สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ในหลวง เสด็จฯ เขื่อนแก่งกระจาน ทรงติดตามผลดำเนินงานจัดการน้ำ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทรงติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำของโครงการ เขื่อนแก่งกระจาน โอกาสนี้ประทับแพขนานยนต์ไปทอดพระเนตรระดับน้ำของเขื่อน และความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า

“ในหลวง” เสด็จฯ เขื่อนแก่งกระจาน ทรงติดตามผลดำเนินงานจัดการน้ำ

       วันนี้ (3 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.15 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปเขื่อนแก่งกระจาน ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทรงติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำของโครงการ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนอเนกประสงค์ที่ยังประโยชน์ด้านภาคการเกษตรได้มากกว่า 3.3 แสนไร่ ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ปากอ่าวเพชรบุรีจนถึงหัวหิน และช่วยบรรเทาอุทกภัยในทุ่งเพชรบุรี
       
       นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ในโอกาสนี้ได้ประทับแพขนานยนต์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรระดับน้ำของ เขื่อนแก่งกระจาน และความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า การสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ทำให้เกิดเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร เก็บกักน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังการสร้างเขื่อนภูเขาหลายลูกจมอยู่ใต้น้ำเหลือเพียงยอดที่โผล่พ้นน้ำ กลายเป็นเกาะมากกว่า 30 เกาะ สำหรับเกาะที่แพขนานยนต์ที่ประทับวนรอบ คือ “เกาะในหลวง” เป็นเกาะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2516 ปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ และซ่อมแซมพลับพลาที่ประทับให้สวยงาม ดูแลสภาพป่าให้สมบูรณ์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ
       
       จากนั้นแพขนานยนต์ที่ประทับยังล่องผ่านเกาะราชบุรี เรื่อยไปจนถึงบริเวณสันเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่เขื่อนแก่งกระจานกว่า 2 ชม.จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 13.29 น.
       
       สำหรับเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขื่อนดินที่สร้างกั้นแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณเขาเจ้า และเขาไม้รวก บริเวณ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 58 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2509 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2509 เป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยคนไทยทั้งสิ้น ตั้งแต่การวางโครงการ สำรวจสภาพภูมิประเทศ ออกแบบรายละเอียด และก่อสร้างโครงการวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์ด้านการชลประทานบริเวณที่ ราบ จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังประโยชน์ด้านการประมง การคมนาคมทางน้ำ และพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2522
       
       ครั้งนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปเขื่อนแก่งกระจาน และมีพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษา อย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่าทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น” จากพระราชดำรัสดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี จึงประกาศให้พื้นที่ป่ากว่า 2,900 ไร่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีภูเขาสลับซับซ้อนสภาพป่าสมบูรณ์ มีน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น เลียงผา วัวแดง กระทิง นก และช้างป่าสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมแล้วที่จะจัดตั้งให้บริเวณนี้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไป ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view