สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สจน.เผยผลตรวจน้ำ บ้านคลิตี้ ปลอดภัย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สจน.เผยผลตรวจสอบน้ำประปาภูเขาหมู่บ้านคลิตี้ เมืองกาญจน์ ยันปริมาณสารตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน

เมื่อวานนี้ (2มิ.ย.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำประปาภูเขา บริเวณหมู่บ้านคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ของสำนักจัดการคุณภาพน้ำ (สจน.) ผ่านทางเฟซบุ๊คของกรมควบคุมมลพิษ หลังจากที่เจ้าหน้าที่สำนักจัดการคุณภาพน้ำได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำประปาภูเขาไปทำการตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษ ระหว่างวันที่ 19 - 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

โดยผลการวิเคราะห์ปริมาณสารตะกั่วในน้ำประปาภูเขาบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ พบว่า ตัวอย่างน้ำทั้ง 6 ตัวอย่าง มีค่าปริมาณสารตะกั่วในน้ำน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำประปา ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พ.ศ.2553 ที่กำหนดให้มีตะกั่วไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร

และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่ม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในทางวิชาการสำหรับการป้องกันด้านสาธารณสุขและการป้องกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้มีตะกั่วไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร

ทั้งนี้ หมู่บ้านคลิตี้มีแหล่งน้ำประปาภูเขาหมู่บ้านทั้งหมด 7 แหล่ง แบ่งเป็นบ้านคลิตี้บน 3 แหล่ง โดยเจ้าหน้าที่ สจน.ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำประปาภูเขาแหล่งละ 1 จุด รวม 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.บ้านผู้ใหญ่บ้านนิติพล ตันติวานิช 2.ร้านค้าสหกรณ์บริเวณโรงแต่งแร่คลิตี้ และ 3.ร้านค้าบริเวณหลังโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน

ส่วนบริเวณบ้านคลิตี้ล่างแบ่งเป็น 4 แหล่ง แต่มี 1 แหล่งที่ไม่มีน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำประปาภูเขาแหล่งละ 1 จุด รวม 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.บ้านนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ 2.วัดคลิตี้ล่าง และ 3.บ้านนายบูลาเจล ไม่ทราบนามสกุล

สำหรับการตรวจสอบคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษนั้น มีการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2547 โดยสำนักจัดการคุณภาพน้ำจะสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจากห้วยคลิตี้และน้ำประปาภูเขาไปตรวจสอบคุณภาพ

นอกจากนี้ยังมีการนำตัวอย่างดินธรรมชาติ ดินเกษตรกรรม สัตว์น้ำ (กุ้ง หอย ปู ปลา) รวมทั้งพืชผักไปตรวจสอบคุณภาพด้วยเช่นกัน โดยผลการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น สำนักจัดการคุณภาพน้ำจะนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบทุกๆ 4 เดือน ตามแหล่งชุมชน เช่น วัดคลิตี้ล่าง ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น

แม้ว่าจะมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นระยะ แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังไม่กล้าใช้น้ำในลำห้วย โดยเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา หลังจากชาวบ้านที่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นค่าอาหารและค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เป็นเงินชดเชยคนละ 1.7 แสนบาท รวม 22 คน รวมเป็นเงินกว่า 3.8 ล้านบาทนั้น ก็มีชาวบ้านนำเงินบางส่วนไปทำน้ำประปาภูเขาให้กับชาวบ้านที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view