สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หม่อมอุ๋ยแบกกุ้ง สินเชื่อหมื่นล. รง.หนีแตกไลน์

จากประชาชาติธุรกิจ

ส่ง ออกกุ้งแสนล้านวิกฤต โรงงานแห่ปิดตัว ผลผลิตทรุด 50% เหลือ 2 แสนตัน เสนอ คสช.ขอสินเชื่อ 10,000 ล้าน "หม่อมอุ๋ย" ขานรับผู้ส่งออกรายใหญ่หนีตายหันทำธุรกิจอื่น

แหล่งข่าวจากวงการ อุตสาหกรรมส่งออกกุ้ง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้โรงงานแปรรูปกุ้งหลายแห่งอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ที่มีผลกระทบต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปียังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ผลผลิตกุ้งต้นปีนี้ลดลงต่ำกว่าที่คาดกว่า 50%

โรงงานแห่ปิดตัวมากขึ้น

ล่า สุดมีโรงงานรายเล็กและรายกลางปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ขณะที่รายใหญ่ที่มีโรงงานผลิตหลายแห่งได้ปิดกิจการบางโรงงานลง เพราะไม่มีวัตถุดิบผลิต และโรงงานขนาดใหญ่บางรายได้ปรับไลน์การผลิตสินค้าไปทำธุรกิจอื่น เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ปิดโรงงานที่มหาชัยย้ายไปทำโรงงานแปรรูปกุ้งที่ประเทศอินเดีย และเปลี่ยนจากโรงงานแปรรูปกุ้งไปผลิตอาหารสำเร็จรูปแทน ขณะที่บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด แตกไลน์ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเจ อาหารมังสวิรัติ, กลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF มีข่าวว่าจะไปเปิดโรงงานแปรรูปกุ้งที่ประเทศเวียดนาม เป็นต้น

"เท่า ที่ทราบแบงก์เจ้าหนี้หลายแห่งแบกภาระ ปรับโครงสร้างหนี้กับหลายโรงงาน ก็พยายามประคองกันไป โดยเฉพาะรายใหญ่ค่อนข้างหนัก คนที่ปรับตัวไม่ได้ต้องออกไปจากระบบ ลองคิดดูปี 2553ผลผลิตกุ้งไทยมีถึง 600,000 ตันต่อปีมูลค่าการส่งออกปีละกว่าแสนล้านบาท ตอนนั้นผู้ส่งออกยังแย่งซื้อกันอุตลุด ปี 2556 ผลผลิตเหลือ 250,000 ตันแย่งซื้อเสนอราคากันเลือดสาด เพื่อให้ได้วัตถุดิบ รายเล็กเสนอราคาสู้รายใหญ่ก็ตายไป ไม่ได้ของ ขณะที่ราคาขายไม่สามารถปรับได้สูงมาก ราคากุ้งพุ่งขึ้นไปสูงมากขนาด 100 ตัวต่อ กก.ราคาประมาณ 250 บาท แต่ตอนนี้ราคากุ้งปรับลดลงเหลือ 150-180 บาท/กก. เช่นกัน สาเหตุมาจาก 2 กรณีคือ มีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเข้ามา และโรงงานแปรรูปกุ้งปิดกิจการไปหลายแห่ง" แหล่งข่าวกล่าว

ขอสินเชื่อหมื่นล้านอุดสภาพคล่อง

นาย นิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยได้ทำเรื่องหารือมายังกรมประมง เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินให้กับโรงงานแปรรูปกุ้ง และห้องเย็น ประมาณ 5,000 ล้านบาท และเกษตรกรผู้เลี้ยง ประมาณ 5,000 ล้านบาทรวมเป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งยังประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ทำให้ผลผลิตกุ้งในปีนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งกรมประมงได้นำเรื่องดังกล่าวหารือไปยังนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้นำเสนอต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงเกษตรฯเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา และล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัยได้มอบให้ทางหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช. ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจ เข้ามาดูแล และช่วยประสานกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการหาวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือ คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้เร็ว ๆ นี้

ผลผลิตปี 57 เหลือ 2 แสนตัน

ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวในงานสัมมนา SEA FOOD Edition ในหัวข้อสถานการณ์อาหารทะเลและแนวโน้มการฟื้นตัวอุตสาหกรรมกุ้งไทย ปี 2557 ว่า ขณะนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมงได้รายงานตัวเลขผลผลิตกุ้งขาวช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 57) อย่างเป็นทางการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่ามีปริมาณผลผลิตลดลงมาก จึงคาดว่าผลผลิตกุ้งทั้งปี 2557 น่าจะได้เพียง 200,000-220,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบปี 2556 ที่มีผลผลิตประมาณ 2.5 แสนตัน เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งยังตายต่อเนื่อง และดูอาการยังค่อนข้างหนัก ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขผลผลิตปี 2558 คงดีขึ้น เพราะผลผลิตตกลงในอัตราที่ช้าลง คงติดลบไม่ถึง 10% เห็นได้จากตัวเลขเดือนมกราคมปี 2557 ได้ผลผลิตเพียง 12,426 ตัน เดือนมกราคมปี 2556 ได้ผลผลิตถึง 27,822 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 ได้ผลผลิต 9,717 ตัน ปี 2556 ได้ผลผลิต 19,520 ตัน เดือนมีนาคมปี 2557 ได้ผลผลิต 13,022 ตัน ปี 2556 ได้ผลผลิต 24,412 ตัน และเดือนเมษายนปี 2557 ได้ผลผลิต 11,351 ตัน ปี 2556 ได้ผลผลิต 19,874 ตัน

แนะผู้ส่งออกปรับตัวเพื่ออยู่รอด

นาย พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์เลี้ยงกุ้งขาวปี 2557 ผลผลิตคาดว่าจะทำได้ไม่เกินผลผลิตของปีที่แล้วหรืออาจต่ำกว่า โดยอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.5 แสนตัน จากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ที่ยังแก้ไขไม่ได้ และปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน หนาวจัดในตอนต้นปีและขณะนี้อยู่ในภาวะร้อนจัด จึงคาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้ากุ้งจากอินเดียรวมทั้งปี 2557 ประมาณ 3-4 หมื่นตัน ขณะนี้นำเข้ามาแล้ว 2 หมื่นตัน และผู้ประกอบการส่งออกอาหารแช่แข็งต้องปรับตัวด้านวัตถุดิบ จำเป็นต้องใช้กุ้งเป็นส่วนผสมให้น้อยลง เน้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมอื่นมากขึ้น

ฟาร์มกุ้งปิดตัวขาดสภาพคล่อง

นาย สมชาย ฤกษ์โภคี ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงสถานการณ์เลี้ยงกุ้งในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2557 ว่า แย่ลงกว่าปีก่อน เนื่องจากอากาศร้อนจัด เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อวิบริโอ สาเหตุของโรค EMS แต่ขณะนี้อุณหภูมิเริ่มลดลงจากพายุฤดูร้อน ทำให้แนวโน้มผลผลิตกุ้งครึ่งปีหลังสดใสขึ้น น่าจะได้ผลผลิตรวมทั้งปี 2557 ที่ 2-2.5 แสนตันตอนนี้ราคารับซื้อกุ้งของห้องเย็นปรับขึ้นลงตามอุป สงค์-อุปทานตลาด แต่มักจะถูกกดราคาลงมา โดยกุ้งขนาด 100 ตัวต่อ กก.ราคาจะอยู่ที่ 150-180 บาทต่อ กก.

ในขณะที่ต้นทุนผู้เลี้ยงเพิ่ม ขึ้น 20% เพราะต้องเพิ่มการบริหารจัดการ โดยต้นทุนจึงอยู่ที่ 160-180 บาทต่อ กก. จึงน่าเป็นห่วงว่า หากราคากุ้งไม่ปรับขึ้นเร็ว ๆ นี้ อาจจะมีเกษตรกรที่ต้องพักบ่อเพิ่มขึ้น เพราะโรคกุ้งตายด่วนที่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้เกษตรกรปิดฟาร์มกุ้งหรือเริ่มขาดสภาพคล่องไปประมาณ 10-15% ของผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ ถ้าเกษตรกรรายใดไม่ได้ลงทุนด้วยเงินกู้ ก็ยังมีเงินทุนหมุนเวียนและยังดำเนินกิจการได้ แต่ต้องลงกุ้งจำนวนน้อยลง ส่วนกรณีที่รัฐจะปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง น่าจะช่วยเกษตรกรรายย่อยได้ระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นผลดี

นายจักรรินทร์ เพชรเจริญ รองประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ฝ่ายประมง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งว่า ต้นปีนี้อากาศหนาวจัดและฤดูร้อนปีนี้อากาศร้อนจัด ล้วนไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรจึงเลี้ยงกุ้งกันเพียง 10% เท่านั้น


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view