สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โคเนื้อราคาพุ่งไม่หยุดกิโลละ300 พ่อค้ากว้านซื้อส่งออกจีน/เวียดนาม

จากประชาชาติธุรกิจ

เนื้อโคชำแหละราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 300 บาท/กก. โคมีชีวิตตัวละ 3 หมื่น เหตุความต้องการบริโภคทะลัก โคเกิดใหม่ลดลงรวดเร็ว ขณะที่พ่อค้าต่างถิ่นแห่กว้านซื้อโคตามตลาดนัดภาคอีสาน นำไปขุนส่งออกเวียดนาม-จีน ด้านจังหวัดมหาสารคามสบช่องจัดโซนนิ่งเลี้ยงโคครบวงจร ตั้งเป้าพัฒนาโคเนื้อคุณภาพดีปีละ 20,000 ตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจังหวัดมหาสารคามว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาเนื้อโคชำแหละที่เปิดขายตามเขียงกิโลกรัมละ 130-150 บาท แต่ปัจจุบันราคาได้พุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท

ขณะที่ร้านจำหน่าย อาหารจากเนื้อโคก็ปรับราคาขึ้นจากเดิมจานละ 50 บาท เป็นจานละ 70-80 บาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรในภาคอีสาน เพราะเป็นภูมิภาคที่นิยมบริโภคเนื้อโคมากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น

จากการสอบถามพ่อค้าเขียงเนื้อโคชำแหละที่บริเวณริมถนนตรงข้ามห้างบิ๊กซี สาขามหาสารคาม ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ราคาโคมีชีวิตช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากเดิมราคาไม่เกินตัวละ 2 หมื่นบาท แต่ขณะนี้ราคาโคมีชีวิตอายุขนาดพอเหมาะนำมาเชือดพุ่งสูงขึ้นตัวละกว่า 3 หมื่นบาท และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เนื่องจากโคมีชีวิตตามตลาดนัดมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดนัดโค-กระบือ บ้านหัน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นตลาดนัดเอกชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน เปิดซื้อขายโค-กระบือมานานกว่า 20 ปี พบว่า ที่ผ่านมามีการซื้อขายโค-กระบือไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัวต่อตลาดนัดหนึ่งครั้ง มีเงินสะพัดประมาณ 10-20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาปริมาณโคที่นำมาขายในตลาดเริ่มลดลง ราคาโคก็ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันตลาดนัดบ้านหันมีการซื้อขายโคลดลง 200-300 ตัว แต่มีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไปเพราะราคาโคสูงขึ้น พ่อค้าโคเนื้อรายหนึ่งเปิดเผยว่า ปัจจุบันการซื้อขายในตลาดนัดแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะมีพ่อค้าโคจากภาคอื่น ๆ เข้ามาซื้อขายมากขึ้น อาทิ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี เป็นต้น

นายศักดิ์ชัย สีสวาท พ่อค้าโคจากจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า มีพ่อค้าหลายรายร่วมเดินทางมาด้วยกันเพื่อซื้อโคเนื้อ โดยใช้รถบรรทุกพ่วงขนโคกลับไปเที่ยวละเกือบ 40 ตัว ตอนนี้ราคาโคมีชีวิตไม่ต่ำกว่าตัวละ 3 หมื่นบาท จากเดิมราคา 1-2 หมื่นบาท หากนำไปเชือดจะขาดทุนแน่นอน จึงต้องนำไปเลี้ยงขุนต่ออีกประมาณ 4 เดือนก่อนที่จะส่งไปขายให้พ่อค้าจีนและเวียดนาม ซึ่งมีกำไรตัวละ 1 หมื่นบาทเศษ

"ช่วงนี้ตลาดเวียดนามและจีนมีเท่าไหร่รับซื้อหมด ทำให้ราคาโคเนื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปริมาณโคที่เข้ามาในตลาดลดลงเรื่อยๆ หากราคายังพุ่งสูงไม่หยุดจนทำให้ไม่มีกำไรก็อาจจะหยุดเดินทางมาซื้อโคที่ภาคอีสาน"

ด้านนายจำนง ปีเคาะ พ่อค้าโคชาวอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตนเป็นนายฮ้อย หรือพ่อค้าโคตระเวนหาซื้อโค-กระบือตามหมู่บ้านต่างๆ

เพื่อนำไปขาย ตามตลาดนัดหลายแห่งในภาคอีสาน อาทิ มหาสารคามเปิดตลาดวันพุธ, จังหวัดร้อยเอ็ดเปิดตลาดวันเสาร์, จังหวัดยโสธรเปิดตลาดวันอังคาร และที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่นเปิดตลาดวันอาทิตย์

ขณะนี้ราคาโคเนื้อที่ซื้อจากชาวบ้านสูงขึ้นเกือบเท่าตัวและหายากขึ้น ทำให้มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตัวละ 1-2 พันบาทเท่านั้น หากเป็นพ่อค้าจากภาคอีสานจะซื้อไปเชือดขาย แต่พ่อค้าจากภาคอื่นจะซื้อไปขุนต่อแล้วจึงส่งขายตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาโคพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามเปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาโคเนื้อที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้ เกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น จึงมีโครงการจัดโซนนิ่งเลี้ยงโคพันธุ์ดีป้อนตลาดอาเซียน ตั้งเป้าผลิตลูกโคปีละ 1 หมื่นตัว มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่มหาสารคามมีความเหมาะสมในการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด

"มหาสารคามมีโคเนื้อมากเป็นอันดับ 10 ของประเทศ เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีโคเนื้อมากถึง 2 แสนตัว แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 1 แสนตัวเศษ เนื่องจากมีการบริโภคสูงมาก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านมีการสั่งซื้อโคเนื้อจากมหาสารคามแต่ละปีจำนวนมาก ทำให้โคในพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อประมาณ 120,000 ตัว เกษตรกร 30,000 ครอบครัว ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์พื้นเมืองและบราห์มัน"

ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามได้ทำแผนเสนอไปทางจังหวัด เพื่อพัฒนาระบบการผลิตโคเนื้อแบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรเป้าหมายนำร่องใน 108 ตำบลทุกอำเภอ โดยจะเข้าไปปรับปรุงสายพันธุ์โคที่เลี้ยงอยู่เดิมให้มีคุณภาพมากขึ้น ตั้งเป้าพัฒนาโคเนื้อคุณภาพดีปีละ 20,000 ตัว คาดว่าจะทำให้มีลูกโคเนื้อคุณภาพดีเกิดปีละไม่ต่ำกว่า 8,000-10,000 ตัว รวมมูลค่าสัตว์มีชีวิตไม่น้อยกว่า 120-150 ล้านบาทต่อปี


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view