้าสู่ยุ้งฉาง คิดเป็นวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท

2)สมาคม ผู้ส่งออกข้าวเสนอ "วิธีการจับคู่" ซื้อข้าวสารหอมมะลิตันละ 28,000-29,500 บาทจากโรงสี ซึ่งจะทำให้โรงสีสามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้ตันละ 15,000 บาท แต่เพื่อเป็นการจูงใจในกรณีที่ราคาข้าวหอมมะลิในตลาดลดลง จึงเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงิน "ชดเชยส่วนต่าง" ราคาข้าวให้กับผู้ส่งออก เบื้องต้นคาดว่าจะดูดซัพพลายส่วนเกินได้ 350,000 ตัน ในวงเงินประมาณ 700 ล้านบาท และ 3)เสนอให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดข้าวหอมมะลิภายในประเทศ ด้วยการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากชาวนาในพื้นที่โดยตรง เสร็จแล้วนำข้าวที่รับซื้อเข้ามาฝากเก็บไว้ในโกดังของผู้ส่งออก/ผู้ค้าข้าว ถุง อาทิ อุทัยโปรดิวซ์, CP, เอเซีย โกลเด้นไรซ์, พงษ์ลาภ, หงษ์ทอง, มาบุญครอง ซึ่งปกติจะต้องใช้ข้าวหอมมะลิเป็นวัตถุดิบทั้งส่งออกและผลิตข้าวถุงจำหน่าย อยู่แล้ว โดยให้ผู้ส่งออก-ผู้ผลิตข้าวถุงตรวจรับรองคุณภาพข้าวที่ซื้อเข้าเก็บในโกดัง โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าเช่า-ค่าฝากเก็บ เมื่อพ้นช่วงที่ข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดมากไปแล้ว ให้นำข้าวหอมมะลิเหล่านี้ทยอยระบายออกขายในราคาตลาด เบื้องต้นวิธีการนี้จะช่วยดูดซับข้าวได้ประมาณ 300,000-400,000 ตัน ใช้วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท

"ในขณะนี้ พล.อ.ฉัตรชัย และทีมงานที่ปรึกษากำลังพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้วิธีการผสมผสานกันทั้ง 3 แนวทาง แต่ยังติดขัดในเรื่องของการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงตลาดบางช่วงบางตอน ไม่ให้รับซื้อทั้งหมด แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ว่า จะไม่ใช้วิธีแทรกแซง แต่ต้องการให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้นจะต้องนำเสนอแนวทางเหล่านี้ให้ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในสัปดาห์หน้า" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวโรงสีข้าวกล่าวถึง การหารือระหว่างโรงสีข้าวกับ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า กลุ่มโรงสีข้าว "เห็นด้วย" กับมาตรการขยายสินเชื่อเพื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 80% ของราคาเป้าหมาย ถ้าราคาตันละ 15,000 บาท ชาวนาจะได้ 12,000 บาท แต่กระทรวงพาณิชย์ได้แสดงความกังวลว่า ราคาข้าวจะตกลง จึงเสนอราคาเป้าหมายไว้ที่ตันละ 16,000 บาท ชาวนาขายได้เพิ่มขึ้นเป็นตันละ 12,800 บาท คาดว่าจะมีข้าวเข้าโครงการยุ้งฉางประมาณ 2 ล้านตัน ใช้เงินประมาณ 4,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวยังไม่ได้บวกรวมค่าขนย้าย เช่น ถ้าราคาข้าวที่ จ.อุบลราชธานี ตันละ 16,000 บาท ถ้า จ.นครราชสีมา ต้องเพิ่มเป็นตันละ 16,500 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีข้อเสนอการให้แพ็กกิ้งเครดิตกับโรงสีข้าว ซึ่งเป็นวิธีการที่เคยปฏิบัติในอดีต กล่าวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้กำกับดูแลและจัดสรรเม็ดเงินให้กับธนาคาร พาณิชย์ที่เป็นเจ้าของหนี้ เช่น โรงสีเป็นหนี้อยู่ 100 ล้านบาท รัฐบาลให้แพ็กกิ้งเครดิต 80 ล้านบาท เพื่อช่วยสภาพคล่องโรงสีข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกปรากฏ นางอภิรดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ โดยกล่าวว่า จะนำไปหารือกับทางกระทรวงการคลังก่อน พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการนี้จะเป็นการอุดหนุน อาจจะขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ไทยไปผูกพันไว้

"มีข้อเสนอมากมายในการหารือร่วมกัน อาทิ ข้อเสนอให้กรมการค้าต่างประเทศเจรจาขายข้าวปี 2557/2558 ให้กับคอฟโก้ รัฐ วิสาหกิจจีนอีก 30% ของปริมาณข้าวในสัญญา G to G ที่ยังค้างส่งมอบอยู่อีก 700,000 ตัน ซึ่งจะช่วยดูดซับซัพพลายข้าวส่วนเกินได้ ส่วนกรณีโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าว 3% และให้โรงสีข้าวซื้อข้าวเปลือกในราคานำตลาดอีกตันละ 100-200 บาท ปรากฏมีโรงสีข้าวเข้าร่วมโครงการน้อย เป็นเพราะไม่คุ้มและโรงสีมีความเสี่ยงกรณีราคาข้าวในตลาดตกลงกว่าราคารับ ซื้อ เนื่องจากไม่สามารถหมุนเวียนข้าวในโครงการได้"

ขณะที่ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากรมจะเสนอร่างหลักเกณฑ์การเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลรอบ 3/2557 ปริมาณ 200,000 ตัน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาให้ความเห็นชอบ หลังจากเดินทางกลับจากการประชุม ASEM

ส่วนกรณีความเป็นห่วงในเรื่องของการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนั้น ล่าสุดรัฐบาลได้สั่งการให้มีการตรวจสอบบัญชีรายชื่อซ้ำอีกครั้ง จากปัจจุบันมีชาวนาที่จะได้รับสิทธิ์ประมาณ 3.49 ล้านราย ในจำนวนนี้มีการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 2.8 ล้านราย ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า บอร์ด ธ.ก.ส.มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยชาวนาวงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายรอบแรกประมาณ 500 ล้านบาท เป็นการนำร่องให้กับชาวนา 6 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร, กำแพงเพชร, พิษณุโลก, ลพบุรี, ขอนแก่น และศรีสะเกษ

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ นางพรรณี สถาวโรดม ที่ปรึกษา รมว.คลัง ศึกษาหาแนวทางการบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 700,000 ล้านบาท ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยการพิจารณาถึงแนวทางการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้แก่ประชาชนราย ย่อย

ทั้งนี้ ตามแนวทางที่ระบุไว้ในแผนการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจปี 2558 ไตรมาส 1 ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) วางไว้ จะมีการกู้เงินแบบ "ซินดิเคตโลน" วงเงิน 5 ล้านบาท โดยเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ที่สนใจยื่นข้อเสนอ ทั้งวงเงิน อัตราดอกเบี้ย และอายุเงินกู้เข้ามาในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเบิกเงินกู้ในเดือนธันวาคม

"เป็นการกู้เพื่อ Roll Over หนี้โครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลค้ำประกันให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีหนี้ครบกำหนดชำระทั้งหมด 1.77 แสนล้านบาท แต่ได้รับงบประมาณชำระหนี้ไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.54 แสนล้านบาท จะต้อง Roll Over ออกไป ซึ่งซินดิเคตโลน 5 หมื่นล้านบาท ก็อยู่ในก้อนนี้ ส่วนแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์นั้นคงต้องรอให้ระดับนโยบายตัดสินใจอีกที" แหล่งข่าวกล่าว


สวนรักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : พาณิชย์ชง บิ๊กตู่ ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวกันราคาร่วง

view