สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตรฯชี้ปริมาณน้ำในอ่างวิกฤติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เกษตรฯ เผยปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางถึงขั้นวิกฤติ เตรียมสั่งงด "ทำนาปรัง-ประมง" เดือนนี้

เกษตรฯเผยปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางถึงขั้นวิกฤติ เตรียมประกาศเกษตรกร"งดทำนาปรัง-ประมง"ภายในเดือนนี้ พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ระบุพื้นที่เกือบ 6 ล้านไร่ เกษตรกรกว่า 1.3 แสนครัวเรือนได้รับผลกระทบแน่ เตรียมงบกว่าพันล้านจ้างงานแทน ลั่นเกษตรกรฝ่าฝืนจะไม่ให้การช่วยเหลือ เร่งประสานมหาดไทยห้ามประกาศเขตภัยพิบัติ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ว่า ในปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีน้อยมาก ถึงขั้นวิกฤติ กระทรวงเกษตรฯจึงจะประกาศว่าภายในเดือนนี้ให้งดทำนาปรังและการทำประมงโดยสิ้นเชิง ยกเว้นประกระชังที่เลี้ยงอยู่เดิม ทั้งในเขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด และลุ่มน้ำแม่กลอง โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะสามารถปลูกพืชผักได้เพียง 8.2 แสนไร่เท่านั้น

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯจะใช้วิธีการจ้างงานเกษตรกรในพื้นที่ทำการขุดลอกคูคลองวันละ 300 บาท ซึ่งมีงบประมาณปกติและงบไทยเข้มแข็งอยู่แล้วขณะนี้ประมาณ 1,100 ล้านบาท แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอ เนื่องจากการจ้างงานดังกล่าว จะต้องใช้เวลานาน 4 เดือน จากเกษตรกรรวม 2.6 แสนรายในพื้นที่ 7.5 แสนไร่ โดยรวมแล้วเกษตรกรจะได้รับรายได้จากโครงการนี้ ประมาณครัวเรือนละ 24,000 บาท รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ทำอาชีพเสริม ทั้งหมดนี้กรมส่งเสริมการเกษตร จะต้องปรับฐานการคำนวณใหม่คาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการประมาณ 2,000 ล้านบาท และถือเป็นมาตรการเร่งด่วน

“แผนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะนำไปใช้ในลุ่มน้ำแม่กลองด้วย ซึ่งยังได้รายงานในการประชุมว่า มีพื้นที่การทำนาปรังมากน้อยเพียงใด แต่ส่วนใหญ่การทำนาปรังจะอยู่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ปีนี้ จะไม่สามารถทำนาปรังได้อีกแล้ว คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณข้าวปีนี้ปรับลดลงด้วย โดยนาปรังปกติจะให้ผลผลิตประมาณ 8-10 ล้านตันข้าวเปลือก“นายชวลิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯจะหารือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เพื่อไม่ให้กระทรวงมหาดไทย ประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณชดเชยซับซ้อนกับโครงการนี้ เกษตรกรรายใด ที่ยังฝืนปลูกข้าวนาปรังอยู่ รัฐบาลจะงดให้การสนับสนุน ไม่มีการชดเชยใดๆ กรณีผลผลิตได้รับความเสียหาย แต่สามารถเข้าร่วมในการจ้างงานได้ วิธีการดังกล่าวถือว่ารัฐบาลจะสูญเสียงบประมาณน้อย ได้ประโยชน์จากการจ้างงานมากกว่า เมื่อเทียบกับการจ่ายเงินชดเชยเนื่องจากการเกิดภัยพิบัติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดนั้น จะมีพื้นที่ที่งดส่งน้ำและไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ จำนวน 5.59 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 139,035 ครัวเรือน ซึ่งใช้มาตรการรับ คือการจ้างแรงงาน โดยกรมชลประทาน 123,413 ครัวเรือน วงเงิน 1,110 ล้านบาท โดยใช้งบปกติ และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการส่งเสริมอาชีพ กรมปศุสัตว์ กรมประมง 7,519 ครัวเรือน วงเงิน 26.257 ล้านบาท ใช้งบปกติ และการฝึกอาชีพ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร 6,715 ครัวเรือน วงเงิน 5.450 ล้านบาท รวมทั้งการฝึกอาชีพ โดยสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน ( กศน.)จำนวน 1,388 ครัวเรือน วงเงิน 1.249 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการเสริม ในพื้นที่พักนา ที่มีความชื้นเพียงพอจะให้การสนับสนุน ให้ปลูกพืชปุ๋ยสด 500,000 ไร่

นอกจากนี้ จะให้เกษตรกรเข้าสู่โครงการปรับโครงสร้างการผลิต เปลี่ยนพื้นที่นาเป็นไร่นาสวนผสมสำหรับรายย่อย และเปลี่ยนเป็นพืชอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับเกษตรกรขนาดกลางและใหญ่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เนื่องจากมีแหล่งน้ำสอดคล้องกับแผนปลูกพืชอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ แต่สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่โครงการปรับโครงสร้างการผลิตเช่นกัน

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายการจ้างงานชาวนา 300 บาทต่อวัน เพื่อขุดลอกคูคลอง หรือซ่อมแซม คูคลองชลประทาน กรณีที่ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในการทำนา ถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนาได้ดี เพราะเป็นมาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตร ที่ไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพถือเป็นมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วและตรงจุด

แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือการทุจริต เพราะในการซ่อมบำรุงของกรมชลประทาน ถือว่าเป็นงานที่สามารถทุจริตได้ง่าย หากจะจ้างชาวนา ทำต้องมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาทำงาน แล้วจ่ายหัวคิวให้ชาวนาแทน เพราะที่สุดชาวนาก็ไม่มีงานทำอยู่ดี ที่ผ่านมานักการเมือง หรือ กลุ่มที่ทำการทุจริต ก็หากินกับงบประมาณ ซ่อมสร้าง เป็นจำนวนมาก สังเกตในเรื่องซ่อมบำรุงของกรมชลประทานจะราคาสูงกว่าปกติ อีกทั้งคุณภาพยังตรวจสอบไม่ได้ หรือการตรวจสอบไม่มีมาตรการรัฐบาลก็จะเสียเงินเปล่า


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เกษตรฯชี้ปริมาณน้ำในอ่างวิกฤติ

view