สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แผ่นดินไหวเชียงรายเสียหายพันล. ผวาอาฟเตอร์ช็อกยาว-รองบฯซ่อมสร้าง

จากประชาชาติธุรกิจ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาด 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ความลึก 7 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชน และสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นอย่างมาก และยังมีการสั่นไหว หรือเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกกว่า 10 วัน ทำให้ผลกระทบกินระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์



ทำให้ยากที่จะประเมินจุดสิ้นสุดของสถานการณ์และความตื่นตระหนกของผู้คน ขณะที่ทางจังหวัด โดย "นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประเมินว่า ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้มีมูลค่านับ 1,000 ล้านบาท

ซึ่งแนวทางการแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุ ได้แก่ การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเกือบทุกหน่วย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเสียหายที่จังหวัดเชียงรายกระจายบนพื้นที่ 7 อำเภอ 47 ตำบล 478 หมู่บ้าน และยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกประมาณ 800 ครั้ง จึงทำให้ข้อมูลการสำรวจความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด



ล่าสุด (14 พ.ค.) ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจากแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ได้สรุปตัวเลขว่ามีบ้านเรือนเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นหลัง โดยแบ่งเป็นบ้านเสียหายทั้งหลัง จำนวน 116 หลัง เสียหายบางส่วน 8,935 หลัง วัด 99 แห่ง โบสถ์คริสต์ 7 แห่ง โรงเรียน 35 แห่ง มหาวิทยาลัย 1 แห่ง สถานพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนน 5 สาย ตลิ่งพัง1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง คอสะพาน 5 แห่งมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากฝาบ้านล้มทับ และมีผู้บาดเจ็บ 24 ราย

ผู้ว่าฯเชียงรายกล่าวว่า ได้สั่งการให้มีการสำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง โดยมีคำสั่งตั้งคณะทำงานศูนย์ประสานงานตรวจสอบอาคาร เพื่อกำหนดว่าอาคารหรือบ้านเรือนไหนอาศัยอยู่ได้ ต้องซ่อมแซม หรือต้องรื้อสร้างใหม่

สำหรับบ้านเรือนของชาวบ้านที่เสียหายทั้งหลังจะได้รับค่าชดเชยสูงสุด หลังละ 33,000 บาท ผู้เสียชีวิต ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว ได้รับรายละ 50,000 บาท คนทั่วไป ได้รายละ 25,000 บาท โดยเบื้องต้นจะใช้ให้ท้องถิ่นดูแลไปก่อน หากไม่เพียงพอก็ใช้งบประมาณฉุกเฉินจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวของจังหวัดก่อน 20 ล้านบาท และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 50 ล้านบาท สำนักงบประมาณ 500 ล้านบาท

ด้านความเสียหายทางหลวงหมายเลข 118 ตรงบ้านห้วยส้าน ม.13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ถนนสายหลักเชื่อมชียงราย-เชียงใหม่ พบความเสียหายหนักคือ กม.141 ได้มีการซ่อมแซมด้วยการอุดรอยแล้ว

ส่วน กม.151 ต้องมีการสร้างใหม่ด้วยงบฯ 30 ล้านบาท โดยขุดและถมจุดที่เสียหายก่อน จากนั้นทำทางเบี่ยงเพิ่มเพื่อให้รถวิ่งสวนกันได้ จากนั้นสร้างถนนที่แนวใหม่ลึกเข้าไปในเขตป่าใกล้เคียง เพราะเกรงว่าชั้นใต้ดินจะเป็นโพรง ส่วนการซ่อมสะพานทุกแห่งจะใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท

ขณะที่ "พัฒนา สิทธิสมบัติ" ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้ประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ว่ามี 2 ระดับ ระดับแรก คือความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน ระดับที่สอง คือความเชื่อมั่นต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะเชียงรายขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่ตนเชื่อว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

"อภิชา ตระสินธุ์" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวคงเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือไม่เกิน 1 เดือน เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ การท่องเที่ยวก็จะกลับมาดีเหมือนเดิม

ทว่าสิ่งสำคัญประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังคงตกอยู่ในอาการหวาดผวากับอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน รวมทั้งมีภาระต้องเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนพักอาศัยที่ต้องใช้เงินทุนมาก

ขณะที่การช่วยเหลือจากภาครัฐก็ได้เริ่มทยอยจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงทั้งหมด

แต่โจทย์ใหญ่คือความชัดเจนของแผนรับมือภัยพิบัติและระบบเตือนภัย รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังคงหวาดผวากับภัยแผ่นดินไหวไม่รู้จบ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ในหลายเรื่อง


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view