สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปีติพงศ์ ชี้แล้งหนักสุดใน15ปี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ปีติพงศ์" รมว.เกษตรฯ เผยปีนี้น้ำแล้งหนักสุดในรอบ 15 ปี วอนเกษตรกร 27 จังหวัดงดทำนาปรังเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้นาปี

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้ (4 ต.ค.) ภายหลังการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรจ.สุพรรณบุรี เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง 2557 ที่ วัดบ้านกร่าง ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่จริงให้เกษตรกรได้รับทราบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงทุนการเพาะปลูกของเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งนี้เขากล่าวว่า เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสัก ถึงวันที่ 1 พ.ย.นี้ มีเพียง 6,500 ล้าน ลบ.ม. จากเกณฑ์ปกติปริมาณน้ำใช้การจะต้องมีอยู่ 11,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงสุดในรอบ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการปล่อยน้ำต้นทุนเพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งเกินแผนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากเกษตรกรทั้งลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มแม่กลอง จำนวน 27 จังหวัดให้ความร่วมมือกับภาครัฐงดการปลูกข้าวนาปรังก็จะเป็นการปรับสมดุลน้ำที่จะเก็บกักในเขื่อนให้เพียงพอต่อการผลิตข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตหน้า คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2558

"กระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับฟังข้อเสนอและความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีพบว่า ในบางพื้นที่เกษตรกรเพิ่งจะลงปลูกข้าวนาปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.7 แสนไร่ จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอในพื้นที่ดังกล่าว จนกว่าจะเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของเกษตรกร รวมถึงชนิดพืชฤดูแล้งที่เกษตรกรต้องการ" นายปีติพงศ์ กล่าว

คาดแผนช่วยเหลือชัดเจนใน2สัปดาห์

สำหรับแผนการช่วยเหลือเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถทำนาปรังได้นั้น นอกจากกระทรวงเกษตรจะจัดทำแผนการส่งเสริมการปลูกพืชในฤดูแล้งให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่แล้ว กรมชลประทานยังมีแผนในการซ่อมแซมคูคลอง และระบบส่งน้ำของกรมชลประทานที่มีการใช้งานติดต่อมาเป็นระยะเวลานาน โดยการจ้างงานเกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย รวมถึงแผนการส่งเสริมอาชีพที่แต่ละกระทรวงจะนำเสนอร่วมกัน

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องแผนงาน มาตรการ และงบประมาณเพื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ชี้แจงประเด็นการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ ว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวทางรัฐจะจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค.2557 ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนออกใบรับรองเพื่อรับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ดังนั้น เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่เกษตรกรเช่าทำนาแต่อย่างใด

ชาวนาวอนรัฐส่งน้ำต่ออีก 2 เดือน

อย่างไรก็ดีมีเสียงสะท้อนจากเกษตรกรใน จ.สุพรรณบุรี ว่า ต้องการใช้น้ำในการทำนา และต้องการให้กรมชลประทานจัดสรรน้ำเข้าถึงทุกพื้นที่ ต่อเนื่องไปอีก 2 เดือนจนสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของชาวนา

นายพรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการส่งน้ำเข้าสู่ระบบ ทำให้ชาวนาได้เริ่มต้นการเพาะปลูกไปแล้ว การที่จะหยุดส่งน้ำจะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร อยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากจะหยุดควรส่งสัญญาณเตือนให้เร็วกว่านี้

นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ถ้ามีการส่งน้ำมาอย่างต่อเนื่องจนสิ้นฤดูเพาะปลูก จะทำให้ชาวนาสามารถที่จะประคองตัวเองได้ แม้ว่าราคาผลผลิตจะผันผวน แต่ถ้าไม่มีน้ำทำนาเลยเท่ากับว่าทุกอย่างจะเป็นศูนย์

ด้าน นายเลิศโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้แจ้งเตือนเกษตรกรอยู่ตลอดว่าฝนทิ้งช่วงจะมีปัญหาต่อการจัดสรรน้ำในระยะยาว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือการเพาะปลูกมากในภาวะที่น้ำมีน้อย

เตือนนายกฯแจกเงินชาวนาไม่แก้ปัญหา

หลวงปู่พุทธะอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค แสดงความไม่เห็นด้วยกรณีรัฐบาลจ่ายเงินให้เปล่า 40,000 ล้านบาทแก่ชาวนา โดยระบุว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ต้องตอบให้ได้ว่าเอาเงินไปแจกชาวนาทำไม มีประโยชน์อะไรที่ยั่งยืนบ้าง

ข้อความในเฟซบุ๊ค ระบุด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องหาเสียง แต่หากจะต้องการสนับสนุนจากเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ภาคประชาชนพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลนี้อยู่แล้วหากสิ่งที่คุณทำมีประโยชน์ต่อชาติ ประชาชนอย่างยั่งยืนแท้จริง

หลวงปู่พุทธะอิสระ ระบุในโพสต์ดังกล่าวว่า ร่างสภาชาวนาและเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเวทีแจ้งวัฒนะทำไว้ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น กำหนดให้มีโรงงานทำปุ๋ยแห่งชาติประจำอยู่ทุกจังหวัด จัดตั้งโรงสีและยุ้งฉางชุมชน จัดโซนนิ่งทางการเกษตร ฯลฯ เพื่อไม่ต้องพึ่งพารัฐอย่างเดียว ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและอาจไม่ต้องใช้เงินลงทุนถึง 40,000 ล้านบาท

“ฉันไม่อยากจะใช้คำว่า 4 หมื่นล้านเป็นงบหาเสียง หาคะแนนนิยม จึงอยากให้รัฐบาลชุดนี้ที่มีอำนาจพิเศษล้นมือ สร้างบรรทัดฐานหลักคิดให้แตกต่างจากนักการเมือง อย่าเดินตามรอยของนักการเมือง ท่านผู้นำต้องไม่ลืมว่า ภารกิจสำคัญของท่านคือเข้ามากลบรอยที่นักการเมืองขุดไว้ไม่ใช่เข้ามาเดินตามรอย" ข้อความตอนหนึ่งของโพสต์ในแฟนเพจหลวงปู่พุทธะอิสระ และว่า หากไม่ได้แตกต่างกับนักการเมือง อันตราย สำหรับความอยู่รอดของกระบวนการปฏิรูป

มท.ลุยโครงการแก้น้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก

วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการ "คลองสวย น้ำใส คนไทยมีความสุข" ขึ้น เพื่อลดปัญหาความตื้นเขินของแม่น้ำลำคลอง และการขยายตัวของผักตบชวา สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซาก

โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ปรับปรุงสภาพแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ ทั่วประเทศ ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค เก็บกักน้ำ สัญจรทางน้ำ รวมทั้งการนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่า ด้วยการทำปุ๋ย อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์ชุมชน

นอกจากนั้นยังมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้โครงการนี้ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอย่างเหมาะสม โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป และจะมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นเจ้าภาพดูแลพื้นที่รับผิดชอบ

สำหรับพื้นที่เป้าหมายซึ่งจะเน้นหนักเป็นพิเศษในระยะแรก ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง บึงบอระเพ็ด


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ปีติพงศ์ ชี้แล้งหนักสุดใน15ปี

view