สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

52 พื้นที่เสี่ยงฮุบป่า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ปล่อยเกียร์ว่างมานาน ป่าไม้ถูกทำลายย่อยยับนับล้านไร่ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตามด้วยคำสั่ง 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ต้องเร่งสนองนโยบาย เดินหน้าจัดระเบียบการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่

นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมีคำสั่งตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ แล้วอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โชติ ตราชู ซึ่งเพิ่งถูกโยกไปนั่งเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ตั้งทีมงานเฉพาะกิจ ศูนย์ประสานงานปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือทีมป่าไม้เดนตาย พุ่งเป้าปราบปรามผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะ

ไม่รวมการปฏิบัติการร่วมบูรณาการทำงานหลายหน่วยงาน และการลุยล่าขบวนการโค่นป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แบบฉายเดี่ยว ทั้งระดับภาคและจังหวัด โดยมีทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก กองทัพเรือ คอยสนับสนุน สถิติการจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ลักลอบตัดไม้ ลักลอบค้าสัตว์ป่า ทำเหมืองแร่ ที่ปรากฏทางสื่อมากอยู่แล้ว ยิ่งมีถี่ยิบมากขึ้น

ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติ ทั้งบนบกและทางทะเล ถูกบุกรุกทำลายไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ต่างไปจากการฮุบที่ดินรัฐประเภทอื่น ๆ อาทิ ที่ราชพัสดุ ที่สงวนหวงห้าม ที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แก้ปัญหาไม่ได้สักที

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่า ณ ปี 2552 ประเทศไทยมีพื้นที่คงสภาพเป็นป่าไม้ 107.6 ล้านไร่ หรือ 33.6% ของพื้นที่ประเทศ และข้อมูลภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ตั้งแต่ปี 2516 ถึงปี 2552 พบว่าช่วง 36 ปีที่ผ่านมา ป่าไม้ของไทยลดลงทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านไร่ หรือลดลงเฉลี่ย 8.6 แสนไร่/ปี

สวนทางกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และเป้าหมายรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตของประเทศให้อยู่ภายใต้นโยบายการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 128 ล้านไร่ หรือ 40% ของพื้นที่ประเทศ 320 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากหน่วยงานรัฐร่วมมือกันผลักดันนโยบายจัดระเบียบบุกรุกป่าให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เดินหน้าป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรแร่ และมลพิษอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยลดคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่อาจหวังผลเลิศว่าจะสามารถปราบโค่นนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักการเมืองที่จ้องฮุบป่าได้อย่างราบคาบ

ตามแผนที่วางไว้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามฯ กับศูนย์ย่อย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ ดีเดย์ออกสตาร์ตยุทธการพิทักษ์แผ่นดิน ปราบปรามการกระทำผิดเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ตั้งแต่ 18 มิถุนายนถึง 18 กรกฎาคมนี้ ทั้งการกวาดล้างจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้นผู้กระทำผิดกฎหมาย การจัดกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า ไปจนถึงรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในการป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะที่ทีมป่าไม้เดนตายยังน่าห่วง เพราะหลังอดีตปลัดกระทรวงทรัพย์ เจ้าของไอเดียโดนโยกย้าย ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้รับไฟเขียวให้รุกต่อ หรือต้องแยกย้ายกันกลับที่ตั้ง หากเป็นอย่างหลัง ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่เฝ้าระวัง 52 จังหวัด ทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ คงเฮกันลั่น


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : 52 พื้นที่ , เสี่ยงฮุบป่า

view