สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรมชลฯเตือนงดทำนาปรังเสนอคสช.สร้างเขื่อน21แห่ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กรมชลฯเตือนงดทำ'นาปรัง' หลังฝนตกน้อยรอบ9ปี ชี้ปัญหาภัยแล้งปีนี้จะรุนแรง เสนอคสช.สร้างเขื่อน21แห่ง

ช่วงนี้ถือว่าเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว หรือเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ของฤดูฝนที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ต.ค. ของทุกปี แต่ปีนี้พบภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณฝนสะสมของหน้าฝน มีเพียง 431.4 มิลลิเมตร ลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณฝนในรอบ 30 ปี ถึง 22% ยังเป็นปริมาณฝนที่สะสม น้อยที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าเมื่อปริมาณฝนสะสมมีน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนต่างๆ น้อยตามไปด้วย แต่โชคดีที่เขื่อนต่างๆ มีน้ำสะสมเหลือจากช่วงปีก่อน ทำให้วานนี้ (7 ก.ค.) มีน้ำใช้การได้ในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 10,937 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 21% ของความจุอ่าง สูงกว่ากว่าปี 2556 อยู่ประมาณ 1% เท่านั้น ทำให้กรมชลฯต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อสนับสนุน

วอนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาเลื่อนทำนา

การจัดสรรน้ำอย่างประหยัดทำให้การระบายน้ำในเขตชลประทาน ขณะนี้เพียงพอสำหรับการทำนาที่ลุ่มเท่านั้น ส่วนการทำนาที่ดอน ต้องขอให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน จนกว่าจะผ่านช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ ที่คาดว่าฝนจะตกมา กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำเข้าไปเสริม ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงฤดูน้ำหลากพอดี แต่จะไม่กระทบเพราะพื้นที่เหล่านี้อยู่บนที่ดอนอยู่แล้ว

ขณะนี้พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปประมาณ 5.31 ล้านไร่ คิดเป็น 61% จากแผนที่กำหนดไว้ 8.65 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ของทุกปี ที่มีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่ ส่วนลุ่มน้ำภาคเหนือ มีการเพาะปลูกแล้ว 350,000 ไร่ หรือ 18% ของแผนที่กำหนดไว้ 1.96 ล้านไร่ ส่วนภาคตะวันออก ตะวันตก ภาคใต้ การเพาะปลูกยังปกติ

“ตอนนี้กรมชลฯ ได้ขอให้เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ประมาณวันที่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป และขอให้พื้นที่ชลประทานภาคอีสาน ในเขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ เลื่อนเวลาการปลูกด้วย ”นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

เตือนเกษตรกรตั้งรับเขตชลประทานน้ำน้อย

ส่วนการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย คือต่ำกว่า 30% ของความจุลำน้ำ ทำให้การเพาะปลูกอาจจะทำได้ไม่มาก โดยเฉพาะภาคอีสาน เมื่อคาดการณ์ถึงภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับแนวโน้มพายุที่จะเข้าไทยน้อยมาก มีเพียง 2 ลูก ลูกแรกในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ คาดจะอยู่บริเวณภาคกลาง อีกลูกหนึ่งจะเข้าประมาณเดือนต.ค.ที่ภาคใต้ คาดว่าจะทำให้การปลูกข้าวนาปรังปีนี้จะมีน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว ที่ปลูกได้ประมาณ 8-9 ล้านไร่ จากปกติ 11-12 ล้านไร่

“ถ้าสถานการณ์น้ำเป็นแบบนี้ ปัญหาภัยแล้งหลังสิ้นฤดูฝนปีนี้ก็จะรุนแรง เพราะน้ำที่เก็บสะสมจากฤดูฝนมีน้อย อยากเสนอให้มีการงดปลูกนาปรังไปเลย แล้วสนับสนุนชาวนาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น ถั่วที่มีราคาดีตันละ 20,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวปัจจุบันตันละ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น ถ้าปลูกข้าวคนที่อยู่ต้นน้ำก็สูบน้ำไปใช้หมด คนที่อยู่ห่างออกไปก็ไม่ได้น้ำอยู่ดี”

ห่วงนอกเขตชลประทานกระทบแล้งหนัก

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า กรมชลฯยังรับประกันได้ว่าเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ 20 ล้านไร่ จะมีน้ำเพียงพอสามารถเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ ส่วนนอกเขตชลประทานยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำต่อไป เพราะไม่มีเครื่องมือในการดูแล ดังนั้นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำใดที่มีความพร้อมแล้วก็ควรเดินหน้าโครงการได้เลย

“ผมอยากให้สังคมช่วยกันทำความเข้าใจในเรื่องเขื่อน เรื่องแหล่งเก็บน้ำ วันนี้ประเทศไม่มีพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แบบเขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนสิริกิติ์ ที่มีความจุหลักหมื่นล้านลบ.ม.ได้แล้ว มีแต่เขื่อนเล็กๆ หลักร้อยล้านลบ.ม.เท่านั้น ”นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

กรมชลฯเสนอคสช.สร้างเขื่อน21แห่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เสนอแผนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 25 โครงการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รวบรวมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)แล้ว แบ่งเป็นการก่อสร้างเขื่อน 21 โครงการ เป็นเขื่อนในลุ่มเจ้าพระยา 18 โครงการ ที่เหลือเป็นการสร้างทางระบายน้ำ(ฟลัดเวย์)ฝั่งตะวันออกกรุงเทพฯ การพัฒนาพื้นที่รับน้ำนองภาคกลาง และการแก้ปัญหาน้ำท่วม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ทั้งหมดนี้มี 2 โครงการ ที่พร้อมก่อสร้างได้ทันทีหากได้รับการอนุมัติ คือ เขื่อนห้วยท่าพล และการแก้น้ำท่วมหาดใหญ่

“การเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ในทางนโยบายจะต้องแยกให้ชัดเจนว่า จะแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน แล้วจึงจัดสรรงบประมาณให้ตรงวัตถุประสงค์ อย่างฟลัดเวย์ ช่วยแก้เรื่องน้ำท่วม แต่ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ชลประทานโดยตรง ถ้าเราจะสร้างฟลัดเวย์ อาจจะทำให้การเพิ่มพื้นที่ชลประทานอื่นๆ ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากตัวฟลัดเวย์เองใช้เงินก่อสร้างสูงถึง 100,000 ล้านบาท”นายเลิศวิโรจน์ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : กรมชลฯเตือน , งดทำนาปรัง , เสนอคสช. , สร้างเขื่อน21แห่ง

view