สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แผ่นดินไหว...ใจอย่าไหว ภัยธรรมชาติใกล้ตัวคนไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น5ประชาชาติ โดย รัตนา จีนกลาง

การเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ความลึก 7 กิโลเมตร ถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดความแรงสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย และแรงสั่นสะเทือนยังครอบคลุมไปถึงหลายจังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา หนองคาย เลย และกรุงเทพฯ

ภัยพิบัติครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจการลงทุนโดยตรง แต่ก็ได้สร้างความตื่นตระหนกขวัญผวาต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะชาวเชียงรายที่อาศัยอยู่ในรัศมีใกล้ศูนย์กลางของรอยเลื่อน ซึ่งขณะนี้ยังตกอยู่ในสภาพกินไม่ได้นอนไม่หลับ ใช้ชีวิตหรือทำมาหากินตามปกติไม่ได้ เด็กนักเรียนไม่มีที่เรียนหนังสือ เพราะโรงเรียนเสียหายกว่า 30 แห่ง

นอกจากนั้นยังสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นอย่างมากจากการเกิด "อาฟเตอร์ช็อก" ตามมาถี่ยิบเกือบ 800 ครั้ง โดยมีแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่ระดับ 2-5.6 ริกเตอร์ตลอดระยะเวลา 10 กว่าวันที่ผ่านมา ซึ่งกินเวลายาวนานหลายวันเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งความเสียหายอาจเพิ่มขึ้นอีก

ล่าสุดมีการสรุปผลกระทบว่า มูลค่าความเสียหายสูงถึง 1 พันล้านบาท โดยมีบ้านเรือนเสียหายมากกว่า 1 หมื่นหลัง แบ่งเป็นบ้านเสียหายทั้งหลัง 116 หลัง เสียหายบางส่วน 8,935 หลัง วัด 99 แห่ง โบสถ์คริสต์ 7 แห่ง โรงเรียน 35 แห่ง มหาวิทยาลัย 1 แห่ง สถานพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนน 5 สาย คอสะพาน 5 แห่′

ความเสียหายเหล่านี้ต้องได้รับการฟื้นฟู ซ่อมแซม และก่อสร้างใหม่ ซึ่งต้องเร่งช่วยเหลือกันต่อไป

แผ่นดินไหวรอบนี้แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงผู้อาศัยอยู่บนตึกสูงในเขตกรุงเทพมหานครด้วย แต่กว่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้นก็ล่วงเลยไปเป็นชั่วโมงแล้ว ผู้คนต้องอาศัยข่าวสารจากโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วหลังเกิดเหตุควรต้องรีบแจ้งเตือนประชาชนให้ทันสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่จะตามมาจากอาฟเตอร์ช็อก

ทั้งนี้เราต้องยอมรับความจริงกันว่า คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องแผ่นดินไหวน้อยมาก และยังไม่รู้จักวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ยกเว้นประชาชนในพื้นที่จังหวัดอันดามันที่ประสบเหตุสึนามิมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน

ครั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นจริง ผู้คนส่วนมากก็จะตกใจ ตื่นตระหนก วิ่งหนีตายกันอลหม่านออกจากอาคาร ห้าง หรือตึกสูง

บิ๊กดีเวลอปเปอร์ชื่อดังของเมืองไทยบอกว่า เหตุแผ่นดินไหวยังไม่กระทบต่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่หากเกิดแผ่นดินไหว ใครที่อยู่บนตึกสูงให้หมอบลง อย่าวิ่งลงจากตึกสูง ส่วนใหญ่ตึกสูงจะไม่ถล่ม แต่บ้านแนวราบจะถล่มเสียหายมากกว่า แผ่นดินไหว จึงเป็นภัยธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกขณะแล้ว

วันนี้หากคนไทยจะตื่นตัวขึ้นมาระแวดระวังภัยแผ่นดินไหวไว้ล่วงหน้าก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่มีใครบอกล่วงหน้าได้ว่ามันจะอุบัติขึ้นวันไหน

ต่อไปการก่อสร้างบ้านเรือน ที่พักอาศัย ถนน อาคารร้านค้าต่าง ๆ ก็จะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ทนทานต่อการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ด้วย

กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนล่าสุดพบ 14 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยที่ต้องศึกษาและเฝ้าระวัง ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน แม่ฮ่องสอน เมย แม่ทา เถิน แม่ยม พะเยา ปัว อุตรดิตถ์ เจดีย์สามองค์ ศรีสวัสดิ์ ท่าแขก ระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยในฝั่งอันดามัน นี่ยังไม่นับรวมรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศเพื่อนบ้านอีก

ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวตามระดับความเสี่ยงภัย ครอบคลุม 22 จังหวัด จำแนกเป็น "พื้นที่เฝ้าระวัง" ในภาคใต้ 7 จังหวัด คือ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี

นอกจากนั้นยังมี "พื้นที่ดินอ่อนมาก" ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และพื้นที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนในภาคเหนือและด้านตะวันตกอีก 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และกาญจนบุรี และจะขยายพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มที่พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์

แม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่าประเทศอื่น แต่การไม่ประมาท และมีระบบเตือนภัยย่อมดีที่สุด เวลานี้เศรษฐกิจก็ไม่ดี แถมยังมีภัยพิบัติมากล้ำกรายอีก ชาวบ้านตาดำๆ ต้องตั้งสติให้มั่น ใจอย่าได้ไหวตาม


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view