สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โจทย์ใหญ่ เอทานอล แนะรัฐอุดหนุนวัตถุดิบโมลาส-มันสำปะหลัง อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล

จากประชาชาติธุรกิจ

ตั้งแต่มีการนำเอทานอลมาผสมทดแทนน้ำมันเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันกว่า 12 ปีแล้วที่คนไทยได้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการใช้เอทานอลก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 1,000 ลิตร/วัน จนในปัจจุบันการใช้สูงถึง 2.7 ล้านลิตร/วัน ประเทศได้ประโยชน์จากการประหยัดเงินเพื่อนำเข้าน้ำมันได้กว่า 25,000 ล้านบาท/ปี รวมถึงประโยชน์ยังตกแก่ชาวไร่อ้อย และชาวไร่มันสำปะหลัง รวมทั้งผู้ผลิตเอทานอล เห็นได้จากราคาอ้อยปรับสูงขึ้นจากเดิมที่ 500-600 บาท/ตัน ขณะที่วันนี้ขึ้นไปสูงถึง 900-1,000 บาท/ตัน ส่วนมันสำปะหลังราคาก็ปรับขึ้นจากระดับ 1 บาท/กิโลกรัม ก็ขึ้นมาสูงราว 2.2-2.6 บาท/กิโลกรัม

ส่วนบริษัทน้ำมันค้าปลีกไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะกำไรจากการขายไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าการตลาดยังถูกควบคุมไม่ให้สูงเกินไปยกเว้นช่วงแรก ๆ ที่รัฐยอมให้มีค่าการตลาดสูงเพื่อจูงใจให้มาขายแก๊สโซฮอล์ ส่วนโรงกลั่นน้ำมันได้รับผลกระทบจากเอทานอล มีปริมาณน้ำมันเหลือในระบบจนต้องส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ทุกฝ่ายดูเหมือนจะยอมรับและอยู่กันได้อย่างมั่นคง และในช่วงที่ผ่านมาทุกรัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เอทานอลอย่างจริงจัง ทำให้มีแก๊สโซฮอล์ชนิดใหม่ E20 และ E85 เพิ่มขึ้นมาอีก ที่สำคัญมากคือการที่รัฐบาลปัจจุบันตัดสินใจยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ถือว่าส่งผลกระทบในเชิงบวก



การส่งเสริมการใช้เอทานอล ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลหันมาผลิตเอทานอลเพื่อเพิ่มรายได้ ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลผลิตจากกากน้ำตาลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลจากอ้อยประมาณ 2.17 ล้านลิตร/วัน กำลังผลิตจากมันสำปะหลัง 0.63 ล้านลิตร/วัน และผลิตได้ทั้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาลอีก 1.15 ล้านลิตร/วัน รวมทั้งหมด 3.95 ล้านลิตร/วัน คาดว่ากำลังผลิตจะเพิ่มสูงถึง 6.17 ล้านลิตร/วันได้ในปี 2559

โรงงานเอทานอลที่กำลังสร้างใหม่เกือบทั้งหมด ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ จะเห็นได้ว่ากำลังผลิตยังสูงกว่าความต้องการในปัจจุบันอยู่มาก ซึ่งรัฐมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้ขึ้นไปสูงสุดถึง 9 ล้านลิตร/วัน ซึ่งถือว่าสูงมากและทำได้ไม่ง่ายนัก รวมถึงต้องใช้เวลาอีกนานเพราะการใช้ระดับนี้จะส่งผลกระทบ "อย่างแรง" กับโรงกลั่นน้ำมัน โดยเฉพาะการทดแทนน้ำมันจำนวนมากจะส่งผลกระทบกับรายได้จำนวนมากของโรงกลั่นหายไป นอกจากกรณีที่ว่าปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลกระทบจะลดลง

ดูเหมือนว่านโยบายนี้จะไปได้ดีแต่การที่มีวัตถุดิบ 2 ชนิดใช้ในการผลิตเอทานอล ทำให้ราคาเอทานอลที่ผลิตจากวัตถุดิบทั้งสองชนิดมีราคาต่างกัน ราคาเอทานอลจากกากน้ำตาลมีราคา "สูงกว่า" ราคาน้ำมันเบนซิน ณ โรงกลั่นเล็กน้อย และต่ำกว่าราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 2-3 บาท/ลิตร ซึ่งการที่ถูกกว่าทำให้ผู้ค้าน้ำมันหันมาซื้อเอทานอลจากกากน้ำตาลเป็นหลัก เพราะต้องการให้ต้นทุนผลิตแก๊สโซฮอล์ "ต่ำสุด" ซึ่งแน่นอนจะส่งผลกระทบกับโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังไม่สามารถผลิตได้เท่าที่ควร ท้ายสุดก็จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่มันสำปะหลังราคามันจะตกลง

ภาครัฐได้เห็นปัญหานี้ และได้ดำเนินการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้ช่วยซื้อเอทานอลจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลังในสัดส่วน 62/38 ซึ่งมาจากปริมาณมันสำปะหลัง 1.6 ล้านตัน ที่รัฐบาลรับประกันราคานำมาผลิตเป็นเอทานอล และจากการขอความร่วมมือไม่ได้บังคับทำให้มีบางบริษัทเท่านั้นที่ให้ความร่วมมือ แต่การช่วยเหลือรัฐของผู้ค้าน้ำมันตามคำขอถ้าเป็นระยะสั้นคงไม่มีปัญหา



แต่ หากต้องดำเนินการระยะยาวราคาเอทานอลที่ต่างกันมากจะทำให้มีต้นทุนสูงกว่า ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ค้าน้ำมันบางบริษัทค่อย ๆ ลดการซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังลงมา โดยเฉพาะบางปีถ้าผลผลิตอ้อยดีมีกากน้ำตาลมาก เอทานอลจะมากตามมาด้วย ผู้ค้าน้ำมันก็จะหันมาซื้อเอทานอลจากกากน้ำตาลมากเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนจะกระทบกับผู้ผลิตจากมันสำปะหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันรัฐยังไม่มีทางออกเรื่องนี้ คงต้องมีการศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งอาจพิจารณาทางเลือกต่อไปนี้ในการศึกษาด้วย โดยมีเป้าหมายให้บริษัทน้ำมันช่วยกันซื้อเอทานอลจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลังตามสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นปี ๆ และสอดคล้องไปตามผลผลิตของอ้อยและมันสำปะหลัง รวมทั้งกำลังผลิตของโรงงานเอทานอลในขณะนั้น

ทางเลือกที่ 1) ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือ โดยกำหนดสเป็กน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทจากวัตถุดิบ 2 ชนิด กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง โดยที่รัฐจะกำหนดกองทุนน้ำมันของแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 ถ้าใช้เอทานอลจากกากน้ำตาลเก็บ 3.3 บาท/ลิตร จากมันสำปะหลังเก็บ 3.1 บาท/ลิตร (ต่างกัน 0.2 บาท/ลิตร มาจากราคาเอทานอลต่างกัน 2 บาท/ลิตร ผสม 10%) ผู้ค้าน้ำมันจะมีต้นทุนเท่ากันไม่ว่าจะซื้อเอทานอลจากกากน้ำตาลหรือมันสำปะหลัง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่สามารถซื้อในสัดส่วนที่รัฐกำหนด ในเชิงปฏิบัติอาจยุ่งยากบ้างทั้งรัฐและผู้ค้าน้ำมัน แต่สามารถทำได้ แต่ผู้ค้ามีอิสระในการเลือกซื้อ ดังนั้น ผู้ผลิตเอทานอลต้องแข่งขันในเชิงประสิทธิภาพ การให้บริการ สร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น

ทางเลือกที่ 2) ใช้สเป็กแก๊สโซฮอล์เป็นเครื่องมือ วิธีการนี้คือกำหนดสเป็กแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทให้มีการผสมเอทานอลทั้ง 2 ชนิด เช่น เอทานอลเบอร์ 1 (กากน้ำตาล) เอทานอลเบอร์ 2 (มันสำปะหลัง) ให้ใส่ตามสัดส่วนที่รัฐเห็นสมควร เช่น เบอร์ 1/เบอร์ 2 เป็น 62/38 วิธีการนี้จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายต้องซื้อเอทานอลทั้ง 2 ประเภทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในเชิงปฏิบัติรัฐสามารถควบคุมโดยระบบบัญชี เพราะเอทานอลทั้ง 2 ชนิดมีคุณสมบัติเหมือนกันสามารถปนกันและเก็บรวมกันได้

ความจำเป็นที่ ต้องรีบดำเนินการเพราะรัฐต้องช่วยเหลือทั้งชาวไร่อ้อยและชาวไร่มันสำปะหลัง ให้อยู่ได้การช่วยเหลือจากเอทานอลเป็นการช่วยเหลือโดยผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซ ฮอล์โดยตรง จากราคาเอทานอลที่แพงกว่าน้ำมันเบนซิน ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยแบกภาระอยู่ประมาณ 20-30 สตางค์/ลิตร ขณะที่ผู้ใช้น้ำมันดีเซลช่วยเหลือเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันผ่านไบโอดีเซลที่ แพงกว่าน้ำมันดีเซลปกติเช่นกัน และผสมอยู่ราว 3.5-5% โดยแบกภาระอยู่ 40-50 สตางค์/ลิตร โดยกระบวนการผ่านผู้ค้าน้ำมัน และมีรัฐเป็นผู้กำหนดทิศทาง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องรีบตัดสินใจกำหนดวิธีการต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อจะทำให้การใช้เอทานอลเติบโตอย่างมั่นคง ชาวไร่ทั้ง 2 ประเภทได้ประโยชน์ และได้ราคาผลผลิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง หากว่ารัฐไม่ทำอะไรปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาดจริง ๆ เอทานอลจากมันสำปะหลังจะไม่สามารถแข่งขันได้ นอกจากราคามันสำปะหลังต้องปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวไร่มันสำปะหลัง และโรงงานผลิตเอทานอล


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view