สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลับมาอีกปัญหาทุเรียนอ่อน พ่อค้าโลภทำตลาดส่งออกพัง

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้ส่งออกเอือมปัญหาพ่อค้าคนกลางหลอกชาวสวนตัดทุเรียน อ่อนขาย ส่งผลกระทบต่อเนื่องราคาตลาดตก วอนภาครัฐจับตาแก้ปัญหาด่วน เผยกระทรวงเกษตรฯชงฟรุตบอร์ดเร่งแก้ปัญหาผลไม้ส่วนเกินล้นตลาดปลายเดือน เมษายนนี้

แหล่งข่าวผู้ผลิตผลไม้ส่งออกภาคตะวันออก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ทั้งทุเรียน มังคุด ออกสู่ตลาดหลายรุ่น โดยทุเรียนรุ่นแรกออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาส่งออกพันธุ์หมอนทองสูงถึง กก.ละ 100 บาท แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้คือ การตัดทุเรียนอ่อนของพ่อค้าที่ไปเหมาสวนหรือเจ้าของสวนออกมาขายทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศ การใช้น้ำยาเร่งให้ทุเรียนสุกเร็วขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกพันธุ์หมอนทองสูงถึง กก.ละ 75-80 บาท รวมทั้งกลัวพายุฤดูร้อนจึงรีบตัดทุเรียนไม้ได้คุณภาพออกมาขาย ซึ่งหากปัญหานี้ขยายตัว จะทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อมาบริโภคและทำให้ราคาร่วงถึง กก.ละ 50 บาทได้

ทางจังหวัดควรจะตั้งหน่วยงานมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งดึงบริษัทประกันภัยมารับประกันภัยธรรมชาติ อาทิ พายุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสวนทุเรียน เพราะจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดของประเทศ มิเช่นนั้น ผลกระทบอาจตกสู่เกษตรกรในที่สุดได้

สำหรับทุเรียนรุ่น 2 ของจังหวัดจันทบุรี จะเริ่มออกสู่ตลาดในวันที่ 10 เมษายนนี้ ภาพโดยรวมราคาในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา จากปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนตัวมากกว่า ความต้องการของตลาดต่างประเทศสูงกว่า อีกทั้งพ่อค้าหน้าใหม่ พ่อค้าที่ซื้อขายมังคุดหันมาซื้อขายทุเรียนมากขึ้นในช่วงที่มังคุดยังไม่ออกสู่ตลาดมากนัก

ส่วนมังคุดปีนี้ดอกออกค่อนข้างดก แต่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดหลายรุ่น โดยจะออกสู่ตลาดค่อนข้างมากตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ขนาดไซซ์ใหญ่ที่ซื้อขายในตลาดขณะนี้ตก กก.ละ 200 บาท ทั้งที่ผิวไม่เรียบ มีขี้กลากขึ้น ฉะนั้น หากปีนี้ไม่เป็นโรคเนื้อแก้ว ยางไหลมาก ราคาจะดีกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน ซึ่งปีที่ผ่านมา ผลผลิตช่วงต้นฤดูราคาดี แต่ราคาตกต่ำช่วงท้ายฤดู แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ผลผลิตทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด มีผลผลิตทั้งสิ้น 758,191 ตัน แยกเป็นทุเรียน 325,377 ตัน มังคุด 121,832 ตัน เงาะ 195,588 ตัน และลองกอง 60,975 ตัน แต่มีตลาดรองรับเพียง 703,772 ตัน จึงมีผลผลิตส่วนเกิน 54,419 ตัน ซึ่ง สศก.จะเสนอมาตรการแก้ปัญหาผลผลิตส่วนเกินเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) พิจารณาภายในปลายเดือนเมษายนนี้ว่า จะใช้มาตรการช่วยเหลือค่าขนส่ง ในการระบายผลผลิตออกจากพื้นที่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคอย่างไรบ้าง ก่อนที่ฟรุตบอร์ดจะเสนอของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view