สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัลลภ พิชญ์พงศา นำ STC ฝ่าวิกฤตราคาข้าวขาลง

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

ผลพ่วงของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทยทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มนครหลวงค้าข้าว หรือ STC ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศไทยติดต่อกันมากว่า 10 สมัย ถึงกับเสียแชมป์ลงมาเป็นอันดับ 2 ถึงวันนี้ปัญหาต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย STC พร้อมจะทวงคืนตำแหน่งแชมป์หรือไม่ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "วัลลภ พิชญ์พงศา" รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มนครหลวงค้าข้าว จะมาไขปัญหาในอดีต และทิศทางการดำเนินนโยบายในอนาคต




- ปัจจัยบวก-ลบในธุรกิจข้าวปีนี้

หากย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนมีโครงการรับจำนำข้าวปี 2553 บริษัทเคยส่งออกได้ประมาณ 1.9-2 ล้านตัน ตอนนั้นเป็นเบอร์ 1 แต่หลังจากมีรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงเกินกว่าราคาตลาด ทำให้ยอดการส่งออกลดลง เพิ่งเริ่มปรับตัวดีขึ้นปี 2556 ส่งออกได้ 1.2 ล้านตัน มากกว่าปี 2555 ที่ส่งออกได้ 1.12 ล้านตัน

หลังจากโครงการรับจำนำจบไปแล้ว ราคาอยู่ในระดับที่ทำตลาดได้ กลไกตลาดทำงาน ภาพรวมของประเทศมีการส่งออกมากขึ้น ผู้ซื้อกลับมาซื้อ เราตั้งเป้าหมายรักษาสัดส่วนให้ได้ 19% ของยอดรวมส่งออกข้าวทั้งประเทศ แต่ไม่ง่ายขึ้นกับหลายปัจจัย แต่สิ่งที่พยายามทำ คือ ดึงตลาดเดิมกลับมา และเพิ่มมูลค่า ปีนี้ยังไม่หวังทวงอันดับหนึ่ง

ตอนนี้ยังมีปัจจัยลบเรื่องการแข่งขันระหว่างผู้ส่งออกไทยด้วยกันเองกับคู่แข่งในต่างประเทศ ที่มีการตัดราคา ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวปีนี้น่าจะดีขึ้น อย่างอิรักยอมให้เราร่วมประมูลแล้ว

- ผลกระทบจากการที่รัฐเร่งระบายสต๊อก


การที่รัฐบาลเร่งระบายข้าวออกมาเรื่อย ๆ เพื่อหาเงินคืนกระทรวงการคลัง และจ่ายชาวนา ข้าวออกมามาก ราคาต้องลง ทำให้ลูกค้าในต่างประเทศจะซื้อเท่าที่ใช้ และต้องส่งมอบเร็ว เพราะไม่มั่นใจเสถียรภาพราคาข้าว ไม่กล้าซื้อล่วงหน้า 2-3 เดือน ตอนนี้วางแผนการตลาดยาก

เราเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวของรัฐผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(เอเฟท)หลายหมื่นตัน รับมอบใน 3 เดือนข้างหน้า ไม่รู้ว่าราคาจะเป็นอย่างไร ส่วนการประมูลทั่วไปก็เข้าร่วม ราคาซื้อตามคุณภาพ ลอตที่ประมูลก่อนหน้านี้ขาดทุน เพราะราคาตลาดลง ขายออกไปไม่ทัน เราต้องบริหารความเสี่ยงด้านราคา บางครั้งที่ไม่มีสต๊อกก่อนก็ไม่ขาย หรือบางทีลูกค้าต้องการสินค้าทันทีก็มี

- สถานการณ์ราคาในตลาดต่างประเทศ

ตอนนี้ข้าวนึ่งไทยราคาใกล้เคียง หรือต่ำกว่าอินเดียด้วยซ้ำ ส่วนราคาข้าวขาวของเวียดนามห่างจากราคาข้าวไทยตันละ 10-15 เหรียญสหรัฐ จากเดิมไทยแพงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ ถ้าราคาข้าวไทยและเวียดนามห่างกันประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ สามารถแข่งขันได้แล้ว คิดว่าราคาจะหยุดลง เมื่อรัฐบาลหยุดขายข้าว หรือหยุดเมื่อใช้เงินชาวนาหมด

- แนวโน้มตลาดส่งออกข้าวปีนี้

เราส่งออกตลาดแอฟริกาเป็นตลาดหลัก ส่วนอเมริกา ยุโรป เอเชีย จีน ส่งออกบ้าง แต่ไม่มาก ส่วนอิรักและฟิลิปปินส์ ถ้ามีโอกาสจะร่วมประมูล อย่างไรก็ตาม ปีนี้นครหลวงค้าข้าวได้ไปเปิดตลาดใหม่ที่ประเทศบราซิล โดยก่อนหน้านี้จะซื้อข้าวขาว 100% จากอาร์เจนตินา อุรุกวัย แต่ตอนนี้ราคาข้าวไทยลงไปมาก บราซิลสนใจหันมาซื้อข้าวไทย

- สัดส่วนการส่งออกข้าวแต่ละชนิด

เราเน้นส่งออกข้าวนึ่ง ข้าวขาว สัดส่วนประมาณ 80-85% ส่วนข้าวหอมประมาณ 20% ส่วนตลาดปลายข้าว 2 ปีที่ผ่านมาขายน้อยมาก เพราะปลายข้าวส่วนใหญ่อยู่ในโกดังของรัฐบาล ราคาแพงด้วย ปีนี้กลับมาทำตลาด เนื่องจากจบโครงการ จีนสนใจซื้อปลายข้าวมากขึ้น แนวโน้มข้าวขาว ข้าวนึ่งน่าจะดี เพราะปัจจัยราคาแข่งขันได้ รัฐบาลมีการระบายข้าว

- รุกตลาดข้าวถุงในประเทศ

ปี 2556 ขายได้ประมาณ 45,000 ตัน ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 80,000 ตัน จะดันแบรนด์ข้าวถุง ตราไทไท ซึ่งมีทั้งข้าวธรรมดา ขายผ่านร้านค้าทั่วไป และข้าวตราไทไท ออร์แกนิกส์ ขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ข้าวตราไทไทมีฐานลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่แล้ว

ปีนี้จะขยายไปทำตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคกลาง รวมถึงปรับการบรรจุถุงให้มีหลากหลายขนาด เช่น 45 กก. 48 กก. 15 กก. และ 1 กก. เราพยายามศึกษาว่าคนไทยนิยมกินข้าวแบบไหน ก็ทำให้ตรงความต้องการ และเพิ่มการทำโปรโมชั่นด้วยการให้ส่วนลดกับร้านค้าส่ง

- แผนลงทุนใหม่

เราลงทุนซื้อโรงสีข้าวนึ่งขนาดกลางที่ชัยนาทเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กำลังผลิต 300-400 เกวียนต่อวัน ปีนี้ได้ลงทุนขยายโรงเก็บข้าวเปลือก และโรงอบความชื้นในพื้นที่เดิม ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อซื้อข้าวเปลือกมาเก็บ คงจะสร้างเสร็จในปีนี้

- นโยบายลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

เราไปตั้งโรงสีข้าวนึ่งในกัมพูชา ถือหุ้น 100% กำลังการผลิตเดือนละ 3,000 ตัน ส่งออกไปยุโรปได้สิทธิพิเศษจีเอสพี ไม่เสียภาษี และส่งไปรัสเซีย ราคาข้าวบวกภาษีส่งออกได้ แต่ต้นทุนค่าไฟสูงกว่าไทย ที่ผ่านมาราคาข้าวในกัมพูชาต่ำกว่าไทย แต่ตอนนี้ราคาข้าวไทยลดลงกว่าข้าวกัมพูชา นอกจากนี้ ได้ไปสำรวจตลาดเมียนมาร์ เพราะมีศักยภาพ มีกำลังซื้อสูง แต่ยังไม่มีแผนไปลงทุน เพราะปัญหาระบบสาธารณูปโภคไม่พร้อม

- ประโยชน์ที่ได้รับจากการรวม AEC

ผมว่าการค้าขายไม่เปลี่ยนไปเท่าไร ทุกประเทศปกป้องเกษตรกรภายในเหมือนเดิม เพราะข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว การซื้อขายข้าวไทยยังไม่เปิดเสรี มีโควตา ภาษีเป็น 0% แต่เป็นการเปิดโอกาสทำธุรกิจ หรือลงทุนร่วมกัน เช่น ไทย-กัมพูชาร่วมกันพัฒนาข้าว เพราะประเทศอื่นจะแซงเราก็ไม่ง่ายเท่าไร ปัจจัยพื้นฐานเอกชนไทยเข้มแข็ง แต่ที่แซงไปแล้ว เพราะเราทำตัวเอง

- ปรับแนวทางช่วยชาวนาแทนจำนำ

การจำนำไม่ได้ผิด แต่การจำนำทุกเมล็ดมากไป ตั้งราคาสูงเกินไป เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น โดยไม่สนใจเรื่องพันธุ์ข้าว โรงสี โกดังกลางลงทุนขยายกันมากขึ้น เพื่อรองรับจำนำ แต่พอหมดจำนำ ก็ไม่รู้จะทำอะไร ขนาดกระสอบป่านที่เหลือยังขายไม่ออก

กลับกลายเป็นโครงการทำร้ายชาวนา เพราะชาวนาตั้งใจจะทำวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ โรงสีข้าวชุมชน ข้าวอินทรีย์ ก็ล้มหมด เพราะสู้ราคาจำนำไม่ไหว พันธุ์ข้าวที่ดีก็ไม่มี ตอนนี้เชื่อว่าเกษตรกรส่วนหนึ่งได้เรียนรู้แล้วว่าโครงการอย่างนี้ไม่ยั่งยืน

สาเหตุเพราะการวางนโยบายขึ้นอยู่กับการเมืองไทย ซึ่งเปลี่ยนรัฐบาลที นโยบายเปลี่ยนไป บางปีไม่เน้นส่งออกมาก แต่เน้นขายข้าวพรีเมี่ยม แต่อีกปีก็เปลี่ยน ไม่มีการแจ้งบอกล่วงหน้า ต่างคนต่างทำ ทั้งโรงสี ชาวนา เอกชน ราชการ มองกันคนละแบบ ไม่เชื่อมโยงกัน

ถึงแม้จะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็กำหนดเฉพาะมาตรการระยะสั้น เช่น จำนำเท่าไร ภัยแล้งช่วยเท่าไร ไม่พูดถึงระยะยาวเลย เปรียบเทียบกับรัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายชัดเจนว่าเน้นผลิตให้พอกิน ไม่เน้นส่งออก และดำเนินนโยบายต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว เวียดนามมีนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม เป็นต้น

ดังนั้น อยากขอให้ภาครัฐปรับใหม่ ควรมีแผนยุทธศาสตร์ข้าวระยะยาวที่ชัดเจน ยึดถือตรงกันว่าข้าวจะไปทางนี้ การช่วยเหลือต้องตอบโจทย์ ทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง  พึ่งตัวเองได้ จะจัดตั้งกองทุน เพื่อนำเงินไปใช้พัฒนา ลดต้นทุนการผลิต ต้องพัฒนาสายพันธุ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าว เป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ให้ฟรี มันง่ายเกินไป ไม่เช่นนั้น ชาวนาจะอ่อนแอลง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view