สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอ่วม ภัยแล้ง-จำนำฉุดยอดขาย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ยอดขายเมล็ดพันธุ์ทั้งปีนี้จะลดลง 40-50% ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอ่วม ภัยแล้ง-จำนำฉุดยอดขายร่วง

ไม่เพียงแต่เฉพาะชาวนาที่ยังมีปัญหาไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลยังคงติดค้างอยู่ร่วมแสนล้านบาท แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ขยายตัวได้ดีในช่วงโครงการจำนำ เริ่มมีปัญหาเช่นเดียวกัน หลังจากโครงการรับจำนำสะดุดลง ชาวนาขาดเงินในทุนในการผลิตรอบใหม่ พร้อมกับปัญหาภัยแล้งที่คุกคามอย่างหนัก ระยะสั้นทำให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมียอดขายลดลงถึง 90 %

นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว กล่าวว่า ปัญหาที่ชาวนากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง โครงการรับจำนำข้าวจ่ายเงินล่าช้า และราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันปรับตัวลดลง ส่งผลให้ชาวนาชะลอการเตรียมการเพาะปลูกข้าวนาปี 2557/58 โดยภัยแล้งที่รุนแรง ทางกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานคาดการณ์ว่าหน้าฝนปีนี้ ฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน ทำให้ชาวนาไม่มั่นใจและไม่กล้าเตรียมปัจจัยการผลิตเพื่อการทำนารอบใหม่

ในขณะที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวอย่างครบถ้วน ทำให้ชาวนาไม่มีเงินทุนสำหรับการทำนารอบใหม่ และ ราคาตลาดของข้าวเปลือกในปัจจุบันไม่จูงใจ ให้เกษตรกรเพาะปลูก เนื่องจากราคาต่ำลงจากโครงการรับจำนำอย่างมาก โดยล่าสุดราคาข้าวแห้ง หรือข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 14% โรงสีรับซื้ออยู่ในราคาอยู่ที่ตันละประมาณ 8,500 บาท จากราคาโครงการรับจำนำข้าวซึ่งอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท

ผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากชาวนา เริ่มส่งผลเป็นลูกโซ่มาถึงธุรกิจทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว สารเคมี เครื่องจักร และปุ๋ย โดยในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวยอดขายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 90% โดยจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้วันละประมาณ 3-4 ตันเท่านั้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จหน่ายได้วันละประมาณ 40 -50 ตัน เพราะเดือนมี.ค.ถือเป็นช่วงที่ชาวนาเริ่มตระเตรียมเมล็ดพันธุ์ เพื่อเริ่มปลูกข้าวนาปีรอบใหม่

ในส่วนผลกระทบโดยรวมของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งระบบ คาดว่า จะไม่รุนแรงเท่ากับที่ผู้ประกอบการเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเชื่อว่าชาวนาจะกลับมาซื้อเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อเริ่มต้นฤดูฝน และชาวนามั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอปลูกข้าวได้ ยอดขายจึงไม่น่าจะหายไปมากเท่ากับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

คาดว่ายอดขายของเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งอุตสาหกรรมในปีนี้ จะลดลงประมาณ 40-50% จากปริมาณการขายปกติปีละประมาณ 300,000 ตัน คาดว่ายอดขายเมล็ดพันธุ์ปีนี้จะลดลงไปประมาณ 150,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ผู้ประกอบการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องปรับตัวมาก เพราะกำลังซื้อจากชาวนาหายไปเยอะ มีหลายรายเริ่มนำเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ไปขายให้กับโรงสีในราคาข้าวเปลือกธรรมดายอมขาดทุน ทั้งๆที่ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่ที่ตันละประมาณ 17,000 บาท ต้องยอมนำมาขายในราคาตลาดข้าวเปลือกธรรมดาตันละประมาณ 8,500 บาท หรือขาดทุนประมาณ 1 เท่าตัว กลุ่มที่จะอยู่ไม่ได้ คือ ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใหม่ ที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมากลุ่มนี้ต้องขาดทุนมาก”

นายวิชัย พูนพิริยะทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจข้าวลูกผสมครบวงจร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปรับความคิดการผลิตข้าวทั้งระบบเสียใหม่ โดยควรเน้นให้ชาวนารู้จักต้นทุนของตัวเองให้ถ่องแท้ เพื่อให้การทำนาและการนำข้าวไปขายมีกำไร ภาครัฐไม่ควรเน้นการคำนวณต้นทุนต่อไร่ แต่ควรเน้นการคำนวณต้นทุนต่อกิโลกรัม เพราะเมื่อถึงเวลานำข้าวเปลือกไปขายที่โรงสีชาวนาจะได้รู้ทันทีว่า ราคาข้าวที่ตัวเองขายได้ ขาดทุนหรือมีกำไร

ทั้งนี้ ต้นทุนข้าวเปลือกของชาวนาไทย ที่จะทำให้ชาวนาอยู่ได้อย่างดี ต้องไม่เกินตันละ 5,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 5 บาท แต่การทำนาต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์ของชาวนาไทย ขณะนี้ใช้มากถึง 30 กิโลกรัมต่อไร่ เกินจากปกติที่ทางวิชาการคำนวณว่าใช้เพียง 12 กิโลกรัมต่อไร่ก็เพียงพอ ที่เหลือจึงเป็นความสิ้นเปลือง ทำให้ต้นทุนการทำนาสูง ปลูกข้าวไปแล้วก็ไม่มีกำไร

“ในฐานะที่เป็นเอกชนประกอบธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่สามารถดูแลชาวนาได้ทั่วประเทศ แต่พยายามทำความเข้าใจให้ชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ให้คุ้มค่า ต้นทุนการทำนาจะได้ไม่สูงเกินไป อย่างกลุ่มซี.พี ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวก็จะบรรจุถุงขนาด 15 กิโลกรัม ไม่ให้มากกว่านี้ พร้อมรับประกันอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จะสูงถึง 90% แม้ชาวนาจะเข้าใจว่ายิ่งหว่านเมล็ดพันธุ์เยอะจะยิ่งได้ข้าวมาก ซึ่งไม่ถูกต้อง”


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view