สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวิลด์แบงก์จี้พม่าลงทุนโรงสีหนุนส่งออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ธนาคารโลกระบุพม่าสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรได้อย่างมาก หากดำเนินการปรัปปรุงคุณภาพของข้าว

รายงานฉบับล่าสุด "การระดมทุนเพื่อโอกาสในการส่งออกข้าว" ที่ธนาคารโลกออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ บอกด้วยว่า นับแต่ที่การปฏิรูปเริ่มเกิดขึ้นในปี 2554 พม่ามีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกเริ่มทรงตัวที่ราว 1.3 ล้านตันต่อปี แม้รัฐบาลพม่าตั้งเป้าที่จะพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร และกำหนดเป้าส่งออกข้าวให้ได้ถึง 4 ล้านตันภายในปี 2563 ก็ตาม

ข้าวส่วนมากที่ผลิตในพม่าเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะที่จะส่งออกไปยังตลาดที่เน้นคุณภาพสูงอย่างสหภาพยุโรปหรืออียู ที่ซึ่งสินค้าของพม่าได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้สิทธิพิเศษเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาด

ยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวในปัจจุบันของพม่าจึงเน้นไปที่ข้าวคุณภาพต่ำ ที่ส่วนใหญ่ขายให้แอฟริกาและจีน ผลที่ตามมาคือชาวนามีกำไรน้อย และธุรกิจเกษตรละเลยการลงทุนที่จำเป็น สถานการณ์เช่นนี้เลวร้ายลง เมื่อความต้องการข้าวหักคุณภาพต่ำในตลาดโลกกำลังหดตัว

ภาคเกษตรกรรมของพม่าเป็นภาคส่วนที่มีการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ และชาวพม่า 70% อาศัยอยู่ในชนบท แต่ภายใต้รัฐบาลทหารช่วงก่อนหน้านี้ ภาคเกษตรกรรมปรับปรุงผลิตผลได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่การส่งออกข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 60

ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ในพม่าต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ 0.4 ตันต่อไร่ อีกทั้งโรงสีส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรล้าสมัย สีข้าวได้เมล็ดข้าวหักในเปอร์เซ็นต์สูง จึงไม่เหมาะสมที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

รายงานฉบับนี้แนะนำว่า รัฐบาลพม่าควรมีมาตรการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงสีข้าว เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักร และผลิตข้าวได้คุณภาพมากขึ้นเพื่อการส่งออก ทั้งยังควรเดินหน้าทำให้นักธุรกิจโรงสีข้าว ซึ่งต้องการเงินทุนเพื่อซื้อข้าวเปลือกมาเก็บไว้สี เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น ยิ่งธุรกิจสีข้าวมีประสิทธิภาพมากเท่าใดก็จะยิ่งสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิต ดังที่เคยเกิดขึ้นในกัมพูชา แต่การลงทุนในบริการสาธารณะจะช่วยรักษาการขยายตัวในระยะยาว

ปัจจุบัน พม่ามีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอในภาคเกษตรมีน้อยมากและไม่มีการเติบโตแต่อย่างใด รัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนต่อสมาคมผู้ส่งออกข้าว และต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล เอ็นจีโอในประเทศและต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบการเพาะปลูกและสีข้าว

นอกจากนี้ พม่ายังขาดโครงสร้างพื้นฐานในการส่งออกข้าว เช่น ค่าธรรมเนียมขนส่งที่สูงมาก ต้นทุนการผลิตโดยรวมเป็นต้นทุนการขนส่งถึง 25% อย่างในขณะนี้ต้นทุนการขนส่งจากนครย่างกุ้งไปยังเมืองมูเซ พรมแดนพม่า-จีน สูงกว่าต้นทุนขนส่งจากย่างกุ้งไปแอฟริกาเสียอีก


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view