สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวแม่วงก์รุมค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ตั้งติดชุมชน-ลักไก่ประชาพิจารณ์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      นครสวรรค์ - ชาวบ้านรุมค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงก์ จวกประชาพิจารณ์มีเงื่อนงำ ถามชาวบ้านไม่ถึงร้อยหลังคา แถมสร้างห่างชุมชนแค่ 50 เมตร ขณะที่แกนนำฝ่ายหนุนยันทุกอย่างดีเลิศ ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศหมด ด้านผู้ว่าฯ แค่รับปากจะศึกษารายละเอียดก่อนดำเนินการตามขั้นตอน ไม่รับจะหยุดได้หรือไม่
       
       วันนี้ (24 เม.ย.) ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ของ ต.วังซ่าน อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ต่างรวมตัวกันที่ลานวัดวังซ่าน พร้อมถือป้ายร้องเรียนไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังก่อสร้างในเขตหมู่ 1 ต.วังซ่าน พร้อมทั้งจัดตัวแทนยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ รับเรื่องเพื่อนำเสนอต่อไปตามขั้นตอน ขอให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
       
       ชาวบ้านระบุว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีเงื่อนงำ มีการแอบทำประชาพิจารณ์ ประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่าพันหลังคาเรือนกลับทำประชาพิจารณ์กันเพียง 79 ครัวเรือน และมี 72 ครัวเรือนเห็นด้วย อีก 7 ครัวเรือนไม่เห็นด้วย แต่จู่ๆ กลับมีการลงมือก่อสร้างโดยโรงไฟฟ้า ห่างบ้านเรือนประชาชนเพียง 50 เมตร
ชาวแม่วงก์รุมค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ตั้งติดชุมชน-ลักไก่ประชาพิจารณ์
       นายสำเนา เนียมสุ่ม นายก อบต.วังซ่าน กล่าวว่า ผู้รับเหมาลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวบนพื้นที่ 70 ไร่ มาได้ 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นอยู่นอกเขตควบคุมอาคารของ อบต.จึงไม่สามารถไปตรวจสอบได้ และมีใบอนุญาตจากทางอุตสาหกรรมจังหวัดมาอย่างถูกต้อง แต่ที่ชาวบ้านกังวลก็คือเรื่องของมลภาวะที่จะเกิดขึ้นทั้งทางอากาศ น้ำ และเสียง ซึ่งจะส่งผลระยะยาวถึงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด
       
       นายสมยศ นิลเพชร กำนันตำบลวังซ่าน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าก่อสร้างติดกับบ้านเรือนประชาชน 15 หลังคาเรือน พื้นที่เขตติดต่อ 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านวังซ่าน หมู่ 7 บ้านวัด หมู่ 8 บ้านคลองม่วงใต้ หมู่ 9 บ้านวังป่าใหญ่ หมู่ 12 บ้านตะกรุด นับหลังคาเรือนโดยรวมที่จะมีผลกระทบโดยตรงกว่าพันหลังคาเรือนในรัศมี 1-5 กม.
       
       “ที่เขาเริ่มลงมือก่อสร้าง เพราะมีใบอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์”
ชาวแม่วงก์รุมค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ตั้งติดชุมชน-ลักไก่ประชาพิจารณ์
       นายสมยศบอกว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านการเกษตร ต่างก็กลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ใกล้เคียง อาจทำให้ไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรได้ ปัญหาอีกอย่างก็คือ เกรงว่าถนนจะได้รับความเสียหายจากการวิ่งของรถบรรทุกที่ขนส่งเชื้อวัตถุดิบ เข้า-ออกโรงไฟฟ้า เบื้องต้นตนเองทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายธวัชชัย นามสมุทร นายอำเภอแม่วงก์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
       
       ด้านนายบุญชู พรหมมารักษ์ หรือกำนันโต หนึ่งในแกนนำ ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างนี้เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแค่ 9 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้นการดำเนินการต่างๆ เพียงแค่ประชาชนในหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยเท่านั้น จึงได้ทำประชาพิจารณ์เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเพียง 79 ครัวเรือน และมีผู้เห็นด้วย 72 ครัวเรือน ไม่เห็นด้วย 7 ครัวเรือน หลังจากนั้นได้นำผลประชาพิจารณ์ไปติดประกาศที่อำเภอ กับที่ อบต.เป็นเวลา 15 วัน ตามกฎหมาย โดยไม่ได้มีการคัดค้าน
       
       นายบุญชูอ้างว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้สามารถสร้างติดกับบ้านเรือนประชาชน อาคารพาณิชย์ วัด โรงเรียนได้ในระยะ 50-100 เมตร และอุปกรณ์ทั้งหลายก็เป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เตาเผาจากเยอรมนี หม้อน้ำจากเยอรมนี ไดนาโมจากญี่ปุ่น ทุกอย่างทำอย่างดี ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่มีเสียงดัง ไม่มีฝุ่นควัน หรือเขม่า
ชาวแม่วงก์รุมค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ตั้งติดชุมชน-ลักไก่ประชาพิจารณ์
       โดยก่อนหน้าจะลงมือก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2551 ได้นำผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน ต.วังซ่าน ประชาชนไปศึกษาดูงานที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มาแล้ว และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามระเบียบ จนได้รับการอนุมัติในปี 2553
       
       นายบุญชูย้ำว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ ใช้เพียงฟางข้าว แกลบ เหง้ามันสำปะหลัง ไม้ยูคาลิปตัส ต้นกระถิน ซังข้าวโพด เพราะฉะนั้นไม่มีมลพิษแน่นอน
       
       ประโยชน์ที่จะได้ในพื้นที่คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำฟางข้าว ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง แกลบมาขายให้โรงไฟฟ้า ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
       
       ด้านนายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวกับชาวบ้านว่า เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่ตนเองจะย้ายมา ตนจะรับเรื่องให้ผู้เกี่ยวข้องศึกษาดูรายละเอียด เพราะว่าการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตนคงไม่มีสิทธิ์ไปห้าม ต้องดูว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร ต้องขอไปศึกษาในรายละเอียดก่อน และจะดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ทำให้ประชาชนพอใจในคำตอบจึงแยกย้ายกันไป

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view