สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค้าข้าวผันผวนหนัก หนึ่งตลาดสองราคา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ราคาข้าวทรุด ไร้เสถียรภาพหนัก เกิดภาวะ “สองราคาหนึ่งตลาด” ราคาข้าวเปลือกลดลงตันละเกือบ 1พันบาท รัฐบาลแบกสต็อกสูง 17 ล้านตันข้าวสาร

ผู้ส่งออกชี้ราคาข้าวทรุด ไร้เสถียรภาพหนัก เกิดภาวะ “สองราคาหนึ่งตลาด” เผยช่วง 1 เดือนราคาส่งออกร่วงแล้ว เกือบตันละ 50 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาข้าวเปลือกลดลงตันละเกือบ 1,000 บาท ระบุ รัฐบาลแบกสต็อกสูง 17 ล้านตันข้าวสาร ด้าน "กรมการค้าต่างประเทศ" คาดอังคารนี้ (25 มี.ค.) เอ็มโอเอข้าวฟิลิปปินส์เข้าครม. หวังทันร่วมประมูลจีทูจี 8 แสนตัน แข่งกับเวียดนาม

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาส่งออกข้าวยังลดต่ำลงต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญคือปริมาณสินค้ามีมากกว่าความต้องการ เนื่องจากรัฐบาลไทยกำลังเร่งระบายข้าวออกสู่ตลาด ในเงื่อนไขที่ต้องเร่งหาเงินคืนให้ชาวนาที่นำข้าวมาร่วมโครงการรับจำนำ ทำให้ผู้ซื้อในตลาดต้องระมัดระวังว่า ราคาอาจผันผวนในแนวต่ำทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้ปริมาณความต้องการลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ราคาข้าวในส่วนผู้ส่งออกจะกำหนดราคาขายต่างประเทศ ตามต้นทุนราคาที่ซื้อจากโรงสี แต่ในกรณีที่มีการระบายข้าวจากรัฐบาลในปัจจุบัน ทำให้มีการอ้างอิงราคาจากที่รัฐบาลกำหนดขายให้เอกชนแต่ละรายได้ ซึ่งพบว่ามีหลายกรอบราคา โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ตันละ 1.05 หมื่นบาท สำหรับข้าวสารขาว หรือคำนวณเป็นข้าวเปลือกจะเหลือตันละ 6,000 บาท ขณะที่ราคาตลาดทั่วไป ข้าวสารจะอยู่ที่ตันละ 1.15 หมื่นบาท หรือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,000 บาท ซึ่งการมีสองราคาในหนึ่งตลาด ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในตลาดข้าว ที่ทำให้สถานการณ์ราคาไร้เสถียรภาพในขณะนี้

“ผู้ส่งออกจะไปทุบราคา หรือทำอะไรกับราคาไม่ได้มากไปกว่าการรอว่า โรงสีจะขายข้าวให้เราเท่าไร และตลาดต่างประเทศ จะกล้าตัดสินใจซื้อข้าวของเราในราคานั้นๆ หรือไม่ เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่า ราคาข้าวยังไม่มีเสถียรภาพ ผันผวนต่อเนื่อง จากปัจจัยที่รัฐบาลระบายข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมากและปริมาณข้าวในตลาดทั่วไป จากผลผลิตนาปรังที่กำลังออกสู่ตลาด” นายเจริญกล่าว

ราคาเอฟโอบีร่วงตันละ 50 ดอลล์

รายงานข่าวจาก กระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ราคาส่งออกข้าวขาว (เอฟโอบี) ณ วันที่ 19 มี.ค. ตันละ 413 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาเมื่อ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีราคาที่ตันละ 463 ดอลลาร์ หรือ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวลดลงแล้วตันละ 50 ดอลลาร์ โดยเฉลี่ย ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ตันละ 7,200 บาท ณ วันที่ 21 มี.ค. ลดลงจากเมื่อ 21 ก.พ. ที่ตันละ 8,500 บาท หรือช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวในประเทศลดลงเฉลี่ยตันละ 1,000 บาท ส่วนราคาข้าวสารขาวภายในประเทศ ณ วันที่ 21 มี.ค. ตันละ 11,200 -11,400 บาท ลดลงจาก เมื่อ 21 ก.พ. ที่ตันละ 13,300 บาท

โรงสีเชื่อราคาข้าวถึงจุดต่ำสุด

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ส่งออกมีสองช่องทางในการหาซื้อข้าว เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าในต่างประเทศ หนึ่งคือการซื้อข้าวจากระบบปกติ คือ โรงสี และสองคือการซื้อข้าวจากรัฐบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกช่องทางใดและโดยทั่วไปจะต้องเลือกช่องทางที่มีราคาต่ำกว่า นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเมินว่าราคาข้าวในตลาดยังผันผวนและกำลังตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาข้าวขณะนี้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว หากราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยที่ตันละ 7,000 บาท ก็จะคำนวณเป็นราคาส่งออกข้าวที่ไม่เกินกว่าตันละ 400 ดอลลาร์ซึ่งเป็นเกณฑ์ราคาเดียวกับที่เวียดนามขาย ทำให้จากนี้ไป เชื่อว่าราคาข้าวของไทยจะไม่ทิ้งห่างจากคู่แข่ง

“ถ้าเราทวงตลาดข้าวเก่าๆ ของเราคืนมาได้ จากก่อนหน้านี้ที่เราส่งออกเฉลี่ยปีละ 8-9 ล้านตัน แต่ช่วงที่มีโครงการรับจำนำเราส่งออกแค่ 6 ล้านตัน จะเห็นว่า ตลาดข้าวเกือบ 3 ล้านตัน ที่ยังรอให้ไทยเข้าไปแข่งราคาและส่งออกให้ได้” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้ทิศทางผลผลิตข้าวนาปรังจะลดลงแต่เมื่อนำข้าวส่วนนี้ไปรวมกับข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่มีอยู่มากกว่า 10 ล้านตันข้าวสาร ก็ยังไม่ทำให้สถานการณ์ราคาดีขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาขณะนี้ยังมีความผันผวนต่อไป โดยทางออกที่ดีที่สุดคือการเร่งหาตลาดส่งออกข้าว

“คนที่จะเหนื่อยที่สุดก็คือชาวนา ต้นทุนอยู่ที่ตันละ 5,000-6,000 บาท แต่ขายข้าวได้แค่ตันละ 7,000 บาท สำหรับการทำงาน 3-4 เดือน และยังมีความรู้สึกเคยชินที่มีรายได้สูงเมื่อช่วงที่มีโครงการรับจำนำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

ชงเอ็มโอเอขายข้าวฟิลิปปินส์เข้าครม.

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังรอฝ่ายกฎหมายตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารบันทึกความเข้าใจในการซื้อขายข้าวระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ (เอ็มโอเอ) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในวันที่ 25 มี.ค. นี้ หลังจากที่ ครม.เห็นชอบ ไทยจะสามารถลงนามบันทึกเอ็มโอเอร่วมกับรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อที่รัฐบาลไทยใช้เป็นเอกสารประกอบการเข้าร่วมประมูลข้าวที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะเปิดนำเข้า 8 แสนตัน คาดว่าฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลนำเข้าข้าวภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนเม.ย.

“ตอนนี้ กำลังพยายามเร่งให้ส่งเข้าเสนอครม.ให้ทันวันอังคารนี้ (25 มี.ค.) ซึ่งก็ได้บอกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเอ็มโอเอนี้สำคัญ และไทยก็ต้องเข้าร่วมประมูลขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 8 แสนตัน เชื่อว่าน่าจะทัน” นายสุรศักดิ์ กล่าว

สำหรับกรอบบันทึกเอ็มโอเอระหว่างไทยและฟิลิปปินส์จะกำหนดการนำเข้าข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นข้าวชนิดใดก็ได้ โดยในเอ็มโอเอยังกำหนดให้รัฐบาลใหม่ของไทยสามารถทบทวนเอ็มโอเอดังกล่าวได้ด้วย

หวั่นเวียดนามเบียดชิงข้าวฟิลิปปินส์

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลซื้อข้าวเมื่อไหร่ เพราะยังไม่ได้แจ้งมา ซึ่งมองว่าหากเอ็มโอเอของไทยมีผลสมบูรณ์กับฟิลิปปินส์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าไทยจะสามารถชนะการประมูลข้าว 8 แสนตันนี้ได้ โดยข้าวที่ฟิลิปปินส์ต้องการนำเข้าคือข้าวขาว 25% ซึ่งมีคู่แข่งคือประเทศเวียดนามเข้าร่วมประมูล คาดว่าจะมีการแข่งขันเสนอราคาต่ำ เพื่อคว้าออเดอร์ข้าวครั้งนี้

“ขณะนี้ ข้าวขาว 25% ไทยและเวียดนามที่ขายราคาใกล้เคียงกันประมาณตันละ 350 ดอลลาร์ แต่เชื่อว่าในการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ ทางเวียดนามจะเสนอราคาต่ำ อาจจะเสนอราคาที่ตันละประมาณ 310-320 ดอลลาร์ ต้องดูว่าไทยจะหั่นราคาสู้หรือไม่” นายชูเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม ที่มีการซื้อข้าวตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสที่เวียดนามจะชนะการประมูลข้าวในรอบนี้ เพราะรู้ระเบียบขั้นตอนในการประมูลทุกอย่าง อีกทั้งเวียดนามเพิ่งเสียตลาดข้าวสำคัญให้กับไทยทั้งตลาดจีน แอฟริกา และ มาเลเซีย โดยมาเลเซียเมื่อปีที่ผ่านมานำเข้าข้าวจากเวียดนามถึง 4 แสนตัน แต่ปีนี้ไม่มีการนำเข้า และหันมานำเข้าข้าวจากไทย เป็นแรงกดดันให้เวียดนาม ต้องคว้าการประมูลข้าวฟิลิปปินส์ในรอบนี้ เพื่อระบายผลผลิตข้าวที่กำลังทยอยออกมาอย่างมาในช่วงนี้

ยิ่งลักษณ์ระบายข้าว16ล้านตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 ถึง 28 ก.พ. 2557 รัฐบาลได้ระบายข้าวไปแล้วปริมาณ 16.59 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวในปีการผลิตเก่าประมาณ 2.05 ล้านตัน และข้าวในปีการผลิตใหม่ (ปี 2554/55 2555/56 และปี 2556/57) ประมาณ 14.54 ล้านตัน โดยได้ส่งเงินคืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มูลค่า 2.13 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากการระบายข้าวในปีการผลิตเก่าประมาณ 4.01 หมื่นล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวในปีการผลิตใหม่ประมาณ 1.73 แสนล้านบาท

ด้านแผนการส่งเงินคืนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.- มิ.ย.) คาดว่าจะสามารถส่งเงินคืนจากการระบายข้าวได้ประมาณ 4.5-4.8 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยประมาณเดือนละ 7,500-8,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2557 คาดว่าไทยจะส่งออกได้ 8-8.5 ล้านตัน มูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 มี.ค. 2557 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 1.32 ล้านตัน ลดลง 22.53% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่า 575 ล้านดอลลาร์ ลดลง 44.03% ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 437 ดอลลาร์ (รวมข้าวหอมมะลิ) ลดลง 38.53%

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) สรุปปริมาณข้าวสารคงเหลือในคลังสินค้ากลาง (ที่หักภาระผูกพันแล้ว) จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 - ปี 2556/57 ปริมาณรวม 16,724,783 ตัน แบ่งเป็นข้าวปี 2554/55 ปริมาณ 1,434,971 ตัน นาปรัง ปี 2555 ปริมาณ 4,371,703 ตัน ปี 2555/56 ปริมาณ 8,348,358 ตัน ปี 2556/57 ปริมาณ 2,569,749 ตัน (องค์การคลังสินค้า รายงาน ณ วันที่ 3 ก.พ. 2557 และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รายงาน ณ วันที่ 31 ม.ค. 2557)


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view