สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กันไว้ดีกว่าแก้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ขณะกำลังเขียนต้นฉบับคอลัมน์นี้ ช่วงใกล้เที่ยงคืนวันที่ 12 พ.ค. บังเอิญเป็นช่วงที่สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวในไทยครั้งล่าสุด ใน อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 1.9 ริกเตอร์ เวลา 23.11 น.พอดี เลยขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย เท่าที่พอจะรวบรวมได้มาถ่ายทอดต่อ

ก่อนหน้านั้นไม่ถึงชั่วโมง ราว 22.31 น. ก็เพิ่งจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.5 ริกเตอร์ ที่ อ.แม่สรวย และ 3.8 ริกเตอร์ ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ไม่นับอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างอีกนับสิบครั้งตลอดทั้งวัน อาคารบ้านเรือน วัด ถนน ฯลฯ ที่เสียหายอยู่แล้วเสียหายรุนแรงขึ้น

หลังเกิดแผ่นดินไหววันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งร้ายแรงสุดเท่าที่เคยมีการตรวจวัด ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่ระดับความลึก 7 ก.ม. บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย กรมอุตุฯ รายงานว่ามีแผ่นดินไหวต่อเนื่อง ตามมาลักษณะอาฟเตอร์ช็อกถึงต้นสัปดาห์นี้รวมแล้ว 744 ครั้ง เป็นขนาด 5.0-5.9 รวม 8 ครั้ง 4.0-4.9 รวม 29 ครั้ง 3.0-3.9 รวม 119 ครั้ง และน้อยกว่า 3.0 มากกว่า 588 ครั้ง

ที่นำข้อมูลมาอัพเดตก็เพื่อย้ำเตือนให้คนไทยในพื้นที่เสี่ยงตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุ เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่า ทั่วโลกจะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแต่ละวันนับร้อย ๆ ครั้ง ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติทางธรรมชาติ เพียงแต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่เท่านั้น

เอกสารโครงการจัดทำฐานข้อมูลแห่งชาติเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและสึนามิ โดยคณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติ จากการรวบรวมของกรมอุตุฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่กระทบประเทศไทยว่า ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 624 ปีก่อน ค.ศ. ตรงกับวันพฤหัสฯ เดือน 10 ศูนย์กลาง-ตำแหน่งที่รู้สึกได้ อยู่บริเวณโยนกนคร ความรุนแรง VI MM ซึ่งเป็นมาตราวัดแผ่นดินไหวมาตราเมอร์แคลลี (MM) มีบันทึกด้วยว่าครั้งนั้นมีปรากฏการณ์ทั้งฟ้าร้อง แผ่นดินไหว

แม้การบันทึกในสมัยโบราณจะไม่ละเอียดครบถ้วนแต่เป็นที่น่าสังเกตว่า "โยกนกนคร" ซึ่งในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง น่าจะตั้งอยู่ในจุดเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว เพราะมีบึนทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง กระทั่งปี พ.ศ. 1003 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้โยนกนครทั้งเมืองยุบจมลงกลายเป็นหนองน้ำใหญ่

จากนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1905 ถึง พ.ศ. 2258 แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเมืองสำคัญอีกหลายแห่ง ทั้งสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา เชียงแสน ฯลฯ ถึงปี พ.ศ. 2311 จึงมีบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ค่อนข้างละเอียดชัดเจนเป็นครั้งแรก คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2521 เวลา 06.22 น. ขนาด 4.8 MB ปัจจุบันแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั้งในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้

ข้อมูลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า มีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านประเทศไทย เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว 14 รอยเลื่อน 1.รอยเลื่อนแม่จัน ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ 2.แม่อิง จ.เชียงราย 3.แม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก 4.เมย จ.ตาก กำแพงเพชร

5.แม่ทา จ.เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย 6.เถิน จ.ลำปาง แพร่ 7.พะเยา จ.พะเยา เชียงราย ลำปาง 8.ปัว จ.น่าน 9.อุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 10.เจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี 11.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ตาก 12.ระนอง จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พังงา คลองมะลุ่ย จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และ 14.เพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์

แม้ประเทศไทยจะมีแผนแม่บทป้องกันแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม และล่าสุดคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติ 5 พ.ย. 2556 เห็นชอบให้ขยายแผ่นฯ จากปี 2553-2557 ไปถึงปี 2562 แต่หลายภาคส่วนรวมทั้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมักตื่นตัวเฉพาะช่วงเกิดเหตุใหม่ ๆ เมื่อเวลาผ่านพ้นไปก็มักจะเข้าทำนองไฟไหม้ฟาง จึงต้องปรับวิธีคิดใหม่ ป้องกันไว้ดีกว่าตามแก้


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view