สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คาดอีก 10 ปีข้าวไทยมูลค่าหายเฉียด 9 หมื่นล้าน เหตุถูกคู่แข่งแย่งส่วนแบ่ง ต้นทุนสู้ไม่ได้

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      ประเมิน 10 ปีข้าวไทยมูลค่าส่งออกหายเฉียด 9 หมื่นล้านบาท ชี้ตลาดเอเชีย ยุโรป อาเซียน หายเยอะสุด เหตุคู่แข่งส่งออกข้าวเพิ่ม ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อไร่ไทยก็สู้ไม่ได้ แนะรัฐชดเชยปัจจัยการผลิตให้ชาวนา เพิ่มขีดแข่งขัน
       
       นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ทำการประเมินข้าวไทยในตลาดโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ปี 2557-2566 พบว่ามูลค่าการส่งออกข้าวไทยโดยรวมจะสูญหายไป 8.75 หมื่นล้านบาท โดยตลาดที่ส่งออกสูญเสียไปมากสุด คือ ตลาดเอเชีย ไม่รวมอาเซียนและตะวันออกกลาง สูญเสีย 1.81 แสนล้านบาท ตลาดยุโรปสูญเสีย 6.7 หมื่นล้านบาท ตลาดอาเซียน 2.74 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง มูลค่า 9.4 หมื่นล้านบาท แอฟริกา มูลค่า 1.32 แสนล้านบาท
       
       สาเหตุที่การส่งออกข้าวไทยมีมูลค่าลดลง เนื่องจากประเทศคู่แข่งมีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งเวียดนาม อินเดีย โดยอินเดียคาดว่าปี 2557 จะส่งออกได้ 10 ล้านตัน ไทยเป็นอันดับ 2 ส่งออกได้ 9 ล้านตัน เวียดนามเป็นอันดับ 3 แต่ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้ส่งออกข้าวรายใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งพม่า ที่ตั้งเป้าการส่งออกในอีก 5 ปีข้างหน้า จาก 1 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน กัมพูชา และอินโดนีเซีย ก็เร่งเพิ่มผลผลิตข้าว โดยผลผลิตข้าวไทยเทียบกับประเทศคู่แข่ง ไทยทำได้แค่ 450 กก.ต่อไร่ ส่วนเวียดนามทำได้ถึงไร่ละ 1.2 ตัน
       
       นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเมื่อเทียบราคาย้อนหลังในช่วง 10 ปีพบว่าราคาข้าวไทยห่างจากประเทศคู่แข่งเวียดนามเฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ต้นทุนปลูกข้าวของชาวนาไทยกลับเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันต้นทุนปลูกข้าวต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 9,763 บาท เวียดนามต้นทุน 4,070 บาท พม่าต้นทุน 7,121 บาท ส่วนรายได้ของชาวนาไทย คิดเป็น 1.13 หมื่นบาทต่อตัน เวียดนาม 7,251 บาทต่อตัน พม่า 1.06 หมื่นบาทต่อตัน
       
       “แม้ว่าชาวนาไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวเปลือก โดยเมื่อปี 2556 ชาวนามีรายได้ 1.11 หมื่นบาทต่อตัน แต่ถ้าเทียบต้นทุนค่าใช้จ่าย 1.06 หมื่นบาทต่อตัน พบว่าชาวนาไทยมีเงินเหลือใช้แค่ 502 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงต่อเนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2547 ชาวนามีเงินเหลือจากการขายข้าว 1,900 บาทต่อตัน” นายอัทธ์กล่าว
       
       นายอัทธ์กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือชาวนา ก็คือ การชดเชยปัจจัยการผลิต 20% ของต้นทุนการผลิต เช่น ต้นทุนปลูกข้าว 1 หมื่นบาท รัฐบาลควรชดเชยให้ 2,000 บาท จะทำให้ชาวนามีเงินเหลือในการใช้จ่าย 3,000-4,000 บาทต่อตัน ซึ่งจะทำให้ชาวนาอยู่รอด โดยอาจตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาชดเชยปัจจัยการผลิต รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาผลผลิตข้าวต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น ควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าวใหม่ พื้นที่ไหนเหมาะสมก็ควรส่งเสริมสนับสนุน จะช่วยทำให้ข้าวไทยมีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น และทำให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น
       
       “รัฐบาลต้องปฏิรูปกระบวนการผลิตทั้งระบบ ซึ่งการชดเชยปัจจัยการผลิตให้ชาวนา 20% ยอมรับว่าเป็นประชานิยม แต่ประเทศอื่นทั้งเวียดนาม พม่า ก็ทำกัน อย่างเวียดนามช่วยเหลือในเรื่องปุ๋ยทั้งหมด และยังต้องปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานการบริหารจัดการข้าวของประเทศ โดยให้ 3 กลุ่ม คือ ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก รวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการข้าว แทนต่างคนต่างทำในปัจจุบัน” นายอัทธ์กล่าว


'อัทธ์'ประเมินข้าวไทย10ปีถดถอยต้นทุนสูง

"อัทธ์"ชี้สถานการณ์ข้าวไทย10ปีอยู่ในภาวะถดถอย ต้นทุนสูง ชี้หากไม่ปฏิรูปจะสูญเงินส่งออกข้าวมากกว่า 87,000 ลบ.

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการประเมิน 10 ปี ข้าวไทยในตลาดโลก ตั้งแต่ปี 2547-2557 พบว่าสัดส่วนการส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลกลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จากที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 8 ลงมาอยู่อันดับ 13 ในปี 2557 โดยมูลค่าการส่งออก 5 ปี ระหว่างปี 2547-2551 อยูที่ 94,000 ล้านบาท แต่ 5 ปีหลัง ระหว่างปี 2552-2556 มูลค่าส่งออกหายไป 38,000 ล้านบาท มากสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากไทยเสียเปรียบด้านราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ข้าวขาว 5% เฉลี่ย 285 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จนปี 2556 ปรับสูงถึง 518 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมาตลอด 10 ปี เฉลี่ย 100-200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวนาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับมีเงินเหลือลดลง เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2547 อยู่ที่ 4,835 บาทต่อไร่ แต่ปัจจุบันปรับขึ้นถึง 10,685 บาทต่อไร่ แต่ผลผลิตต่อไร่ของไทยตลอด 10 ปี ยังคงที่เฉลี่ยเพียง 450 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เวียดนามผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 ราคาข้าวไทยเริ่มมีราคาใกล้เคียงกับเวียดนามมากขึ้น และอาจจะลดต่ำลงกว่าเวียดนาม เนื่องจากขณะนี้ไทยกำลังระบายสตอกข้าวต่อเนื่อง ทำให้หอการค้าไทยประเมินข้าวไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า หากชาวนายังไม่มีการปรับกระบวนการผลิตทั้งวิธีการปลูก พื้นที่เพาะปลูก พัฒนาพันธุ์ข้าว และแหล่งน้ำใช้ในการเพาะปลูก จะทำให้ความสามารถการแข่งขันลดลง และมูลค่าการส่งออกจะหายไปประมาณ 87,000 ล้านบาท หรือหายไปปีละ 8,000 ล้านบาท โดยจะต้องเร่งปฏิรูปกระบวนการผลิตทั้งระบบ และปฏิรูปโครงสร้างต้นทุนการผลิต เช่น ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี หรือรัฐให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตร้อยละ 20 ของต้นทุน รวมทั้งควรดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมบริหารจัดการทั้งระบบ และสิ่งที่จะให้ข้าวไทยอยู่ได้ต้องไม่นำพืชเศรษฐกิจไทยไปเกี่ยวข้องกับทางการเมืองอีกต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : คาดอีก 10 ปีข้าวไทยมูลค่าหายเฉียด 9 หมื่นล้าน เหตุถูกคู่แข่งแย่งส่วนแบ่ง ต้นทุนสู้ไม่ได้

view