สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไม้ขุดล้อม เปลี่ยนชีวิต พลิกวิกฤตช่วยชุมชนอย่างยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

นับเป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ชาว ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ยังคงสานต่ออาชีพทำไม้ขุดล้อม สำหรับใช้ในการประดับตกแต่งอาคารและสถานที่ จนได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นโรงงานปลูกต้นไม้ของโลก เพราะนอกจากจะเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ ยังมีการส่งออกไปขายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนสร้างฐานะมั่นคงให้กับคนในชุมชนอย่างมาก

ด้วยความน่าสนใจของอาชีพทำไม้ขุดล้อม จึงเป็นเหตุผลที่ "รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์" ประธาน CSR พอเพียง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาวิจัยรูปแบบการดำเนินธุรกิจไม้ขุดล้อมของชาวตำบลชะอม ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จึงได้เชิญชวนกลุ่มนักธุรกิจ, นักวิชาการด้านซีเอสอาร์, กลุ่มเยาวชน และสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาวิถีอาชีพไม้ขุดล้อม รวมถึงรับฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเจ้าของกิจการไม้ขุดล้อม และผู้ที่มีส่วนส่งเสริมความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจในชุมชน

"รศ.ทองทิพภา" กล่าวว่า ในอดีตชาวชะอมส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ และฐานะยากจน แต่หลังจากที่ ดร.มีชัย วีระไวทยะ อดีตนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เข้ามาช่วยเหลือชาวชะอมเมื่อปี 2533 ด้วยการประสานงานกับภาคเอกชนหลายหน่วยงาน พร้อมจัดการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการปลูกไม้ขุดล้อม รวมถึงแนะนำหลักการบริหารจัดการทางธุรกิจ จึงทำให้ชีวิตของคนในชุมชนตำบลชะอมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

"โดยมีอาชีพทำไม้ขุดล้อมเป็นอาชีพหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ และสร้างระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งผลต่อการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ชาว ต.ชะอมประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจไม้ขุดล้อมคือ การมีชุมชนที่เข้มแข็ง และมีใจรักที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนเติบโตเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเช่นทุกวันนี้"

"รศ.ทองทิพภา" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากผลการวิจัยพบว่าผู้ประกอบการรายย่อยชาวตำบลชะอม มีกระบวนการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดแบบ 7P"s ของฟิลลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาด ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ไม่เคยศึกษากลยุทธ์การตลาดมาก่อนเลย

"เพราะการดำเนินธุรกิจของชาวตำบลชะอมมีองค์ประกอบ 7 ด้านที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดังนี้ 1.มีต้นไม้ (Product) ที่มีคุณภาพและหลากหลาย 2.มีการกำหนดราคา (Price) ต้นไม้ตามกลไกทางการตลาด 3.มีช่องทางการจำหน่าย (Place) ที่น่าสนใจ เช่น การรวมกลุ่มตั้งแผงไม้ใกล้กันเพื่อให้เป็นจุดเด่น และการเสนอขายผ่านโซเชียลมีเดีย 4.ส่งเสริมการขาย (Promotion) ด้วยบริการก่อนและหลังการขาย นอกจากนี้ยังมีการจัดงานมหัศจรรย์พรรณไม้ล้อมทุก ๆ ปี"

"5.มีบุคลากร (People) ที่มีความรู้ในผลิตภัณฑ์ สร้างการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ เช่น จัดทำหลักสูตรไม้ขุดล้อมในโรงเรียนชุมชนวัดบำรุงธรรม 6.ตกแต่งร้านค้าได้สะอาดสวยงาม ขณะที่ผู้จำหน่ายก็มีบุคลิกภาพที่สุภาพ และมีข้อเสนอที่น่าสนใจ (Physical Evidence/Environment and Presentation) และ 7.มีกระบวนการทำงาน (Process) เป็นขั้นตอนที่ชัดเจนและรวดเร็ว"

ขณะที่ "สายบัว พาศักดิ์" เกษตรกรดีเด่นระดับภาคกลางและภาคตะวันออกปี 2555 ซึ่งเป็นปราชญ์ไม้ขุดล้อม และแกนนำบุกเบิกการทำอาชีพไม้ขุดล้อมบอกว่า ชาวตำบลชะอมมีวันนี้ได้เพราะได้รับความช่วยเหลือจาก ดร.มีชัย ที่สอนให้ทำอาชีพแบบค่อย ๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ และลองผิดลองถูกจากการลงมือทำ ปรับเปลี่ยนจากการขายผ่านคนกลางมาเป็นการปลูกเองขายเอง และการรวมกลุ่มตั้งแผงไม้ใกล้ ๆ กันเพื่อสร้างพลัง

"ลุงยึดหลักเราต้องประสบความสำเร็จไปด้วยกัน จึงไม่หวงความรู้ อยากให้คนที่ทำอาชีพอื่นแล้วไม่เป็นผลสำเร็จลองมาทำไม้ขุดล้อม ลุงยินดีสอนให้ และไม่กลัวการแย่งอาชีพ เพราะตราบใดที่โลกยังร้อน ต้นไม้ยังขายได้ ขอเพียงมีความอดทน ขยัน หมั่นเรียนรู้ และซื่อสัตย์กับลูกค้า หากมีทั้งหมดนี้ทำอะไรก็สำเร็จ"

ทางด้าน "สมยศ นครวงษ์" ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดบำรุงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการจัดทำหลักสูตรไม้ขุดล้อมกล่าวว่า ความสำเร็จของธุรกิจไม้ขุดล้อมในตำบลชะอม ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาการทำไม้ขุดล้อม และเพื่อสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น ทางโรงเรียนจึงทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการปลูกไม้ขุดล้อมมาตั้งแต่ปี 2547 สอนให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

"เด็กที่นี่ประมาณ 80% มีผู้ปกครองทำอาชีพไม้ขุดล้อม เราจึงเน้นการเสริมทักษะวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้นักเรียนนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครอง นอกจากนี้ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบระดับอุดมศึกษาแล้วจะกลับมาทำธุรกิจไม้ขุดล้อมในท้องถิ่นอย่างเต็มตัว"

"รศ.ทองทิพภา" กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากคำนึงถึงผลกำไรแล้ว การประกอบธุรกิจที่ดีจะต้องนึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น จึงอยากต่อยอดให้ชุมชนตำบลชะอมประยุกต์ใช้โมเดลซีเอสอาร์พอเพียง หรือความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้กิจการไม้ขุดล้อมเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ความสมดุลและความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ

อันเป็นวิถีทางในการสืบทอดกิจการไม้ขุดล้อมสู่ทายาทรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างต่อเนื่องตลอดไป


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ไม้ขุดล้อม , เปลี่ยนชีวิต , พลิกวิกฤต , ช่วยชุมชน , อย่างยั่งยืน

view