สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระดมสมองแก้ปัญหา ราคายางดิ่ง ปฏิรูประบบตลาด-การเมืองอย่าแทรกแซง

จากประชาชาติธุรกิจ

วันนี้ ราคายางพาราตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดกิโลกรัมละไม่ถึง 60 บาท ซ้ำยังมีการคาดการณ์ว่าอาจดิ่งสู่ 40 บาทภายในไม่กี่ปีข้างหน้า แน่นอนว่าปัญหานี้ส่งผลให้เศรษฐกิจภูมิภาคทรุดตัวตามไปด้วย ยอดขายธุรกิจน้อยใหญ่ทั้งค้าปลีก รถยนต์ การค้าชายแดน ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า


ล่าสุด คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดสัมมนาเรื่อง "มาตรการเชิงรุก-เชิงรับ สินค้าเกษตรกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเกษตรฐาน อุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ประเด็นสำคัญคือ การเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำเป็นพิมพ์เขียว "การปฏิรูปยางพาราไทย" เสนอเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำเฉพาะหน้าเท่านั้น

"อุทัย สอนหลักทรัพย์" ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาฯ ระบุว่า ขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำอย่างมาก ทำให้เกษตรกรขาดทุนจนอยู่ไม่ได้ ในขณะที่ปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า มีราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นับรวมค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงต้องมีการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ

เขาชี้ว่า ทางออกเดียววันนี้ คือ เกษตรกรต้องลดต้นทุนการผลิตให้ได้ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ปลูกพืชร่วมคู่กับยางพาราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตที่สำคัญต้องแปรรูปยางแบบครบวงจร ขณะที่ภาครัฐเองต้องปรับปรุงและ หาช่องทางตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปยางพารา พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะให้เงิน 15,000 ล้านบาทในการแปรรูปยาง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครได้ และกำลังเป็นปัญหาสะสมที่กัดกินในรัฐบาลเอง

"ปัญหาสำคัญในการแก้ไขและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทย คือ ผู้บริหารที่ไม่มีความต่อเนื่อง ดังนั้นการเมืองต้องไม่เข้ามาแทรกแซง และให้โอกาสภาคเกษตรได้เติบโตด้วยตัวเอง"

"อำนวย ปะติเส" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สภาที่ปรึกษาฯได้ทำการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบอย่างรอบด้าน ทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว และจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับเก่าสิ้นสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนแผนฉบับใหม่กำลังอยู่ระหว่างจัดทำจากการศึกษาพบว่า 1.เกษตรกรต้องยกระดับฐานะของตัวเอง เพื่อเข้าถึงตลาดและนำเงินออกมาจากตลาด

2.เกษตรกรต้องไม่กรีดหรือขูดเอาน้ำยางออกมาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำการตลาดของผลผลิตของตัวเองด้วย รวมทั้งต้องขายผลผลิตของตัวเองได้ในทุกที่

3.ตลาดที่ทันสมัยที่สุด คือตลาดที่อยู่ในกระดาษ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูประบบตลาดทั้งหมด แม้ว่าเกษตรกรจะเข้าไม่ถึง แต่ต้องรู้จักกลไกตลาดกระดาษ เนื่องจากเป็นตลาดที่กำหนดราคา แต่รัฐบาลเองต้องจัดให้มีการตลาดที่สะดวก ส่วนเกษตรกรต้องเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายผลผลิตของตัวเอง เช่น รวบรวมผลผลิตให้ได้ 1-2 แสนตันแล้วขายเอง

"ถ้าเกษตรกรยังไม่ทำเองก็จะไม่รู้ และทำไม่ได้ เกษตรกรต้องเดินหน้าเข้าหาตลาด ทำตลาดให้ยุติธรรม มีข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสถานการณ์ เกษตรกรจึงต้องปรับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ จึงจะเกิดความมั่นคงและมีเสถียรภาพของราคายาง" อดีตรัฐมนตรีช่วยคลังสรุปทิ้งท้าย


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view