สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลปค-รับไต่สวนฉุกเฉินเบรกขายยาง2แสนตัน

จาก โพสต์ทูเดย์

ศาลปกครองรับไต่สวนฉุกเฉินระงับการขายยางในสต็อก2แสนตันกระทบเสถียรภาพราคาในประเทศ


เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กลุ่มชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย จำกัดโดยนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ในฐานะประธานชุมนุมสหกรณ์ , สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย โดยนายบุญส่ง นับทอง ในฐานะประธานสมาคม , เครือข่ายสวนยางแห่งประเทศไทย โดยนายสังเวิน ทวดห้อย ในฐานะประธานเครือข่าย, สมาคมเครือข่ายเกษตรสถาบันเกษตรยางพาราแห่งประเทศไทย โดยนายวรานนท์ อนันวรกรณ์ ในฐานะนายกสมาคม ผู้ฟ้องที่ 1-4 ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยาง , องค์การสวนยาง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องที่ 1 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ที่มีมติให้ระบายยางในสต็อกจำนวน 2.1 แสนตัน ออกขายสู่ตลาด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ระงับหรือหยุดการปฏิบัติตามมติดังกล่าว

ผู้ฟ้องทั้ง 4 ยังขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระงับการกระทำตามมติของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ด้วยโดยคำฟ้องสรุปว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2556 ผู้ฟ้องที่ 1-4 มีข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางไปยังรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีราคายางตกต่ำ ซึ่งต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลภายใต้วงเงิน 4.5 หมื่นล้าน เพื่อรับซื้อยางพาราแผ่นดิบในราคา 100 บาท ต่อกิโลกรัม และยางรมควันชั้น 3 ในราคา 104 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจากการรับซื้อยางพารามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลทำให้มียางในสต็อกจำนวน 2.1 แสนตัน

ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2556 ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อให้มีการมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จัดทำแผนบริหารสต็อกยาง ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นฝ่ายจัดซื้อยาง จากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและนำมาแปรรูปเก็บเป็นสต็อกเพื่อรอจำหน่ายในราคาและช่วงราคาที่เหมาะสม

ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2557ผู้ถูกฟ้องที่ 1 โดยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกฯและรมว.เกษตรฯ เป็นประธานประชุมหารือเรื่องราคายางในสต็อกจำนวน 2.1 แสนตัน โดยที่ประชุมให้จัดตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องการระบายสต็อกเป็นการเร่งด่วน โดยให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เป็นผู้จัดทำรายการ ซึ่งมติของผู้ถูกฟ้องดังกล่าวขัดแย้งกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาฯ และมติของกนย. ที่มีมติให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จัดสต็อกยางมาใช้ภายในประเทศ โดยไม่มีการขายยางในสต็อก

ทั้งนี้ หากขายยางในสต็อกจำนวน 2.1 แสนตัน จะทำให้รัฐบาลขาดทุนทันทีจากการขายราคาถูก ซึ่งราคายางปัจจุบันกิโลกรัมละ 40-50 บาทซึ่งหากมีการหักเปอร์เซ็นต์เชื้อราและรูปทรงแล้ว ถ้าขายยางได้หมดสต็อกจะคิดเป็นมูลค่า 1หมื่นล้านบาท ขณะที่ต้นทุนจากการแทรกแซงราคายางเมื่อปี 2556 ที่มีการจัดซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท

ดังนั้น เมื่อคิดคำนวณแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ รัฐบาลจะต้องขาดทุนจากการนำยางในสต็อกออกขายตามมติของผู้ถูกฟ้องที่1 จะคิดเป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นมติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องทั้ง 4 และเกษตรชาวสวนยางทั่วประเทศได้รับความเดือนร้อยเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกมติดังกล่าว

ต่อมาศาลได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ 658/2557 ต่อมาเวลาศาลได้เรียกผู้ฟ้องเข้าไต่สวนเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยมีนายอำนวย วรรณมาโส ทนายความผู้รับมอบอำนาจ เข้าให้ถ้อยคำชี้แจงต่อศาล

นายอำนวย กล่าวว่า ศาลได้เรียกไต่สวนฉุกเฉินผู้ฟ้องฝ่ายเดียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งศาลก็ได้สอบถามในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกมติดังกล่าว รวมทั้งระยะเวลาการขายยางในสต็อกตามมติว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด และหากมีการขายยางไปแล้วจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อเกษตรกรมาน้อยเพียงใด ซึ่งตามคำฟ้องเราได้ระบุไว้แล้วว่าการขายยางในสต็อกตามมติจะทำให้รัฐขาดทุน

ทั้งนี้ศาลได้แจ้งว่าศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว แต่จะไต่สวนทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องเกี่ยวกับคำร้องในการขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ เวลา 13.30 น.

นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อสย.) เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยางที่มีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการบริหารจัดการยาง และระบายยางพาราในสต็อกรัฐบาล จำนวน 2แสนตัน

ขณะนี้ อสย.อยู่ระหว่างปรับแก้รายละเอียดและจะส่งให้กลับไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกรมวิชาการเกษตรเพื่อแต่งตั้งตัวแทนมาเป็นคณะกรรมการระบายยาง โดยคาดว่าในวันที่ 19พฤษภาคม กระทรวงเกษตรฯจะได้รับหนังสือ

ส่วนการระบายยางในสต็อกเพื่อความโปร่งใสจะระบายครั้งเดียว 2แสนตัน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้ราคาต่ำกว่าราคาในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 64บาทต่อกิโลกรัม โดยส่วนตัวคิดว่าผู้ซื้อยางจะเป็นพ่อค้ายางในประเทศ หากระบายหมด ราคายางจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เพราะผู้ซื้อจะช่วยดันราคายางที่มีอยู่ให้ขายได้ในราคาที่ไม่ขาดทุนแม้ว่ายางพาราของรัฐบาลจะเก็บอยู่ในสต็อกมากว่า 1 ปี แต่คุณภาพยางยังปกติมีเพียงลักษณะของยางที่ผิดรูป อาจทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view