สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โรคกุ้งตายด่วน อาละวาดหนัก 2ปีเอาไม่อยู่ทุบผลผลิตลดฮวบ

จากประชาชาติธุรกิจ

อากาศแปรปรวน-โรคตายด่วนฉุดผลผลิตกุ้งวูบหนักไม่ถึงเป้า 3 แสนตัน ลามส่งออกปี"57 ไม่โต ส.อาหารแช่เยือกแข็งชี้ ปัญหากุ้งไม่มีแถมราคาตก หลังไทยเสียตลาดส่งออกให้มาเลเซีย-อินโดฯ เอกชนหนีตายลงทุนอินเดีย



ดร.พุทธ ส่องแสงจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางสถาบันเตรียมออกตรวจสอบโรงเพาะฟักกุ้งและโรงอนุบาลกุ้งทั่วประเทศ 400-500 โรง

หลังจากการแก้ไขปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (อีเอ็มเอส) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ยังทรงตัว และยังมีโรคตัวแดงดวงขาวแทรกซ้อนอีก ส่วนผลผลิตกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำที่จับได้ 2 เดือนแรกปีนี้ มีปริมาณ 23,649.43 ตัน แยกเป็นกุ้งขาว 22,143.41 ตัน ลดลง 53.23% และกุ้งกุลาดำ 1,506.02 ตัน ลดลง 43.56% สาเหตุที่ลดลงมากจากต้นปีนี้อากาศหนาวจัด ซึ่งต้องรอประเมินผลผลิตรอบเดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ว่าจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ 3-3.5 แสนตันหรือไม่

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คาดว่าผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงปีนี้จะมีเพียง 2.5 แสนตันเท่ากับปีก่อน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3 แสนตัน จากปัญหาการจัดการและสภาพแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาอากาศร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้กุ้งกินอาหารน้อยลง เมื่ออาหารเหลือค้างทำให้น้ำในบ่อเน่าเร็ว โดยเฉพาะกุ้งขาวที่เลี้ยงในพื้นที่น้ำจืดจังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม ราชบุรี ฯลฯ ปกติจะมีผลผลิตรวมประมาณปีละ 6-7 หมื่นตัน เสียหายไปกว่า 70% หรือเสียหายไปเกือบ 5 หมื่นตัน/ปี ส่วนการเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่น้ำเค็มหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี ยังไม่เลี้ยง เพราะไม่มั่นใจ กำลังรอดูว่าวิธีไหนที่จะเลี้ยงได้ดีอยู่ เพื่อไม่ให้ขาดทุนมากไปกว่านี้

นายบุญเลิศ ช้างงาม ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตยังหายไป 40-50% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ คาดว่าปีนี้ผลผลิตจะได้ 2.5 แสนตัน เพราะผู้เลี้ยงไม่มั่นใจไม่กล้าลงกุ้ง ที่เคยเลี้ยง 10 บ่อเหลือเพียง 3-4 บ่อ และอัตรารอดลดลง 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 1 บ่อได้ 500 กก.ถึง 1,500 กก.

สาเหตุหลักมาจากพ่อแม่พันธุ์กุ้งของ ไทยเหลือน้อยและขาดแคลน ลูกกุ้งที่ผลิตได้อ่อนแอ อัตราการตายภายใน 1 สัปดาห์หลังจากปล่อยลงบ่อสูงขึ้น หากเกษตรกรซื้อลูกกุ้งจากบริษัทใหญ่ครบวงจรต้องซื้ออาหารกุ้งด้วย เรื่องนี้กรมประมงต้องลงมาแก้ไข รวมทั้งต้องช่วยเจรจานำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากต่างประเทศมาเสริม เพราะผู้นำเข้ารายเล็กไม่สามารถสู้รายใหญ่ครบวงจรที่สามารถบล็อกออร์เดอร์ จากแหล่งผลิตชั้นดีได้มากกว่า

"การแก้ปัญหาของสหกรณ์ฯได้จัดอบรม เรื่องระบบนิเวศให้สมาชิกอยู่เสมอ เพราะช่วง 10 กว่าวันแรกที่ปล่อยลงเลี้ยงลูกกุ้งต้องกินอาหารจากธรรมชาติ การอบรมในการเตรียมน้ำ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง การสร้างแร่ธาตุ เพื่อสร้างอาหารธรรมชาติให้ลูกกุ้งกินเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงนี้ลูกกุ้งที่ผลิตได้ค่อนข้างอ่อนแอ" นายบุญเลิศกล่าว

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งในปีนี้น่าจะมีมูลค่า 1 แสนล้านบาททรงตัว ใกล้เคียงกับปี 2556 โดยแยกเป็นมูลค่าในส่วนของกุ้ง 60,000 ล้านบาท ในส่วนปลา ปลาหมึก มูลค่า 30,000-40,000 ล้านบาท เพราะยังติดปัญหากุ้งตายด่วนไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันแก้ไขในปี 2558 น่าจะดีขึ้น แต่ไทยกำลังจะถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ในปี 2558 มีผลให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน ทางเอกชนหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อียู แต่ปัญหาภายในประเทศส่งผลไม่ให้สามารถเจรจาให้สำเร็จลุล่วงได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ สินค้าประมงถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็ก ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน พยายามเร่งแก้ไข

ด้าน นายผณิศวร ชำนาญเวช ที่ปรึกษาสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ราคากุ้งขนาด 100 ตัว/กก.จำหน่ายราคา 140 บาท

จากเดิมราคา 200-230 บาท เพราะหลังจากไทยมีปัญหาอีเอ็มเอสไม่มีสินค้า ทำให้ผู้นำเข้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตอื่น เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซียแทน ราคากุ้งใน 2 แหล่งนี้ปรับสูงขึ้น

"แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกนำเข้ากุ้งต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบ แต่นำเข้าได้เพียง 16,000 ตัน ยังไม่สามารถชดเชยปริมาณผลผลิตกุ้งที่เคยผลิตได้ปีละ 6 แสนตัน เหมือนเอาเนื้อหนูมาปะเนื้อช้าง ในอนาคตไม่เพียงจะสูญเสียตลาดให้คู่แข่ง แต่ยังมีโอกาสเสียตลาดให้สินค้าประมงชนิดอื่น เช่น ปลาแซลมอน และหากไทยถูกอียูตัดสิทธิจีเอสพี จะต้องเสียภาษี

นำเข้าเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 10% เช่น เดิมได้สิทธิจีเอสพีทำให้เสียภาษี 4% ตัดสิทธิจะต้องเสียภาษี 14% ผู้ส่งออกบางรายได้ขยายฐานการผลิตไปแหล่งผลิตกุ้งอื่น เช่น อินเดีย ส่วนผู้เลี้ยงปรับพฤติกรรมเลี้ยงกุ้งขนาดเล็กระยะแค่ 3 เดือน ก็เอามาขายกำไร 1% ดีกว่าเสี่ยงกับโรคกุ้งตายด่วนที่มีโอกาสตาย 50% ตอนนี้โรงงานจึงต้องลดการจ้างแรงงาน บางรายยอมจ่ายค่าจ้าง 75% ลดเวลาทำงาน หรือลดจำนวนพนักงานลงประมาณ 50% แล้ว"


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view