สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดั๊มพ์ ส่งออกข้าว 10ล้านตัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เร่งระบายจ่ายหนี้ชาวนา-คาดราคาร่วงยาว3ปี ผู้ส่งออกชี้ราคาข้าวไทยถึงจุดต่ำสุด เตือนไม่ควรแข่งราคากับเวียดนามฉุดตลาดภายในทรุด

"สมพร" ชี้ไทยลุ้นส่งออกข้าวปี 57 เกิน 10 ล้านตัน เหตุรัฐเร่งระบายสต็อกหาเงินจ่ายหนี้ชาวนา เตรียมรับผลกระทบราคาร่วงระยะยาวจากการเร่งระบายอาจเห็นราคาต่ำ 3 ปี จนกว่ารัฐระบายข้าวในสต็อกเหลือแค่ 2 ล้านตัน แจงผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวไทยเสียตลาดต่างประเทศ 34.8% ราคาข้าวหดใกล้กับคู่แข่งเสียความน่าเชื่อถือเรื่องคุณภาพในตลาดโลก

การเร่งระบายข้าวของรัฐบาลเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ชาวนา แม้จะทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยในปี 2557 เพิ่มสูงขึ้น มีโอกาสสูงถึง 10 ล้านตัน แต่ในทางกลับกันการเร่งระบายสต็อกในขณะที่ผลผลิตยังคงทยอยออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคาร่วงลงอย่างหนักเช่นเดียวกัน

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ทวงแชมป์คืนจากอินเดียได้ เนื่องจากการเร่งระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เพื่อหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ประเมินไทยส่งออกพุ่ง 10 ล้านตัน

ขณะนี้รัฐบาลยังมีข้าวอยู่ในสต็อกในปริมาณใกล้เคียงกับ 18 ล้านตัน จึงต้องเร่งประมูลทั้งด้วยวิธีการเปิดประมูลข้าวทั่วไปและการเปิดประมูลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า(เอเฟด) โดยคาดว่าในปีนี้รัฐบาลจะหาทางระบายข้าวในสต็อกออกไปไม่น้อยกว่า 10 ล้านตันซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณ 10.67 ล้านตันในปี 2554 ก่อนที่จะมีโครงการรับจำนำข้าว หลังจากนั้นปริมาณการส่งออกข้าวก็ลดลงต่อเนื่องคือในปี 2555 ปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 6.95 ล้านตัน และในปี 2556 ลดลงเหลือ 6.61 ล้านตัน

“การหยุดโครงการรับจำนำข้าวนาในฤดูปรังปี 2557 ของภาครัฐจะส่งผลดี ต่อตลาดข้าวเปลือกเอกชน ทำให้ตลาดข้าวเปลือกเอกชน สามารถพลิกฟื้นได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่รัฐเป็นผู้สร้างอำนาจผูกขาดในตลาดข้าวเปลือก โดยดึงอุปทานข้าวเข้ามาควบคุมภายใต้โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในระดับราคาสูงในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา รวมทั้งการที่ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งระบายข้าวจากสต็อกให้กับตลาดเอกชน จะทำให้ตลาดส่งออกข้าวไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง”นายสมพรกล่าว

ราคาลงเหลือ 400 ดอลล์ต่อตัน

เขากล่าวว่า การเร่งระบายข้าวออกจากสต็อกของรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลขาดแคลนเงิน ที่จะจ่ายเป็นค่ารับจำนำข้าวให้กับชาวนา รวมทั้งการที่จะไม่มีโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลนาปรัง 2557 รองรับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาด จะทำให้ราคาข้าวลดต่ำลงโดยราคาข้าวสารเจ้า 5% ทั่วไปจะอยู่ในช่วงราคาประมาณ 11,000-12,000 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุนข้าวสารของรัฐอยู่ที่ 24,000 บาทต่อตัน โดยระดับราคาข้าวสารดังกล่าวได้ กดดันให้ระดับราคาข้าวเปลือกในระดับไร่นาลดต่ำลงตามไปด้วย

ส่วนราคาส่งออกข้าวของไทยก็จะปรับตัวลดลงจากช่วงราคาประมาณ 440-450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงปลายปี 2556 มาอยู่ในช่วงระหว่าง 400-420 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้

นอกจากนั้นยังคาดว่าราคาข้าวไทยจะอยู่ในช่วงขาลงไปอีกระยะหนึ่ง ยกเว้นว่าจะเกิดปัจจัยเรื่องภัยแล้งครั้งใหญ่ในปีนี้ที่อาจทำให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ สถานการณ์ราคาข้าวไทยจะยกระดับได้ดีขึ้นก็ต่อ เมื่อไทยระบายข้าวจนเหลือข้าวในสต็อกไม่เกิน 2 ล้านตัน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากการระบายข้าวที่อยู่ในสต็อกประมาณ 18 ล้านตัน ให้หมดไปไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในอดีตปีที่ส่งออกข้าวได้มากที่สุดไทยส่งออกได้เพียง 10 ล้านตันเท่านั้น แต่โอกาสที่เกิดขึ้นก็คือภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการส่งออกข้าวของไทยได้อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลเปิดประมูลข้าวให้กับเอกชนมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญกลับมาทำตลาดข้าวได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับในเรื่องของราคาข้าวที่จะปรับตัวลดลงในระยะยาวพอสมควร

ราคาภายในเหลือ 7 พันบาทต่อตัน

“ระดับราคาข้าวเปลือกในระดับไร่นาในขณะนี้ได้ปรับตัวลดต่ำมาอยู่ในช่วงประมาณตันละ 7,000-7,500 บาท ที่ระดับความชื้น 15% และหากความชื้นสูงมากขึ้นระดับราคาที่เกษตรกรขายได้ก็จะต่ำลงกว่านี้อีก ระดับราคาข้าวเปลือกที่ลดต่ำลงประมาณเกือบเท่าตัว จะทำให้ระดับราคาข้าวสารเจ้า 5% ส่งออกของไทยในตลาดเอกชนลดต่ำลงด้วย และจะทำให้ข้าวไทยกลับมาแข่งขันได้ในตลาดส่งออกอีกครั้งหนึ่งก็คือข้าวไทยจะต้องลงมาแข่งขันในระดับราคาขาลงของตลาดโลก”นายสมพรกล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของระดับราคาข้าวไทยในตลาดโลก ที่มีช่วงส่วนต่างของราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันที่แคบลงกว่าในอดีต โดยคาดว่าหากราคาข้าว 5% และ 25% ลดต่ำลงมาสู่ระดับราคาที่ใกล้เคียงกับคู่แข่งแล้ว ปริมาณการส่งออกของไทยอย่างน้อยก็จะปรับตัวสูงกว่าระดับการส่งออกของเวียดนาม

"การที่ไทยจะทวงแชมป์การส่งออกคืนจากอินเดียมองว่าสามารถทำได้หากรัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดอย่างเช่นในอดีตอีก แต่กลับมาใช้นโยบายพัฒนาและส่งเสริมกลไกตลาดข้าวให้มีประสิทธิภาพและจัดทำนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในมิติของการลดต้นทุนการผลิตเพิ่มความสามารถในการจัดการไร่น่าและเพิ่มการปลูกข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาดเฉพาะมากขึ้น"

อัดจำนำทำตลาดข้าวไทยพังยับ

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ตลาดข้าวสารส่งออกของไทยในช่วงปี 2555 - 2556 ที่ผ่านมา พบว่าโครงการรับจำนำข้าว ได้สร้างผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยและไม่สามารถยกระดับราคาข้าวไทย ให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างยั่งยืน เนื่องจาก ราคาข้าวสารส่งออกของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งอย่างเช่น อินเดียและเวียดนาม อย่างมาก ทำให้โอกาสในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐทำได้จำกัด โดยจะเห็นว่าหากเทียบข้าวสารเจ้า 5% ของไทยและเวียดนามนั้น มีความต่างระหว่างข้าวสารเจ้า 5% ของไทยและเวียดนามอยู่เพียง 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2554 นับจากปี 2555 เป็นต้นมา

ส่วนระดับราคาข้าวสารเจ้า 5% เฉลี่ย 6 เดือนของไทยแตกต่างจากราคาข้าวสารเจ้าชนิดเดียวกันของเวียดนามถึง 134 ดอลาร์สหรัฐต่อตัน และมีส่วนต่างสูงขึ้นเป็น 147 และ 184 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันใน 6 เดือนหลังของปี 2555 และ 6 เดือนแรกของปี 2556 ตามลำดับ

ในขณะเดียวกันตลาดการค้าข้าวโลกอยู่ในช่วงขาลง ทั้งนี้เพราะอินเดียเป็นผู้ระบายข้าวจากสต็อกและขายในราคาถูกเนื่องจากมีข้าวอยู่ในสต็อกจำนวนมากและมีผลทำให้เวียดนามปรับราคาลดลงตามอินเดีย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการสะสมข้าวในสต็อกจำนวนมากของเวียดนาม

สูยเสียตลาดแอฟริกา

ส่วนการส่งออกข้าวของไทยไปยังภูมิภาคแอฟริกาลดลง 23.20% และตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มของผู้บริโภคข้าวนึ่ง พบลดลง 5.44% ส่วนในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคข้าวไทยคุณภาพพิเศษ พบว่าได้มีการนำเข้าข้าวจากไทยลดลง 11.20% และ 41.94% ตามลำดับ สำหรับกลุ่มประเทศในโอเชียเนียซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และหมู่เกาะต่างๆ ก็มีปริมาณส่งออกลดลง ในภาพรวมแล้วการส่งออกของไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีจำนวนลดลงถึง 34.8%

สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2556 เมื่อเทียบกับปี 2555 พบว่าการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดเอเชียได้ฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย ส่วนการส่งออกข้าวไทยไปยังอาเซียนการส่งออกของไทยยังกลับลดต่ำลงไปอีก ส่วนการส่งออกไปในตลาดเอเชียตะวันออกได้ดีขึ้นบ้าง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และโอเชียเนียพบว่ายังลดลงต่อเนื่องจากการส่งออกในปี 2555 อีกทั้ง การส่งออกไปยังตลาดอเมริกาสถานการณ์ยังค่อนข้างจะทรงตัว

ผู้ส่งออกประเมิน 8.5 ล้านตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มีโอกาสที่ไทยส่งออกได้มากกว่า 8.5 ล้านตัน แต่จะถึง 10 ล้านตันหรือไม่ในปี2557 ขึ้นอยู่กับการระบายข้าวของเวียดนามเป็นหลัก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่เวียดนามจะขายข้าวดั๊มราคาลงไปอีก เห็นได้จากการเสนอขายฟิลิปปินส์ล็อตล่าสุดข้าว 15 % โค้ดราคาส่งถึงโกดังในฟิลิปปินส์ในราคา 440 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ไทยขายได้แค่ราคา 475 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น

"เวียดนามไม่มีรัฐบาลคอยซับซิดี้ ไม่มีเงินมากเหมือนรัฐบาลไทยที่จะซื้อเก็บสต็อกได้ ผลผลิตมากมีแรงกดดันต้องปล่อยออก ส่งสัญญาณดั๊มราคาสู้ตลอดเวลา ข้าวออกมาไม่มีที่เก็บ ช่วงที่ผ่านมาเริ่มสูญเสียตลาดให้ไทยในตลาดแอฟริกา จากการที่รัฐบาลไทยดั๊มราคาลงมาอย่างมาก เป็นแรงกดันดันให้เขาสู้ ขณะที่อินเดียเองสต็อกยังคงมีอยู่มากเช่นกัน"นายชูเกียรติระบุ

ไทยส่งออก 2.1 ล้านตัน-ราคารูด

เขากล่าวว่า ยอดการส่งออกของ 3 ประเทศผู้ผลิตหลัก ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา อินเดียส่งออก 2.5 ล้านตัน ไทย 2.1 ล้านตัน และเวียดนาม 1.4 ล้านตัน โดยไทยส่งออกได้เฉลี่ย 7-8 แสนตัน มีโอกาสที่จะขยับไป 1 ล้านตันต่อเดือนได้หากรัฐบาลดั๊มราคา แต่จะมีผลกระทบกับราคาภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้โค้ดราคา 385 ดอลลาร์ต่อตันเอฟโอบี ราคาข้าวไทยในประเทศเฉลี่ย 7 พันบาทต่อตัน หากลดราลงไปอีกก็จะส่งผลให้ราคาภายในต้องต่ำลงไปอีก ซึ่งชาวนาคงไม่สามารถรับราคาได้

"ราคาลงมา 7 พันชาวนาก็รับไม่ไหวแล้ว ซึ่งต้องวัดใจรัฐบาลรักษาการจะทุ่มตลาดแข่งราคาชาวนาอีกหรือไม่ ถ้าลดราคาเอฟโอบีลงมาเหลือ 350 ดอลล์ต่อตัน ราคาภายในคงไปอยู่ที่ 5 พันหรือ 5.5 พันบาทต่อตันเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุนของชาวนา เพราะมีโอกาสที่เวียดนามจะลดราคาตัวเองไป350 ดอลล์ต่อตัน แล้วรัฐบาลไทยจะลงไปแข่งหรือไม่ ซึ่งสถานะตอนนี้คิดว่าน่าจะเป็นราคาที่ต่ำสุดของข้าวไทยแล้ว ไม่ควรลดต่ำกว่านี้อีก"นายชูเกียรติ กล่าว

เชื่อราคาข้าวขาลงยาว 3 ปี

เขากล่าวว่า ด้วยปริมาณสต็อกของไทยที่แบกอยู่สูง น่าจะประมาณ 15-16 ล้านตัน เชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวอยู่ในภาวะขาลงนานอย่างน้อย 2-3 ปี เนื่องจากผู้ซื้อมองเห็นซัพพลายในตลาดโลกมีปริมาณมาก จึงซื้อเท่าที่จำเป็น จากเดิมที่ราคาลงทยอยไล่ซื้อ แต่ขณะนี้ไม่มีความจำเป็น

"ราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นได้บ้างถ้าปลายปีมีเหตุการณ์ภัยพิบัติในหลายประเทศ หรือ แล้งหนัก หนาวหนัก ซึ่งไม่มีใครพยากรณ์ได้ ทุกคนรู้รัฐบาลไทยมีสต็อกมากช่วยเก็บแทนประเทศอื่น ราคาจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าไทยจะลดสต็อกลงมาเหลือที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการน่าจะอยู่ที่ 2-3 ล้านตัน ซึ่งอาจหมายถึงต้องใช้เวลาไปอีก 2-3 ปี"นายชูเกียรติ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view