สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิทย์เตือน เชื้อมาลาเรียดื้อยา ระบาดในอาเซียน ไทย ติดโผพื้นที่เสี่ยง

นักวิทย์เตือน “เชื้อมาลาเรียดื้อยา” ระบาดในอาเซียน “ไทย” ติดโผพื้นที่เสี่ยง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เอเอฟพี – เชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อต่อการรักษาเริ่มแพร่ระบาดหนักแถบพื้นที่ชายแดน ของ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออเฉียงใต้ รวมถึง “ไทย” และอาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อความพยายามควบคุมโรคชนิดนี้ในระดับนานาชาติ
       
       จากการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาลาเรีย 1,241 คน พบว่า เชื้อปรสิตที่ดื้อต่ออาร์ทิมิซินิน (Artemisinin) ได้แพร่ระบาดตามแนวชายแดนตะวันตกและเหนือของกัมพูชา ชายแดนตะวันออกของเมียนมาร์ รวมถึงไทย และเวียดนาม
       
       นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณของเชื้อที่ดื้อยาทางตอนกลางของเมียนมาร์ ลาวตอนใต้ และภาคเหนือของกัมพูชา ทว่าไม่พบแนวโน้มดังกล่าวในตัวอย่างเลือดที่เก็บจากผู้ป่วยใน 3 ประเทศแอฟริกา ได้แก่ เคนยา ไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
       
       ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ระบุว่า หากขยายเวลาในการให้ยาต้านเชื้อมาลาเรียจาก 3 เป็น 6 วันอาจจะต่อสู้ภาวะดื้อยาของเชื้อปรสิตได้ ทว่าในความเป็นจริงเวลามีน้อย
       
       “แม้มีความเป็นไปได้ที่จะสกัดกั้นไม่ให้เชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อยา อาร์ทิมิซินินแพร่กระจายไปทั่วเอเชียและลามไปยังทวีปแอฟริกา แต่ประตูแห่งโอกาสก็ปิดลงเร็วมาก”นิโคลัส ไวท์ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุ
       
       “วิธีควบคุมการแพร่ระบาดของมาลาเรียแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอแน่ เราอาจต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กับโรคนี้โดยรอช้าไม่ได้”
       
       ผลการศึกษาเมื่อไม่นานนี้แสดงให้เห็นว่า อาร์ทิมิซินินเริ่มจะด้อยประสิทธิภาพในการรักษาโรคมาลาเรียซึ่งแพร่ระบาดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากเป็นจริงก็จะถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบครึ่งศตวรรษที่เชื้อปรสิตมาลาเรียสามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถต่อต้านยา ที่มนุษย์ผลิตขึ้น
       
       เชื้อปรสิตซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควิน (Chloroquine) ได้แพร่จากเอเชียไปยังแอฟริกาในช่วงทศวรรษ1950-1970 หลังจากนั้นจึงได้มีการผลิตตัวยา ซัลฟาด็อกซิน-ไพรีเมธามีน (Sulphadoxine-pyrimethamine) หรือ เอสพี มาใช้แทนคลอโรควิน แต่ก็ปรากฏอาการดื้อยาของเชื้อปรสิตแถบตะวันตกของกัมพูชา ก่อนที่มันจะแพร่กระจายต่อไปยังแอฟริกาอีกระลอก
       
       การเสื่อมประสิทธิภาพของ เอสพี นำมาสู่การพัฒนาตัวยาอาร์ทิมิซินิน ซึ่งสกัดได้จากสมุนไพรจีนที่ชื่อว่า ชิงเห่าซู่ (sweet wormwood)
       
       องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้แพทย์ใช้อาร์ทิมิซินินร่วมกับการรักษารูปแบบอื่นๆ ในกรณีผู้ติดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ เพื่อให้การกำจัดเชื้อปรสิตได้ผลสูงสุด
       
       ทั้งนี้ หากการรักษาขาดตอน หรือเชื้อปรสิตยังไม่ถูกฆ่าจนหมด เชื้อที่เหลืออยู่ในร่างกายผู้ป่วยจะสามารถ “กลายพันธุ์” และส่งต่อยีนดื้อยาไปยังเชื้อรุ่นต่อๆ ไป
       
       มาลาเรียคร่าชีวิตพลเมืองทั่วโลกไปราว 627,000 คนในปี 2012 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ในทวีปแอฟริกา


มาลาเรียดื้อยาแถมกลายพันธุ์ เปิดยาใหม่ “เคเออี 609” หวังทดแทน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       วิจัย พบเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยา “อาร์ติซูเนต” ในภูมิภาคเอเชียเกิน 50% แถมมีการกลายพันธุ์ ระบุยังไม่ลามไปทวีปแอฟริกา เสนอเร่งกระชับวงเชื้อดื้อยา แนะใช้ยาอาร์ติซูเนตสูตรผสม ให้ยาต่อเนื่องนานขึ้น 6 วัน เผยเร่งวิจัยยาตัวใหม่ “เคเออี 609” พบกำจัดเชื้อมาลาเรียในร่างกายได้ไวภายใน 12 ชั่วโมง คาดอีก 3 ปีผลิตเป็นยาได้

มาลาเรียดื้อยาแถมกลายพันธุ์ เปิดยาใหม่ “เคเออี 609” หวังทดแทน

       วันนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล แถลงข่าวความสำเร็จระดับโลกในฐานะศูนย์กลางการวิจัยโรคมาลาเรีย ว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศพบผู้ติดเชื้อปีละประมาณ 3 หมื่นราย อัตราการเสียชีวิตไม่สูงนัก แต่ที่น่าห่วงคือปัญหาการดื้อยา ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมาจากการใช้ยาอาร์ติซูเนต สามารถรักษาเชื้อมาลาเรียได้ดีมาก กินประมาณ 3 วันก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันพบว่าต้องกินยาเป็นเวลานานขึ้นจึงจะหาย จึงตั้งข้อสงสัยว่า เชื้อมาลาเรียอาจดื้อต่อยาอาร์ติซูเนต โดยเฉพาะเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล จึงร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศคือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ฯลฯ ว่ามีการดื้อยาจริงหรือไม่ และหากดื้อยาจริงจะมีทางแก้ปัญหาหรือไม่
       
       ศ.พญ.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เคยศึกษาพบว่าเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัมมีการดื้อยาคลอโรควินในปี 1957 ซึ่งหลังจากนั้นอีก 3 ปี พบว่ามีการกระจายการดื้อต่อยาตัวนี้ไปทั้งเอเชีย และลามไปถึงทวีปแอฟริกา ดังนั้น จึงต้องรีบทำการศึกษาการดื้อยาอาร์ติซูเนต เพื่อจำกัดวงการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย จึงทำการศึกษาใน10 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 7 ประเทศในเอเชีย ประกอบด้วย ไทย พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย และ 3 ประเทศในแอฟริกา ประกอบด้วย ไนจีเรีย เคนยา และคองโก ในคนไข้ประมาณ หมื่นกว่าราย โดยวัดประสิทธิผลของยาใน 3 วิธีรวมกัน คือ 1. เจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อดูว่าเชื้อหมดจากร่างกายเมื่อไร แต่วิธีนี้เมื่อเชื้อลดลงจากร่างกาย อาจทำให้ขาดความแม่นยำ หากเชื้อหลงเหลือในร่างกายเกิน 72 ชั่วโมง ถือว่าดื้อยา โดยพบว่าในส่วนของเอเชียมีการหลงเหลือของเชื้อในร่างกายเกิน 72 ชั่วโมง มากกว่า 50% ในผู้ป่วย ส่วนในแอฟริกาพบไม่ถึง 5%
       
       ศ.พญ.ศศิธร กล่าวอีกว่า 2. ดูเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรียว่าเร็วแค่ไหน ซึ่งมาตรฐานคือ 5 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้ถือวาดื้อยา โดยในเอเชียพบว่าใช้เวลาเกินมาตรฐานมากกว่า 50% และในแอฟริกาใช้เวลาเกินไม่ถึง 5% เช่นกันกับวิธีแรก และ 3. การทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูยีนมาลาเรียมีการดื้อยาหรือไม่ โดยพบว่าในเอเชียมีการดื้อยาและยีนเชื้อมาลาเรียมีการกลายพันธุ์ ขณะที่แอฟริกาการขจัดเชื้อมาลาเรียได้ช้าลง แต่ยังไม่กลายพันธุ์ หนทางแก้ปัญหาคือ ไม่ควรใช้อาร์ติซูเนตในการรักษามาลาเรียแบบสูตรเดี่ยว เพราะจะทำให้การดื้อยาง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยควรใช้เป็นแบบสูตรผสม นอกจากนี้ ต้องยืดระยะเวลาในการรักษาจากการให้ยา 3 วัน เพิ่มเป็น 6 วัน เพราะผลการศึกษาพบว่า การให้ยาเพิ่มเป็น 6 วัน ผู้ป่วย 97.7% รักษาหายเป็นปกติ
       
       “นอกจากมาตรการดังกล่าว การหายาสำรองเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้ศึกษายาเคเออี 609 พบว่ามีฤทธิ์สูงต่อเชื้อมาลาเรีย ทั้งระยะมีเพศและไม่มีเพศ ของเชื้อฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ ซึ่งการศึกษาวิจัยยังอยู่ในเฟส 2 คือ การประเมินประสิทธิภาพของยาตัวนี้ในผู้ป่วยจริงเป็นครั้งแรกของโลก โดยการให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจำนวน 21ราย พบว่า ค่าเฉลี่ยการขจัดเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วยทั้งหมดคือ 12 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรียอยู่ที่ 0.95 ชั่วโมง ซึ่งเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรียที่รวดเร็วไม่ถึง 1 ชั่วโมง พบน้อยมากจากการศึกษาอื่น” ศ.พญ.ศศิธร กล่าว
       
       ศ.พญ.ศศิธร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเคเออี 609 ยังมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ พบจำนวน 14 ราย เป็นอาการคลื่นไส้มากที่สุด แต่ไม่รุนแรงและไม่ต้องหยุดยา สรุปคือการให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน สามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียได้รวดเร็วในผู้ใหญ่ที่ติดเขื้อมาลาเรียไม่ซับซ้อน ถือว่ายานี้เป็นความหวังในการรักษาหากเกิดเชื้อมาลาเรียดื้อยาอาร์ติซูเนต จริง แต่คงต้องรอให้มีการวิจัยในเฟส 3 คือ มีการวิจัยในตัวผู้ป่วยจำนวนมากกว่านี้ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 3 ปีจึงจะสามารถผลิตเป็นยาได้ ทั้งนี้ ผลการวิจัยทั้ง 2 เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารชั้นนำทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ซึ่งจะเผยแพร่ในวันที่ 1 ส.ค. 2557 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งวารสารดังกล่าวจะตีพิมพ์ผลงานที่มีผลกระทบในวงกว้างมากๆ เชื่อว่าจะทำให้องค์การอนามัยโลกสนใจในประเด็นนี้


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นักวิทย์เตือน , เชื้อมาลาเรียดื้อยา ระบาด , ในอาเซียน , ไทย , ติดโผ , พื้นที่เสี่ยง

view