สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวนาข้าวอินทรีย์ตั้งวงเสวนาคึกคัก ก่อนขนข้าวขายตันละ 2 หมื่น ไม่ง้อจำนำ-ประกันราคา

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

พิจิตร - เครือข่ายชาวนาข้าวอินทรีย์ภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้คึกคัก ก่อนลงมือเก็บเกี่ยวข้าวขายผ่านสหกรณ์ รพ.วชิรบารมี ตันละ 2 หมื่น ไม่ง้อจำนำ-ประกันราคา
       
       วันนี้ (16 ต.ค.) นายไชยา สมถวิล นายอำเภอวชิรบารมี จ.พิจิตร น.ส.ผกามาศ เพชรพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรบารมี ร่วมจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายชาวนา ที่วิชชาลัยชาวนา เลขที่ 6 บ้านนิคม ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี โดยใช้ร่มไม้และทุ่งนาเป็นศูนย์เรียนรู้ มีชาวนาจาก จ.พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย หิ้วปิ่นโตห่อข้าวมาเข้าร่วมกว่า 80 คน ทั้งหมดล้วนทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในอีกไม่เกิน 20 วัน เพื่อนำมาขายผ่านร้านค้าสหกรณ์วชิรบารมี ราคาตันละ 20,000 บาท ไม่ต้องพึ่งโครงการรับจำนำข้าว หรือประกันราคา หรือถ้าสีแปรรูปขายกิโลกรัมละ 50 บาท
       
       นางเกสร ผู้พิชิต อายุ 44 ปี พยาบาลโรงพยาบาลวชิรบารมี ทำนาเป็นอาชีพเสริม อยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ 7 บ้านนิคม ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี เปิดเผยว่า ตนและสามีทำนา 43 ไร่ ซึ่งเป็นการทำแบบลงมือทำเองควบคู่กับการบริหารจัดการ คือ จ้างแรงงานบ้างในบางส่วน โดยปลูกข้าวหลายๆ แบบ คือ ข้าวหอมปทุมเทพ 4 ไร่ ข้าวมะลิ 105 จำนวน 31 ไร่ ข้าวมะลิแดง 2 ไร่ ข้าวไรซ์เบอร์รีสีนิล 3 ไร่ ข้าวสินเหล็กต้านเบาหวาน 3 ไร่
       
       “ทำแบบนี้มา 5 ปีแล้ว ยอมรับว่าช่วงแรกต้องนำข้าวหอมมะลิไปเข้าโครงการรับจำนำ แต่หลังจากไม่มีโครงการรับจำนำจึงคิดนำข้าวไปสีขายเอง และเก็บไว้กิน รวมถึงเป็นพันธุ์ข้าวปลูก และแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ของแท้ มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง จึงได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนบ้าน เรียกได้ว่ารับประกันคุณภาพด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ซึ่งก็ขายได้”
       
       นางเกสรกล่าวว่า ส่วนข้าวมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอร์รีสีนิล ข้าวสินเหล็กทำยากมาก แม้ตั้งใจจริง ขยันแทบตายก็ได้ผลผลิตไม่เกิน 60 ถังต่อไร่ กรรมวิธีการปลูกก็จะปลูกสลับกัน โดยอาศัยตลาดเป็นตัวตั้ง ไม่เคยใช้สารเคมี ต้นทุนการทำนาแบบบริหารจัดการจึงอยู่ที่ไร่ละ 2,000-3,000 บาท เพราะไม่เคยซื้อปุ๋ยเคมี แต่จะทำน้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวก ฮอร์โมนไข่ไก่ ฮอร์โมนหัวปลา-พุงปลา ซึ่งก็ทำแบบง่ายๆ คือ ไปขุดจาวปลวก จากกลางทุ่งนาผสมกับข้าวที่หุงสุกแค่ 70% โดยนำข้าวที่หุงแล้ว 3 ส่วน น้ำสะอาด 2 ส่วน มาหมักผสมกับจาวปลวกในถังน้ำ 200 ลิตรทิ้งไว้ 7 วัน เมื่อถึงวันที่ 8 ก็เปิดดู จะเห็นจุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาเป็นฟองขึ้นฝ้าสีขาวบนผิวน้ำ ส่วนน้ำจะเป็นสีขาวขุ่นมีกลิ่นหอมเปรี้ยวเตะจมูก เพียงเท่านี้ก็ได้ฮอร์โมนปุ๋ยที่ทำขึ้นเองโดยไม่ต้องซื้อ ประหยัดเงินไร่ละหลายพันบาทต่อปี เมื่อไถดัก ไถแปร หรือตีขลุกย่ำนา ก็เปิดน้ำเข้าแล้วเทสารน้ำหมักจาวปลวกเข้าไปไร่ละ 20 ลิตร ก็จะช่วยทำให้ฟางข้าวย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ช่วงดำนาหรือข้าวออกรวงก็เอาไปฉีดซ้ำ เพียงเท่านี้ข้าวก็จะเจริญงอกงาม
       
       ส่วนการไล่แมลงก็มีสมุนไพรที่หมักขึ้นเอง จึงทำให้คนที่เห็นเชื่อมั่นว่าเราทำนาเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษจริง และทุกคนก็ตรวจสอบชาวนาในกลุ่มกันเอง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กันจนเกิดเป็นเครือข่าย จึงกล้ามั่นใจจะขายข้าวเกษตรอินทรีย์ปีนี้ให้ได้ตันละ 20,000 บาทเป็นอย่างน้อย โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงการรับจำนำข้าว เพราะเชื่อมั่นว่าของดีขายได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้สั่งจองมาแล้ว
       
       สำหรับผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลวชิรบารมี โทร. 08-1532-0423 หรือ นายไชยา สมถวิล นายอำเภอวชิรบารมี โทร. 08-4700-0931


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ชาวนาข้าวอินทรีย์ตั้งวงเสวนาคึกคัก ก่อนขนข้าวขายตันละ 2 หมื่น ไม่ง้อจำนำ-ประกันราคา

view