สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลปค.สั่ง ขสมก. ห้ามนำรถควันดำวิ่ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาสั่งกรมควบคุมมลพิษ ดูแล ขสมก. ห้ามนำรถควันดำวิ่ง ให้รายงานผลต่อศาลทุก 3 เดือนในเวลา 1 ปีด้วย

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาสั่ง กรมควบคุมมลพิษ ดูแล ขสมก. ห้ามนำรถควันดำวิ่ง ให้รางยานผลต่อศาลทุก 3 เดือนในเวลา 1 ปีด้วย ขณะที่ “ ชาวบ้านใช้รถเมล์ - นายกสมาคมต้านโลกร้อน” ฟ้อง ผอ.ขสมก- รมว.คมนาคม กับพวกรวม 5 ราย ละเลยหน้าที่ไม่ดูแลรถเมล์สาย 8 ประมาทวิ่งรถเร็วก่ออุบัติหลายครั้ง ขอศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนสัมปทาน สร้างมาตรการห้ามรถเกิดอุบัติ- พนักงานขับรถที่ประมาท ขับรถเด็ดขาด

นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำพิพากษา ให้กรมควบคุมมลพิษ ( คพ.) ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กำหนดแผนปฏิบัติการกำกับดูแล ติดตาม ควบคุมเพื่อไม่ให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ปล่อยรถยนต์โดยสาร และรถร่วมบริการของเอกชนออกวิ่งโดยปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน และรายงานผลการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 พิจารณาดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศ กำหนดให้รถยนต์โดยสารของ ขสมก.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และรถร่วมบริการของเอกชนต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 68

โดยคดีนี้มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม , นายป๊อก แซ่เจีย , นายทวี ทองโต และ นางลัดดา ทีสานนท์ ประชาชนผู้ที่อาศัยในพื้นที่ กทม. และเขตปริมณฑล ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีที่ผู้ฟ้องทั้งสี่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่ ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการสั่งควบคุม กำกับดูแล และวางแผนเดินรถในสังกัด และไม่จัดระบบการเดินรถของเอกชนร่วมบริการ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยไร้มลพิษและควันดำ หรือไม่ให้เกินมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ซึ่งอธิบดีและรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ปี 2545 ว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดจากรถโดยสารประจำทางทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลสั่ง ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเพียงพอในการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการต่างๆ ไม่ให้รถสังกัด ขสมก. และ รถเอกชนร่วมบริการทุกบริษัทเกิดควันดำเกินมาตรฐาน และให้ คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเพียงพอ เกี่ยวกับการลดมลพิษทางอากาศและต้องดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการที่ คพ. กำหนด ภายในเวลา 60 วัน หรือตามที่ศาลปกครองกำหนด และให้แจ้งความคืบหน้าให้ผู้ฟ้อง รวมทั้งสาธารณชนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรทุก ๆ สัปดาห์

ขณะที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาว่า ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยปล่อยให้มีรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. หรือรถร่วมเอกชนที่ออกวิ่งโดยปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียเกินมาตรฐาน และกำหนดให้ ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะไม่ให้รถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และรถร่วมบริการ ก่อให้เกิดมลพิษจากท่อไอเสียเกินมาตรฐานอีก และให้รายงานผลตรวจวัดไอเสียของรถประจำทาง ขสมก.และรถร่วมบริการต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ส่วน คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ให้ยกฟ้อง ต่อมาผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้องยื่นอุทธรณ์

ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคำฟ้องและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย ซึ่ง ขสมก.เป็นหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการขนส่ง กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้เอกชน ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างประกอบการขนส่งบุคคล ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษทางอากาศ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตลอดจนไม่ควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ ต้องจัดให้รถโดยสารของ ขสมก. และรถร่วมบริการขิงเอกชนทุกคัน อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้ ซึ่งสภาพของรถต้องมั่นคงแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิด มลพิษ อุทธรณ์ของ ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 นั้น ศาลเห็นว่า เมื่อรถโดยสารของขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มาของมลพิษอย่างหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ว่า เมื่อเกิดกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสาร ขสมก.ปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียเกินมาตรฐาน กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้มีหนังสือประสานไปยัง ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆ ให้ควบคุมรถโดยสารที่สร่างความเดือดร้อนรำคาญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้นในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงมีอำนาจหน้าที่การกำกับ ดูแล ประสานงาน ติดตามประเมินผลเกี่ยวกับการฟื้นฟู คุ้มครองรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ศาลปกครองสูงสุด จึงพิพากษาแก้ เป็นว่า ให้กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กำหนดแผนปฏิบัติการกำกับดูแล ติดตาม ควบคุมเพื่อไม่ให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ปล่อยรถยนต์โดยสาร และรถร่วมบริการของเอกชนออกวิ่งโดยปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน และรายงานผลการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 พิจารณาดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศ กำหนดให้รถยนต์โดยสารของ ขสมก.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และรถร่วมบริการของเอกชนต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 68 นอกเหนือจากที่แก้ ให้เป้นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ขณะที่วันเดียวกันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 23 คน ซึ่งเป็นประชาชนพักอาศัยในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่ใช้บริการขนส่งมวลชน ได้ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการ ขสมก. , คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. , อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม , คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และ รมว.คมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 เรื่อง ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ปล่อยให้รถโดยสารของ ขสมก. และรถร่วมบริการ ก่อความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้สัญจรบนท้องถนน จากเหตุที่รถร่วมบริการเอกชน สาย 8 ที่วิ่งให้บริการเส้นทาง แฮปปี้แลนด์ - สะพานพุทธ ที่ได้รับสัมปทานจาก ขสมก. ได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกอบกิจการ หรือสัมปทานโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง นอกจากนี้บริษัทเอกชน 3 ราย ที่ได้รับสัมปทานการเดินรถเมล์ร้อน สาย 8 ก็ยังฝ่าฝืนเงื่อนไขการให้สัมปทานหลายครั้ง กรณีที่พนักงานรถร่วมมีพฤติการณ์ด่าและไล่ผู้โดยสารลงจากรถ การขับรถด้วยความเร็ว

ผู้ฟ้อง จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ผู้ถูกฟ้องเพิกถอนใบอนุญาต หรือใบประกอบการ หรือสัมปทานการเดินรถของรถร่วมบริการเอกชน สาย 8 ทั้งหมด , ให้ผู้ถูกฟ้อง กำหนดมาตรการติดตาม ตรวจสอบ ลงโทษ และเพิกถอนใบอนุญาต หือสัมปทาน รถ ขสมก. และรถร่วมบริการทั้งหมด ทุกประเภทที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมาย และการสัมปทาน และให้ติดตามตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัย มลพิษ-ควันดำทุก 3 เดือน ตลอดอายุการได้รับใบประกอบการสัมปทาน และให้ผู้ถูกฟ้องกำหนดมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ขับขี่รถโดยสาร ( พขร.) พนักงานเก็บค่าโดยสาร ( พกส.) ที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่เด็ดขาด กับผู้ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสร้างความเสียหายต่อผู้สัญจรบนถนน และห้ามขับขี่รถสาธารณะตลอดชีวิต รวมทั้งห้ามนำรถที่ประสบอุบัติเหตุ มาวิ่งโดยเด็ดขาดด้วย

ทั้งนี้ศาลปกครองกลาง รับคำฟ้องไว้เพื่อพิจารณาต่อไปว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือไม่ต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view