สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาโลกแตกของมหานคร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ


สร้าง ความตื่นตัวให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมากเลยทีเดียว สำหรับกรณีไฟไหม้บ่อขยะ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ในซอยแพรกษา 8 อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในย่านดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงเป็น จำนวนมาก

ลำพังเพียงแค่ควันไฟฝุ่นละอองจากขยะทั่ว ๆ ไปก็หนักหนาสาหัสและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจมากพออยู่แล้ว แต่งานนี้กลับพบว่ามีขยะอุตสาหกรรมที่ลักลอบนำมาทิ้งรวมในบ่อนี้ด้วยเป็น จำนวนมาก งานนี้ถึงขนาดว่า กรมควบคุมมลพิษ มีแนวคิดที่จะเสนอให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ เลยทีเดียว

ถึงวันนี้แม้ไฟไหม้จะทุเลาลงบ้าง เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้เป็นส่วนใหญ่ แต่เรื่องควันไฟ ควันพิษ ยังแก้ไม่ตก

และ คาดว่าจะสร้างปัญหากระทบเป็นลูกโซ่ตามมาหลายแง่มุม ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลและกำจัดขยะให้ถูกวิธี

หรือหากจะใช้คำว่า "ล้อมคอก" ก็คงไม่ผิดนัก

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า "ขยะ" นั้นเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับเมืองใหญ่มานานแล้ว ที่ไหนมีความเจริญ มีผู้คนมากมาย ปัญหาขยะก็จะเกิดตามมา และจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ไม่ต้องอื่นไกลครับ กรุงเทพมหานครของเรา ๆ ท่าน ๆนี่แหละ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของชุมชน และจำนวนประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้ว่ากันว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนแล้ว ปัจจุบันประเมินคร่าว ๆ ว่า ตัวเลขปริมาณขยะมูลฝอยของกรุงเทพฯ น่าจะทะลุ 1 หมื่นตัน/วันไปแล้ว อย่างน้อยที่สุดจากข้อมูลการเก็บขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่รวบรวมโดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุไว้ว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2548-2554 มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขเมื่อปี 2554 กรุงเทพฯมีปริมาณขยะถึง 9,126 ตัน/วัน

สอดคล้องกับรายงานของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่อง โดยเมื่อปี 2556 มีตัวเลขขยะมูลฝอยประมาณ 26.7 ล้านตัน และในจำนวนนี้มีการกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 7.2 ล้านตัน กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 6.9 ล้านตัน มีปริมาณขยะตกค้างในพื้นที่ 7.6 ล้านตัน และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 5 ล้านตัน

เช่นเดียวกับปริมาณขยะอันตราย ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 2.65 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งเป็นของเสียอันตรายจากชุมชน รวมถึงซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่ผ่านมาหลาย ๆ คนอาจจะรับรู้ว่า ปัญหาขยะนั้นเป็นปัญหาของเมืองขนาดใหญ่ทุกแห่ง นอกจากปริมาณขยะที่มีมากมายสูงเป็นภูเขาเลากาแล้ว ในความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่พบก็คือ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครอยากให้เอาภูเขาขยะมากองไว้ที่หน้าบ้านตัวเองสักราย ผู้บริหารเมืองจึงต้องผลักกองขยะไปอยู่ไกล ๆ และหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องใช้งบประมาณในการบริหารและจัดการที่สูงมาก รวมทั้งยังต้องใช้องค์ความรู้ ใช้โนว์ฮาวต่าง ๆ เพื่อจัดการกับขยะ อย่างกรณีของกรุงเทพมหานคร ในแต่ละปีก็ต้องใช้งบฯเป็นจำนวนหลายพันล้านบาทในการแก้ปัญหานี้

นอก จากขยะมูลฝอยที่เป็นปัญหาของเมืองใหญ่แล้ว เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากไอเสียรถยนต์ ปัญหาฝุ่นละอองที่สูงเกินค่ามาตรฐาน ปัญหามลพิษทางเสียง ฯลฯ ก็มีความหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน นี่ยังไม่รวมไปถึงความสะอาดของแม่น้ำ คลอง คู ทางระบายน้ำ ที่จะต้องบูรณาการอีกมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหากับกรุงเทพฯในวันนี้ กำลังค่อย ๆ คุกคามไปยังเมืองใหญ่ในภูมิภาคหลาย ๆ จังหวัดที่กำลังเติบใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น หาดใหญ่ หัวหิน พิษณุโลก ฯลฯ

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view