สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ราคาข้าวร่วง งัดกม.บีบผู้ส่งออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กขช.ถกแผนแก้ราคา'ข้าวร่วง' งัดกม.บีบผู้ส่งออกสต็อก500ตัน

กขช.ถกแผนแก้ราคาข้าวร่วงหนัก 10 เม.ย. “พาณิชย์”เสนอแผนตรวจเข้มผู้ส่งออกต้องมีสต็อกไม่ต่ำกว่า 500 ตัน ตามกฎหมายก่อนอนุมัติต่อใบอนุญาตผู้ค้าข้าว ห่วงต้นทุนผลิตข้าวชาวนาพุ่งตันละ 6,000 บาท แต่ขายได้จริงไม่ถึง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าวันที่ 10 เม.ย.นี้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาตลาดข้าวภายในประเทศ และการช่วยเหลือเกษตรกร โดยกระทรวงพาณิชย์จะเสนอแผนการเข้มงวดสต็อกข้าวของผู้ส่งออกที่ต้องมีไว้ไม่ต่ำกว่า 500 ตัน ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะเน้นการตรวจสอบว่ามีสต็อกอยู่จริง และให้สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ผู้ส่งออกแต่ละรายจะต่อใบอนุญาตเป็นผู้ค้าข้าวซึ่งมีอายุครั้งละ 1 ปี ได้ภายใต้เงื่อนไขต้องมีสต็อกข้าวคงคลังไว้ไม่น้อยกว่า 500 ตัน การสต็อกข้าวของผู้ส่งออกจะช่วยดึงข้าวออกจากระบบมีผลให้ราคาในตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น

“ผู้ส่งออกจะไม่ต้องการสต็อกสินค้าไว้เพราะเป็นภาระต้นทุน แต่จากนี้ต้องเน้นการตรวจเข้มเรื่องนี้ให้มากขึ้น ในช่วงที่ภาวะราคาข้าวอ่อนไหวสามารถทำได้ทันที ภายใต้พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489” แหล่งข่าว ระบุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาประเด็นการชะลอระบายข้าวแบบขายตรง (ออร์เดอร์) และแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นนโยบายที่หลายประเทศใช้กัน โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีการอุดหนุนเงินค่าปุ๋ย โดยกำหนดจำนวนเงินในการอุดหนุนและให้เกษตรกรเป็นผู้จ่ายส่วนต่างสำหรับใช้ปุ๋ยแต่ละประเภท จีน ก็มีการอุดหนุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น อุดหนุนในการซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร และจ่ายเงินชดเชยค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนไต้หวัน รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าปุ๋ย ต้องนำเข้าในอัตรา 85% ทำให้ปุ๋ยมีราคาต่ำกว่าจีนและญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จะอุดหนุนผ่านบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเพื่อจำหน่ายปุ๋ยให้เกษตรกร ในราคาที่กำหนดเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 20,000 ตารางเมตร และเวียดนาม ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยโดยให้ผู้ผลิตและนำเข้าปุ๋ยกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำหากไทยจะใช้วิธีนี้ โดยอ้างอิง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2556 กำหนดเยียวยาให้ชาวนาตันละ 2,121 บาท ผ่านการช่วยค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย 50% ของราคา ก็จะทำให้ต้องใช้งบประมาณ 21.6 ล้านบาท สำหรับข้าว10.2 ล้านตัน

“เราอาจนำโครงการพยุงราคาข้าวมาใช้ไม่ได้ตอนนี้ ทั้งจำนำข้าว หรือประกันรายได้ จึงมองว่ามีวิธีใดที่พอจะใช้ได้ โดยนำวิธีของประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆมาพิจารณา แต่เท่าที่ดูน่าเป็นห่วง เพราะทุกวิธีต้องใช้เงิน ซึ่งจะติดปัญหาทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด”

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้ประเมินว่าต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ปี 2556 ของเกษตรกรอยู่ที่ไร่ละ 5,858.69 บาท แบ่งเป็น ต้นทุนผันแปรไร่ละ 4,731.04 บาท ประกอบด้วยค่าแรงงาน ไร่ละ 1,993.77 บาท ค่าปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,629.40 บาท ค่าดอกเบี้ยเงินลงทุน ไร่ละ 10.87 บาท ต้นทุนคงที่ ไร่ละ 1,127.65 บาท

สำหรับราคาตลาดปัจจุบัน ข้าวเปลือก 5% ช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 7,200 -7,700 บาท ลดลงจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ตันละ 7,500-8,900 บาท โดยราคาข้าวดังกล่าวเป็นอัตราความชื้น15% แต่ในทางปฏิบัติชาวนาจะมีความชื้น เฉลี่ย 30% ทำให้ราคาที่ชาวนาขายได้เฉลี่ยที่ตันละ 5,500-6,000 บาท

รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งว่า การส่งออกข้าวไทยปี 2557 กำหนดเป้าหมาย 8 ล้านตัน มูลค่า 4.8 พันล้านบาท โดยการส่งออกตั้งแต้วันที่ 1 ม.ค.- 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งออกไปแล้ว 1.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14% มูลค่า 2.75 หมื่นล้านบาท ลดลง 10%


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view