สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดึงเงินคงคลัง2หมื่นล. จ่ายหนี้จำนำชาวนา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รัฐดึงเงินคงคลังจ่ายเงินจำนำข้าว 2 หมื่นล้านแทนใช้งบกลาง หวั่นระบายข้าวคืนไม่ทันตามกำหนด 31 พ.ค. เผยอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 181

จับตา! รัฐดึงเงินคงคลังจ่ายเงินจำนำข้าว 2 หมื่นล้านแทนใช้งบกลาง หวั่นระบายข้าวคืนไม่ทันตามกำหนด 31 พ.ค. เผยอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ขณะคลังเร่งชี้แจงแบงก์ หวังออกพันธบัตรออมทรัพย์แสนล้านจ่ายหนี้ชาวนา ส่วนนายกฯยังไม่มั่นใจชี้แจงป.ป.ช.วันนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงการคลังมีการนำเงินคงคลัง 2 หมื่นล้าน จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่าก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้กระทรวงพาณิชย์ขอใช้งบกลางจากงบประมาณปี 2557 วงเงิน 2 หมื่นล้าน สำรองจ่ายไปก่อน

การยืมเงินจากงบกลาง 2 หมื่นล้าน หลังจากรัฐบาลพยายามหาเงินเพื่อมาจ่ายโครงการรับจำนำที่ค้างจ่ายกว่าแสนล้านบาท และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กตต.)กำหนดให้รัฐบาลต้องคืนในวันที่ 31 พ.ค. 2557 โดยให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวมาใช้คืน

"แต่พบว่าในความเป็นจริง ยังไม่ได้มีการนำเงินงบกลางไปใช้ มีเพียงสำนักงบประมาณตั้งสำรองวงเงินงบกลาง 2 หมื่นล้านบาท ในทางปฏิบัติกระทรวงการคลังได้ใช้ระเบียบเงินทดลองราชการ พ.ศ.2547 ด้วยการนำ เงินจาก พ.ร.บ.เงินคงคลัง ออกมาให้กระทรวงพาณิชย์"

แหล่งข่าวจากกล่าวจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ให้เงินผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ได้ทยอยจ่ายเงินค้างจ่ายโครงการรับจำนำข้าวไปแล้ว ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายชาวนาที่มีใบประทวนเข้าโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2556 หรือก่อนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556

" รัฐบาลไม่ได้ใช้งบกลางและสำนักงบเอง ก็แค่เตรียมตั้งกันสำรอง งบกลางไว้ 2 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 6.7 หมื่นล้านบาท ไว้ในกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถระบายขายข้าวได้ไม่ทันมาชดใช้คืนกระทรวงการคลังภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้เท่านั้น แต่เงินทดลองราชการที่นำไปใช้นี้ เป็นเงินที่กระทรวงการคลังถอนออกมาจากบัญชีเงินคงคลัง ซึ่งตาม พรบ.เงินคงคลัง กำหนดไว้ว่าต้องนำเงินกลับมาชดใช้คืนภายในไม่เกิน 1ปี หรือภายในงบประมาณปีถัดไป"

ชี้เปิดช่องใช้เงินคงคลังผิดหลักการ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตามระเบียบเงินทดลองราชการปกติ นั้น ส่วนราชการที่จะขอใช้เงินทดลองราชการได้จะต้องได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้อยู่แล้วแต่ไม่ได้รับงบประมาณทัน จึงให้ใช้เงินทดลองราชการไปก่อน หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณมาแล้วให้นำมาชดใช้คืนแก่กระทรวงการคลัง

นอกจากนั้นตาม มาตรา 14 นั่นคือ งบค่าจ้างหรือบุคลากร งบสวัสดิการรักษาพยาบาล ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และมาตรา 8 ทดลองราชการจ่ายกรณีพิเศษ และค่าใช้จ่ายกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง นอกหนือมาตรา 14 โดยอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการนำเงินทดลองมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว แต่ปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ

ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตว่า รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจอนุมัติให้ใช้เงินทดลองราชการนี้ได้หรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 โดยเฉพาะกรณีการนำเงินคงคลังมาใช้

" การนำเงินทดลองมาใช้น่าจะผิดระเบียบเงินทดลองราชการ เพราะผิดวัตถุประสงค์ และยังผิดหลักการรักษาวินัยการคลัง เพราะเป็นการเปิดช่องให้มีการนำเงินคงคลังออกมาใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล เพราะโครงการรับจำนำข้าวไม่เข้าข่ายการนำเงินนี้มาใช้"

คลังเดินสายฟื้นเชื่อมั่นขายบอนด์

ขณะที่ น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง กล่าวถึงแผนการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 ว่า ขณะนี้ สบน.ได้หารือกับนักลงทุนอยู่ตลอดถึงแผนในการกู้เงินและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งน่าจะมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของธ.ก.ส. แต่กำลังหารือว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือไม่

“การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของธ.ก.ส.นั้น เรากำลังดูว่า ตลาดเองมีความไม่สบายใจในส่วนใด ระหว่างการค้ำประกันหรือไม่ค้ำประกัน โดย สบน.มีความเห็นว่า ทาง ธ.ก.ส.ก็อาจจะมีความสามารถที่จะกู้ได้เอง และลูกค้าที่จะซื้อพันธบัตรของ ธ.ก.ส. ก็อาจจะสบายใจในการซื้อมากกว่าก็ได้ หากรัฐบาลไม่ค้ำประกัน ซึ่งก็ต้องดูตลาดเป็นหลัก และท่าทีของตลาดก็น่าจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น”น.ส.จุฬารัตน์กล่าว

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางสศค.ได้เข้าร่วมหารือกับสมาคมธนาคารไทยเกี่ยวกับความมั่นใจในการเข้าลงทุนกับรัฐบาล โดยเฉพาะในการลงทุนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าว ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีความมั่นใจว่า การให้กู้เงินสำหรับโครงการนี้ จะผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

ด้านแหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่าที่ประชุมได้หารือถึงแผนการออกพันธบัตร ธ.ก.ส.เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/2557 แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการออกหรือไม่ เนื่องจากมีการถกเถียงประเด็นของการที่จะให้กระทรวงคลังค้ำประกันหรือไม่

"คณะกรรมการที่มาจากฝั่งกระทรวงการคลังต้องการที่จะให้ ธ.ก.ส.ออกพันธบัตรด้วยตัวเอง ขณะที่กรรมการจาก ธ.ก.ส.เห็นว่าการดำเนินการออกพันธบ้ตรครั้งนี้จะต้องใช้เวลานานในเรื่องของการเตรียมการ เนื่องจาก ธ ก.ส.ยังไม่เคยออกพันธบัตรด้วยตัวเองมาก่อน และที่ผ่านมา มีกระทรวงการคลังค้ำประกันเท่านั้น"

พาณิชย์ร่วมประมูลขายข้าวให้ฟิลิปปินส์

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเข้าร่วมเสนอราคาประมูลข้าวสารที่ประเทศฟิลิปปินส์เปิดนำเข้าปริมาณ 8 แสนตัน ในวันที่ 15 เม.ย.นี้ ซึ่งการเปิดประมูลนำเข้าข้าวครั้งนี้ ทางฟิลิปปินส์ได้เปิดกว้างให้ทุกประเทศและทุกรายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลข้าวได้ ดังนั้นแม้ว่าขณะนี้ไทยจะยังไม่มีการลงนามบันทึกบันทึกความตกลงในการซื้อขายข้าวระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ (เอ็มโอเอ) สามารถเข้าร่วมประมูลได้

“ถือเป็นข่าวดีที่ฟิลิปปินส์ได้กำหนดเงื่อนไขที่เปิดกว้างสำหรับการประมูลนำเข้าข้าวครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐของไทยสามารถเข้าร่วมเสนอราคาแข่งขันได้ ส่วนเอ็มโอเอนั้น ยังอยู่ขั้นตอนในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ต้องการเปิดประมูลข้าว 8 แสนตัน เป็นข้าวขาว 25% โดยมีประเทศที่มีข้าวชนิดนี้ที่จะแข่งขันเสนอราคาขายกับไทยทั้งเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน โดยราคาข้าวขาว 25% (เอฟโอบี) ล่าสุด ไทย ราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามส่งออกตันละ 355 ดอลลาร์สหรัฐ อินเดียส่งออกตันละ 365 ดอลลร์สหรัฐ และปากีสถานส่งออกตันละ 355 ดอลลาร์สหรัฐ

นายกฯยังไม่ชัดชี้แจงปมจำนำข้าว

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีวันที่ 31 มี.ค.ที่จะต้องเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาต่อป.ป.ช. ในคดีทุจริตจำนำข้าวว่าจะเดินทางไปชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ต้องขอหารือกับทีมทนายก่อน

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำอีกว่าระยะเวลาค่อนข้างสั้น ขณะนี้ทนายความกำลังเตรียมข้อมูล ซึ่งตั้งแต่ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมา ทางเราได้ขอเวลา 15 วันเพื่อประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ในการขอข้อมูล แต่ก็ไม่ทัน จึงต้องขอขยายเวลาอีก 15 วัน เพื่อประสานความร่วมมือในการขอข้อมูล และทีมทนายได้ไปคัดสำเนาเอกสารเพิ่มเติมมาจากป.ป.ช. มาเพิ่ม 280 หน้า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา จึงมีเวลาเพียง 3 วัน รวมเสาร์-อาทิตย์

"ตามขั้นตอนของป.ป.ช. ไม่สามารถเลื่อนได้แล้ว ก็ต้องหารือกับทนายเพื่อดูแนวทางอื่น แต่หากถามว่าข้อมูลเสร็จหมดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังและหนักใจ เพราะระยะเวลาเพียง 15 วันเท่านั้นเอง ซึ่งในข้อเท็จจริงของการกล่าวหา ต้องศึกษาเอกสารในแต่ละประเด็นเพื่อตอบ"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view